
ชาเขียวถูกค้นพบโดยจักรพรรดิเสินหนง นักสมุนไพรที่ใส่ใจเรื่องความสะอาดและดื่มเฉพาะน้ำต้มสุก วันหนึ่งขณะเสินหนงพักอยู่ใต้ต้นชา ใบชาร่วงลงไปในน้ำที่เขากำลังต้ม เมื่อได้ลองดื่ม เขารู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า ชาเขียวได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ ชาวบ้านเริ่มปลูกชาและเพิ่มกลิ่นด้วยเครื่องเทศหรือดอกไม้ ชาในจีนทั้งหมดในตอนนั้นเป็นชาเขียว กระบวนการผลิตเริ่มจากการนึ่งและอบแห้ง แต่ชาเก็บรักษาได้ไม่นานและสูญเสียกลิ่นง่าย ในศตวรรษที่ 17 การค้ากับยุโรปนำมาสู่การพัฒนาชาโดยการหมักก่อนอบ จนเกิดเป็นชาอูหลงและชาดำนั่นเอง
การนำชาจากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นเริ่มขึ้นในช่วงต้นสมัยเฮอัน เมื่อญี่ปุ่นเริ่มมีการติดต่อทางศาสนาและวัฒนธรรมกับจีน นักบวชชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปศึกษาในจีนได้นำชาและความรู้ด้านสมุนไพรกลับมาด้วย โดยพระจากจังหวัดไอจิได้นำชาอัดแข็งและเมล็ดชาจำนวนหนึ่งเข้ามายังญี่ปุ่น เมื่อจักรพรรดิได้เสด็จเยี่ยมวัด พระได้ชงชาและนำมาถวาย เมื่อทรงดื่มก็ประทับใจในรสชาติ จึงมีพระราชโองการให้นำเมล็ดชาไปปลูกในสวนสมุนไพรภายในวัง ชาจึงเริ่มแพร่หลายในแถบเกียวโต แต่ยังคงเป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง
ต่อมาในช่วงตอนต้นสมัยคามาคุระ (Kamakura) นักบวชในพุทธศาสนาเซน ได้นำเมล็ดชามาจากจีนเป็นจำนวนมากพร้อมกับกรรมวิธีการผลิตชากลับมาด้วย วิธีการผลิตดังกล่าวนั่นก็คือ การนำใบชามาบดโดยครกหินที่ทำให้เกิดความร้อนน้อยที่สุด เพื่อรักษารสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ ออกมาเป็นผงละเอียดเหมือนแป้ง หรือที่เราเรียกว่า ผงมัทฉะนั่นเอง ซึ่งการทำผงมัทฉะใช้เวลานานกว่าจะได้ผงชาออกมาจำนวนหนึ่ง ราคาจึงสูงกว่าชาเขียวชนิดอื่นๆ และมีวิธีการชงที่ค่อนข้างพิเศษที่ต้องใช้แปรงชงชาในการตีตาให้ละลายก่อน
ในสมัยนั้นมีการส่งเสริมการเพาะปลูกชาเพื่อใช้เป็นสมุนไพรให้แพร่หลายมากขึ้น และมีประโยคหนึ่งในหนังสือที่ท่านได้เขียนไว้ว่า “ชาเป็นพื้นฐานทางจิตใจและเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ดีที่สุด ทำให้ชีวิตถูกเติมเต็มและมีความสมบูรณ์มากขึ้น”จากนั้นก็เริ่มมีการค้นคว้าสรรพคุณของชา ที่ช่วยดับกระหายได้ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และช่วยล้างพิษด้วยการขับสารพิษออกทางปัสสาวะอีกด้วย
สมัยที่โชกุน มินาโมโตะ ซาเนะโมโตะ ทนทุกข์ทรมานจากการดื่มสุราอย่างหนัก ได้ลองดื่มชาและอาการของโชกุนก็หายไปในที่สุด ต่อมา เหล่านักบวชจึงเริ่มมีการเดินทางเพื่อออกเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาไปทั่วญี่ปุ่น จากนั้นชาจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งพิธีกรรมบางอย่างและใช้เพื่อการรักษาโรค
ในสมัยมุโระมาจิ เริ่มมีพิธีชงชาในแบบฉบับดั้งเดิมของญี่ปุ่นแล้ว เรียกว่า Chanoyu และในยุคนี้การชงชาเริ่มมีการผสมผสานทางด้านความคิด จิตวิญญาณ และการสร้างสรรค์ศิลปะในแบบธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เริ่มมีการลงรายละเอียดในภาชนะที่ใช้ในพิธีชงชา รวมไปถึงการเสิร์ฟชาเขียวในร้านอาหารอีกด้วย ซึ่งการดื่มชาด้วยความเรียบง่ายและมีสมาธิในแบบของเซนจะช่วยให้จิตใจสามารถพัฒนา ขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ นักบวชจึงออกแบบห้องพิธีชงชาขนาดเล็ก เพื่อใช้สนับสนุนการชงชาตามอุดมคติของนิกายเซน
หลังจากนั้นจึงเริ่มมีพิธีชงชาตามแบบฉบับญี่ปุ่นเกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ แม้ว่าในสมัยยุคเอโดะ พิธีชงชาและการดื่มชาเริ่มมีการขยายวงกว้างลงมาถึงชนชั้นล่างมากขึ้น แต่เมื่อถึงการเก็บเกี่ยวชาที่ดีที่สุดในช่วงแรกของปีก็ต้องส่งมอบ ให้กับชนชั้นซามูไรก่อน ส่วนชาที่ชาวบ้านดื่มกันจะเป็นชาที่เก็บเกี่ยวในครั้งต่อมาคุณภาพก็จะด้อยลงมานั่นเอง จนช่วงหลังๆได้มีการเผยแพร่และลดการแบ่งชนชั้นตามกาลเวลา ประเพณีชงชาจึงยังคงเป็นที่แพร่หลายสืบทอดต่อกันมาถึงทุกวันนี้ เพราะประเพณีชงชานอกจากจะช่วยฝึกสมาธิแล้ว ยังช่วยให้จิตใจสงบ ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น โรงเรียนในญี่ปุ่นบางแห่งมีการสอนประเพณีชงชาให้เด็กญี่ปุ่นด้วย
ที่มา
http://fineartamerica.com/featured/oolong-tea-bud-jung-pang-wu.html
https://moyamatcha.com/en/moya-matcha/history-of-matcha/#
http://d.hatena.ne.jp/keibunsha2/20110508
https://www.pinterest.com/pin/339951471845392656/
https://www.flickr.com/photos/aligatorpics/6240407574/in/photostream/
http://japan-web-magazine.com/japanese-tea/japan-japanese-tea-ceremony0.html
https://traditional-japan.tumblr.com/image/153431720372
shorturl.at/brstQ
บทความจาก : Fuwafuwa