บทความทั้งหมด
สูตรขนมอบ
สูตรทั้งหมด
ผงมัทฉะ กับ 3 ท้อปปิ้งขนมญี่ปุ่นยอดนิยม
06 พ.ค. 21
“โยคัง วาราบิโมจิ ดังโงะโมจิ” ขนมญี่ปุ่น 3 ชนิดนี้ถือเป็นของหวานยอดฮิตที่เห็นได้ทั่วไปตามร้านขนมญี่ปุ่น บางร้านเสิร์ฟแบบเดี่ยวๆ หรือคู่กับชาเขียวร้อนๆ ในขณะที่บางร้านก็นำไปเป็นท็อปปิ้งบนพาร์เฟต์ ไอศกรีม หรือน้ำแข็งใส เพื่อเพิ่มกลิ่นอายและรสชาติของความเป็นญี่ปุ่นให้กับเมนูนั้นๆ
Matcha Yokan

ในปัจจุบัน ขนมทั้ง 3 ชนิดนี้ถูกปรับสูตรให้มีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งการนำเสนอในรูปแบบทันสมัย แต่ยังคงความเป็นวากาชิ ขนมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมไว้ ซึ่งมีหลากหลายไอเดียและวิธีทำขนมง่ายๆ ที่คนรักมัทฉะสามารถเอาไปปรับใช้ในร้านของตัวเองได้ค่ะ

 

เริ่มจาก “โยคัง”(羊羹) โยคังเป็นวุ้นถั่วแดงกวน ปกติจะมีรูปทรงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า สีน้ำตาลแดงจากถั่วรสชาติหวานจัด ส่วนใหญ่จะทานคู่กับชาเขียวร้อนในพิธีชงชารสชาติจะตัดกัน เดิมทีมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน เป็นขนมที่ทำด้วยเจลาตินจากเนื้อแกะ ในยุคคามาคุระมีนักบวชศาสนาพุทธนิกายเซน เป็นผู้นำขนมโยคังเข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่น แต่เนื่องจากศาสนาพุทธห้ามการฆ่าสัตว์ จึงมีการเปลี่ยนจากเจลาตินจากสัตว์ มาเป็นแป้ง ถั่วแดง และวุ้น และมีการใช้วุ้นเข้ามาผสมในภายหลัง จนกลายมาเป็นโยคังในปัจจุบัน

 

Matcha Yokan

 

โยคังเป็นวุ้นญี่ปุ่นซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลแดงโดยทำจากถั่วแดงกวน (Anko) ถ้าเป็นโยคังสีเขียวก็ทำจากชาเขียว ที่มีวิธีทำแสนง่าย

  • นำถั่วแดงบดเนื้อเนียน 225 กรัมและน้ำตาลทรายขาว 70 กรัมผสมลงในหม้อ นำไปต้มด้วยไฟกลาง คอยคนตลอดด้วยไม้พายเพื่อไม่ให้ไหม้
  • ต้มไปซักพัก แล้วลองลากไม้พายลงไปตรงกลางแล้วยังเหลือเป็นรอยลาก คือถั่วแดงไม่ไหลกลับมากลบรอยก็ถือว่าโอเค จากนั้นตักออกมาแผ่บนถาดเพื่อให้เย็นลง
  • ในหม้อต้มอีกใบผสมน้ำ 180 มล. + ผงชาเขียว 5 กรัม กับผงวุ้นหรือผงคันเทน 2 กรัม  ต้มจนเดือดแล้วจึงลดเป็นไฟเบา ต้มต่ออีก 2 นาทีแล้วจึงปิดไฟ
  • ผสมน้ำตาลทรายแดง  20 กรัม และ (2) ลงไปใน (3) ผสมจนเข้ากัน นำไปต้มจนเดือดแล้วจึงลดเป็นไฟเบา ต้มต่ออีก 2 นาที
  • เทใส่พิมพ์แล้วนำไปแช่เย็น 30 นาที เอาออกมาหั่นเสิร์ฟเป็นชิ้นๆ อาจเสิร์ฟคู่กับถั่วแดงเชื่อมด้านบน

 

คุณสมบัติอีกอย่างที่คาดไม่ถึงของขนมโยคัง คือ เก็บไว้ได้นาน อย่างเช่นมากถึง 5 ปี 6 เดือน เพื่อสามารถเก็บเป็นอาหารยามฉุกเฉินเวลามีเหตุภัยพิบัติธรรมชาติ นอกจากนี้ร่างกายยังดูดซึมสารอาหารได้ง่าย และเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติได้แม้ไม่ได้นำเข้าตู้เย็น

ส่วน” วาราบิโมจิชาเขียว “เป็นขนมญี่ปุ่นที่ทำด้วยแป้งจากต้นวาราบิ เนื้อแป้งหนึบ ๆ คล้ายกับแป้งโมจิ นิยมนำไปคลุกกับ คินาโกะ (Kinako) ซึ่งเป็นผงถั่วเหลืองได้กลิ่นหอม ๆ แบบถั่วคั่ว หรือทานคู่ซอสน้ำตาลทรายแดง เรียกว่า คุโรมิสึ (Kuromitsu) หรือโรยผงชาเขียว ก็เป็นขนมที่ได้รับความนิยมมากๆ ในช่วงหน้าร้อน ตามร้านคาเฟ่จะมีวาราบิโมจิเป็นท้อปปิ้งบนพาร์เฟต์ ไอศครีม วิธีทำก็ไม่ยากเลยค่ะ

 

Warabi Mochi

 

Warabi Mochi

 

วิธีการทำ

  • ผสมแป้งวาราบิโมจิเขียว100 กรัม นํ้าตาล 50 กรัม ผงมัทฉะ  1 ช้อนชา นํ้าเปล่า 500 มล. ในอ่างผสม
  • เอาหม้อใส่นํ้าต้มให้เดือด วางอ่างผสมลงไปด้านบน กวนไปเรื่อยๆ พอแป้งเริ่มสุก ก็ยกลงกวนต่อจนแป้งสุกและใสทั่ว เป็นเนื้อเดียวกัน โรยผงถั่วบนถาดหรือภาชนะที่จะใช้ใส่วาราบิโมจิ เสร็จแล้ววางในอ่างที่ใส่นํ้าแข็ง ทิ้งไว้ให้เย็นและเซ็ตตัว ประมาณ 20 นาที
  • เทออกมาหั่น สังเกตจากแป้ง แป้งจะนุ่ม ใส และไม่คงรูป หั่นแล้วไม่เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเป็นเพราะแป้งนุ่มมากๆ ทำเสร็จแล้วรีบทานให้หมด
  • หากใครอยากทานกับน้ำตาลคุโรมิทสึ ให้เอาน้ำตาลดำ หรือน้ำตาลทรายแดงบ้านเรา 50 กรัม ต้มละลายกับน้ำ 200 มล.  ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับความหวานที่ต้องการ เพียงเท่านี้ก็เหมือนได้ไปคาเฟ่ที่ญี่ปุ่นเลย

 

Warabi Mochi

 

ขนมตัวสุดท้าย “ดังโงะโมจิชาเขียว” เป็นขนมที่ทำจากแป้งโมจิ ปั้นเป็นก้อนกลมๆ รสชาติจะเค็มๆ แต่บางสูตรอาจเติมเต้าหู้ลงไปผสมด้วย จากนั้นนำไปนึ่งหรือต้มในน้ำเดือดจนสุก แล้วย่างบนเตาถ่าน ก่อนจะราดด้วยท็อปปิ้งหลากหลาย เช่น โชยุ มิโสะ ถั่วแดงกวน มันเทศหวาน งาดำบด หรือซอสชาเขียว ด้วยรสสัมผัสนุ่มหนุบหนับ จึงเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ ถึงแม้วิธีการเสิร์ฟจะมีการปรับเปลี่ยนไป แต่ดังโงะก็ยังคงเป็นขนมที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง เพราะสะท้อนถึงขนบธรรมเนียมและประเพณีญี่ปุ่นที่สืบทอดมาหลายร้อยปี ลองมาลงมือทำดังโงะแบบชาเขียวกันดีกว่า โดยสามารถผสมผงชาเขียวลงไปในแป้งเพื่อให้ได้แป้งสีเขียว หรือถ้าอยากทำเป็นลูกสีขาวธรรมดา ก็สามารถตกแต่งด้วยท็อปปิ้งและซอสต่างๆ ได้ค่ะ

 

 

Dango

 

Dango

 

วิธีการทำ

  • เริ่มจากผสมแป้งข้าวเหนียว 100 g. แป้งข้าวจ้าว 100 g. และน้ำตาล 2 ช้อนชา เข้าด้วยกัน
  • เติมน้ำ ⅔ ส่วน ในส่วนผสม ค่อยๆนวดจน เป็นเนื้อเนียน แล้วปั้นแป้งเป็นก้อนๆ เล็กใหญ่ตามต้องการ
  • ค่อยๆย่อนลงต้มในน้ำเดือด ประมาณ 1 นาที หรือจนตัวดังโงะลอยขึ้น จากนั้นตักขึ้นแล้วนำมาน็อคด้วยน้ำเย็นจัด
  • ปล่อยให้สะเด็ดน้ำแล้วนำมาเสียบไม้ แล้วนำไปย่าง ประมาณ 4 นาทีแล้วเอาขึ้น
  • ส่วนน้ำซอสหรือท้อปปิ้งที่ใช้ราดดังโงะ สามารถดัดแปลงได้ตั้งแต่ใช้ถั่วขาวผสมผงชาเขียว หรือราดด้วยซอสมิทาราชิ ที่ทำจากน้ำตาล 5 ช้อนโต๊ะ + ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ + มิริน 1 ช้อนโต๊ะ + น้ำเปล่า 5 ช้อนโต๊ะ + แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวจนเข้ากัน หรือจะทานคู่กับไอศรีมชาเขียวก็เป็นมื้ออร่อยของเด็กๆอย่างแน่นอน

 

ชอบบทความนี้ ?
โปรดแชร์ให้เพื่อนๆ