ชาวญี่ปุ่นมักจะมีของฝากเล็กๆน้อยๆถือติดไม้ติดมือมอบให้กันอยู่เรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นโอกาไหนๆ เช่น หากต้องเดินทางไปต่างถิ่นหรือแม้กระทั่งทริปเล็กๆ โดยทั่วไปก็จะนิยมซื้อของฝาก หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอมิยาเกะ”มาให้ โดยของฝากมีทั้งเป็นห่อคุกกี้น่ารักๆ ช็อกโกแลต ชาเขียว หรือของหวานญี่ปุ่นชนิดต่างๆ
ไม่เพียงแค่การซื้อของฝากจากการไปท่องเที่ยว แต่การมอบของขวัญให้แก่กันทได้เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกลงไปของคนญี่ปุ่น อย่างเช่น วันปีใหญ่ แต่งงาน คลอดบุตร ฯลฯ ซึ่ง”ชา”ถือว่าเป็นของขวัญที่นิยมมากๆเลยก็ว่าได้ การมอบชาเขียวให้กันนั้นก็จะแฝงความหมายที่แตกต่างตามวาระโอกาสที่ให้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความยินดี การทักทาย หรือแสดงความขอบคุณ เพราะ”ชา”เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นดื่มกันทุกวันอยู่แล้ว นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ให้ความรู้สึกถึงความมีคุณภาพ มีราคา ยิ่งส่งมอบให้กันเป็นชุด gift set หรือ ห่อด้วยผ้าฟุโรชิกิด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นเซ็ตชาที่ถูกใจผู้รับแน่นอน อีกเหตุผลที่นิยมให้ชาเป็นของขวัญ เพราะนอกจากนั้นยังเก็บรักษาได้นาน และมีขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ทานได้ทุกเพศทุกวัย ชายังแฝงความหมายที่ดีและเป็นมงคลที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ด้วย เช่น
- คำว่า ฉะเมียว (茶寿)ที่สะกดด้วยตัว茶ที่แปลว่า ชา อยู่ในคำนั้นด้วย ฉะเมียว ในความหมายคนญี่ปุ่น หมายถึง “การแสดงความยินดีฉลองอายุครบ 108 ปี” การมอบชาเป็นของขวัญจึงถือเป็นการอวยพรขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาว
- ในงานแต่งงานของคนญี่ปุ่นบางพื้นที่ ได้แก่ ภูมิภาคคิวชู รวมถึง จังหวัดนีกาตะและฟุคุชิมะ จะมีการมอบ “ชุดชา”เป็นของขวัญสำหรับงานหมั้น เพราะต้นชามีอายุยืนยาว หยั่งรากลึกลงในดิน ยากที่จะถอนแล้วนำไปปลูกใหม่อีกครั้ง แสดงถึง “การแต่งงานออกเรือนของเจ้าสาวเพียงครั้งเดียว และยึดมั่นในคู่ครองไปตลอดชีวิต”
- ในวันขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมการดื่มชาไดฟุคุฉะ (大福茶) เป็นชาที่ดื่มเพื่อขอให้ในปีนี้ปลอดภัยจากภัยพิบัติ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะที่เกียวโต สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนที่มีนักบวชเอาชาไปแจกให้ผู้ป่วยติดเชื้อดื่ม และอาการหายเป็นปกติ การรับประทานชุดอาหารโอเซจิ (おせち料理) ในวันขึ้นปีใหม่ พร้อมดื่มไดฟุคุฉะกับบ๊วยแห้งและสาหร่ายคอมบุ วัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน
- คำว่า เมเดไต (めでたい) ที่แปลว่า “น่ายินดี” ในภาษาญี่ปุ่น พ้องเสียงกับคำว่า เมเดไต (芽出たい) ที่แปลว่า “ต้องการแตกหน่อ(ของยอดชา)” ดังนั้นการมอบชาเป็นของขวัญจึงมีความเป็นสิริมงคลที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่า หมายถึง การแสดงความยินดีต่อผู้รับนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม บางตำรากล่าวว่ากชาเป็นเครื่องดื่มที่ญี่ปุ่นรับมาจากประเทศจีนพร้อมกับศาสนาพุทธ จึงให้ภาพพจน์ที่เกี่ยวข้องกับพิธีทางพุทธศาสนา ซี่งส่วนมากจะเป็นพิธีศพ จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะให้ชาเป็นของขวัญ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ความเชื่อนั้นก็ได้หายไป และยังมีความนิยมส่งชินชะ (新茶)ซึ่งเป็นชาแรกของฤดูที่ทำจากยอดอ่อนที่เก็บได้ครั้งแรก ให้เป็นของขวัญตามฤดูกาลมากขึ้น
นอกจากโอกาสมงคลต่างๆ ที่เราส่งมอบชากันเป็นของขวัญแล้ว ยังมีวัฒนธรรมการดื่มชาอื่นๆที่คนญี่ปุ่นจะดื่มกันอีก เช่น
- ซากุระยุ (桜湯)ที่ได้จากการชงน้ำร้อนกับกลีบดอกซากุระที่ปรุงรสด้วยเกลือ แทนชาเขียว นิยมดื่มในโอกาสมงคล คู่กับขนมฮิกาชิ เป็นขนมแห้ง ชิ้นเล็กมีลวดลายและสีสันงดงาม คล้ายขนมผิงบ้านเรา
- ในฤดูร้อนนิยมดื่มมุงิชะ (麦茶)ชาข้าวบาร์เลย์เย็นๆ คลายร้อน
- ถ้าใช้รับรองแขก จะนิยมเสิร์ฟเกียวกุโระ ( 玉露) หรือ เซ็นชะ ( 煎茶)คู่กับขนมวากาชิ
- แต่ในชีวิตประจำวันจะนิยมดื่มโฮจิฉะ ( ほうじ茶) บันชะ ( 番茶) เก็นไมฉะ ( 玄米茶) คู่กับขนมเซมเบ้
เลือกชาให้ถูกประเภท ถูกเทศกาล การส่งมอบของขวัญด้วยชา จะทำให้ผู้รับประทับใจมากยิ่งขึ้น
ที่มา
https://www.hibiki-an.com/index.php/cPath/26
https://www.ooigawachaen.co.jp/blog/2015/12/16/249
https://www.alfemminile.com/none/none-s4002149.html
บทความจาก : Fuwafuwa