ร้านคาเฟ่ หรือ ร้านเครื่องดื่ม เป็นหนึ่งในธุรกิจในฝันของใครหลายคน เนื่องจากคิดว่าเป็นธุรกิจที่เปิดง่าย กำไรสูง แค่ทำเลดี ชงเครื่องดื่มอร่อย แต่งร้านให้สวยเก๋ ก็น่าจะไปรอด แต่รู้หรือไม่ว่า เปิดร้านเครื่องดื่มปัจจุบันนี้ ในตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการเปิดร้านก็ควรที่จะคิดคำนวนดีดี ก่อนที่จะเริ่มต้นกิจการนั้นๆ ดังนั้นก่อนที่จะเปิดร้าน หรือตัดสินใจใดๆ มาพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ก่อน ว่าคุณพลาดอะไรไปบ้าง
1.รู้จักสิ่งที่จะขายยังไม่ดีพอ ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย ไม่ว่าจะเป็นใบชา ผงชา แต่ละประเภท มีที่มาจากประเทศไหน ไร่ชานั้นปลูกชา ผ่านกรรมวิธีอะไรบ้าง หากเรามีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างมั่นใจว่าแบรนด์เรามีจุดแข็งที่อะไร อย่าลืมศึกษาทำการทดลองถึงชนิดของชา รสชาติ กลิ่น และคุณสมบัติว่าต่างกันยังไง ใช้น้ำอุณหภูมิเท่าไหร่ในการชง สื่อที่ใช้ในการนำเสนอลูกค้าถึงความต่างของชาที่ร้าน
เมนูชาเป็นเมนูที่ร้านไหนๆก็ทำได้ แต่ทำให้แตกต่างและได้รสชาติที่คงที่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องผ่านการฝึกฝน และเทคนิคเฉพาะตัว
2. แบรนด์ไม่ชัดเจน เกิดจากการเห็นแบรนด์อื่นทำแล้วดี เลยทำบ้าง โดยไม่ได้ศึกษาให้ถี่ถ้วนถึงปัจจัยแวดล้อม อย่างร้านชานมไข่มุกที่เปิดเยอะมากๆในช่วงนี้ ชื่อคล้ายกัน เมนูที่เหมือนๆกัน ต่างกันที่ราคา ไม่มีเอกลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองที่ชัดเจน จะทำให้ร้านประเภทนี้โดนกลืนได้ ก่อนเปิดร้านควรตอบให้ได้ว่า เพราะอะไรลูกค้าถึงต้องซื้อชาที่ร้านคุณ ไม่ซื้อของคู่แข่ง อาจจะเป็นเรื่องการบริการของพนักงานในร้าน เช่นมีการเสิร์ฟผ้าเย็นเช็ดมือก่อนเมื่อมาถึงที่ร้านเหมือนร้านอาหารญี่ปุ่น หรือจุดเล็กๆน้อยๆที่เราควรใส่ใจในรายละเอียด เพื่อเอามาเป็นจุดแข็งของที่ร้าน อย่างเช่นวิธีการนำเสนอการชงชาที่เคาน์เตอร์ อาจจะเป็นการดริปชา ชงด้วยกาน้ำแบบดั้งเดิม หรือชงด้วยฉะเซ็นตามแบบฉบับญี่ปุ่น หรือใช้การ shake หรือตีด้วยที่ตีฟองนมตามแบบคนที่เร่งรีบ
3. ลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป เพราะเจ้าของร้านยุคนี้ จะโฟกัสว่าร้านต้องสวย มีมุมที่เก๋ให้ถ่ายรูปลงโซเชียลได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้งบค่าตกแต่งร้านค่อนข้างสูงมาก จนบางครั้งอาจทำให้งบประมาณบานปลาย จริงๆ แล้วความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าลืมว่า ยิ่งคุณลงทุนมากเท่าไร ระยะเวลาคืนทุนก็นานขึ้นเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณมีงบประมาณจำกัด แต่ลงทุนในส่วนที่ไม่จำเป็นมากเกินไป จะกระทบกับจำนวนเงินทุนที่จะนำไปสร้างรายได้เข้าร้านได้ เพราะอย่าลืมว่านอกจากการตกแต่งแล้วยังมีรายจ่ายอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ชงชา วัตถุดิบดีๆ หรือค่าจ้างพนักงานที่มีประสิทธิภาพ การแบ่งสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมจึงต้องเริ่มทำตั้งแต่แรก หรือถ้าใครไม่มีไอเดียในการตกแต่ง ลองดูตามสไตล์ญี่ปุ่นที่เน้นความเรียบง่าย ดื่มชาในสวนสวยๆเงียบๆเรียบๆไม่ต้องตกแต่งหวือหวา เพิ่มบรรยากาศสไตล์ญี่ปุ่นด้วยนิตยสารภาพญี่ปุ่น ก็ทำให้เต็มอิ่มกับบรรยากาศในร้านได้
4.เลือกทำเลผิด ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หรือเลือกทำเลในย่านที่มีคู่แข่งเยอะมากๆ หรือกำลังจะมีคู่แข่งในอนาคต คู่แข่ง เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ยอดขายที่วางไว้ไม่ถึงเป้า อย่าลืมวิเคราะห์ว่า ละแวกนั้นมีกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่มากน้อยแค่ไหน มีกำลังซื้อหรือเปล่า เช่นย่านนั้นเป็นย่านโรงเรียน แต่ตั้งขายชาในราคาสูงเกินอาจจะไม่เหมาะ วิเคราะห์คู่แข่งแต่ละเจ้าตั้งราคาเท่าไร มีจุดอ่อน จุดแข็งอะไรบ้าง และกลับมามองตัวเองว่าเราสามารถเอาชนะพวกเขาได้อย่างไรบ้าง
5.ลืมคำนวนต้นทุนวัตถุดิบ waste และต้นทุนแฝงอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน อย่างเช่นที่ต้องระวังมากๆสำหรับใครที่ใช้ใบชานำเข้าจากญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ อย่าลืมคำนวนค่าขนส่ง ภาษีการซื้อใบชาตรงนี้ด้วย ว่าส่งวิธีไหนมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง วัตถุดิบบางตัวที่เสียง่าย หากซื้อมาใช้ไม่หมด อาจจะทำให้เกิด waste ได้โดยไม่รู้ตัว เช่น พวก นม น้ำแข็ง ครีม ไหนจะค่าสวัสดิการ ค่าอาหาร ค่า OT จิปาถะ นอกจากนี้ยังมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื่อมของอุปกรณ์ต่างๆ ค่าแก้ว ค่าทิชชู่ ฯลฯ ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณแล้ว กำไร 1 แก้ว จะเหลือกี่ %
6.ขาดประสบการณ์และความรู้ ต้องระวังตั้งแต่เรื่องบัญชีรายรับ รายจ่าย และการแบ่งเงินส่วนตัว กับเงินที่ร้านออกจากกัน เพื่อดูกำไรขาดทุน งบดุลต่างๆ การบริหารจัดการพนักงานรวมทั้งระบบการรับออเดอร์ การตัดสต๊อกวัตถุดิบต่างๆ ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ
ที่มา
https://www.pinterest.com/pin/491596115581630781/
https://www.morimatea.com/
บทความจาก : Fuwafuwa