
การดื่มชาเริ่มขึ้นในประเทศจีนกว่า 2,167 ปี ก่อนคริสตกาล ตามตำนานเล่าว่า จักรพรรดิเสินหนิงค้นพบการชงชาโดยบังเอิญ เมื่อกิ่งชาหล่นลงในหม้อน้ำต้ม พระองค์ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ชาจึงเริ่มเป็นที่นิยม นอกจากนี้ จักรพรรดิยังทดลองสมุนไพรกว่า 200 ชนิด และการดื่มชาก็แพร่หลายไปยังญี่ปุ่น อินเดีย และไทย
ในสมัยสุโขทัยช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน พบว่าได้มีการดื่มชากัน แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการนำเข้ามาอย่างไรและเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ แต่จากจดหมายของท่านลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ คนไทยนิยมดื่มชาจีนไม่ใส่น้ำตาล แต่บางตำราก็บอกว่าคนสมัยนั้นจะอมน้ำตาลกรวดก่อนดื่มชา การดื่มชาร้อนมักเป็นที่นิยมเฉพาะในจวนข้าราชการหรือถวายพระ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นชาสายพันธุ์ไหน แล้วมีปลูกที่ไทยหรือเป็นเพียงชาที่ทูตใช้ชงดื่มกันในราชสำนัก
หลักฐานชัดเจนเรื่องการปลูกชาในไทยเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป โดยเฉพาะที่อังกฤษ ซึ่งนิยมดื่มชาและกาแฟ ขณะเจริญสัมพันธไมตรี พระองค์ได้นำต้นกล้าชาซีลอนกลับมาปลูกที่ดอยสะเก็ด ซึ่งมีภูมิประเทศที่เหมาะกับการปลูกชา ชาซีลอนที่นำมานี้เดิมมีชื่อว่า “ชาอัสสัม” แต่เปลี่ยนชื่อเป็นชาซีลอนเมื่อถูกปลูกในศรีลังกา ปัจจุบันต้นชาร้อยปีที่ดอยสะเก็ดและดอยวาวียังคงมีอยู่
เมื่อเริ่มการเพาะปลูกใบชาอย่างจริงจังทางภาคเหนือของประเทศ ในช่วงที่ปลูกพืชผักชนิดอื่นแทนฝิ่น จึงเริ่มมีการคิดค้นสูตรชาไทย ซึ่งทำจากชาอัสสัม ให้มีรสเข้มข้นถูกปากคนไทยมากขึ้นจนเป็นชาไทย เครื่องดื่มขึ้นชื่อของไทยทุกวันนี้
สำหรับการปลูกชาในประเทศไทยเริ่มต้นจากภูเขาทางภาคเหนือ กระจายในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง และตาก โดยในปี พ.ศ. 2480 นายประสิทธิ์และนายประธาน พุ่มชูศรี ได้ก่อตั้งบริษัท ใบชาตราภูเขา จำกัด และสร้างโรงงานชาขนาดเล็กที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ รับซื้อใบชาสดจากชาวบ้าน แต่พบปัญหาคุณภาพต่ำและขาดความรู้ จึงได้นำผู้เชี่ยวชาญชาจากจีนมาถ่ายทอดความรู้ ในปี พ.ศ. 2482 สองพี่น้องเริ่มปลูกชาเองที่อำเภอเชียงดาว และขยายพื้นที่ปลูกที่อำเภอแม่แตง ภาครัฐจึงเริ่มนำพันธุ์ชาจากอินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่นมาทดลองปลูกเพื่อทำการค้นคว้าและวิจัยต่อไป
ในปี พ.ศ. 2508 การผลิตชาถูกส่งเสริมมากขึ้น โดยกรมป่าไม้ให้สัมปทานทำสวนชาจำนวน 2,000 ไร่ที่บ้านบางห้วยตาก ตำบลอินทขิน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เป็นชาฝรั่ง หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2530 บริษัทชาระมิงค์ได้ขยายสัมปทานสวนชาให้แก่บริษัทชาสยาม ซึ่งเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงปลูกสวนชาแบบใหม่ และรับซื้อใบชาสดจากเกษตรกรเพื่อนำมาผลิตชาฝรั่งแบรนด์ลิปตัน จนถึงปัจจุบัน
ส่วนชาเขียวนั้นแม้ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าเข้ามาในไทยช่วงสมัยไหน แต่มีการคาดการณ์ว่าเข้ามาในช่วงที่มีการทดลองปลูกที่ภาคเหนือ และเริ่มแพร่หลายชัดขึ้นในช่วงที่ไทยรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามา ซึ่งก่อนที่จะมีการรับวัฒนธรรมการดื่มชาแบบญี่ปุ่น คือแบบเป็นผงมัทฉะมาตีกับฉะเซนนั้น ชาเขียวในไทยมี 2 ประเภท
- ชาเขียวแบบญี่ปุ่น – แบบที่ไม่ต้องคั่วใบชา ชาเขียวมีสารอาหารพวกโปรตีน น้ำตาลเล็กน้อย และมีวิตามิน E สูง
- ชาเขียวแบบจีน – เป็นชาที่จะมีการคั่วด้วยกะทะร้อนนั่นเองค่ะ
หากย้อนกลับไป ชาเขียวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากจีนตั้งแต่ต้นสมัยเฮอัน ผ่านทางนักบวชญี่ปุ่นที่เดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับชาและสมุนไพรในจีน ชาเริ่มแพร่หลายเมื่อพระได้นำชาไปถวายองค์จักรพรรดิและได้รับการตอบรับอย่างดี จึงมีการปลูกชาที่สวนสมุนไพรในราชวัง โดยความนิยมในขณะนั้นอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง ในต้นสมัยคามาคุระ นักบวช Eisai ได้นำเมล็ดชาและวิธีการผลิตชาจากจีนกลับมา ส่งเสริมการเพาะปลูกชาเพื่อใช้เป็นสมุนไพร โดยชี้ให้เห็นว่า “ชาเป็นพื้นฐานทางจิตใจและเครื่องมือแพทย์ที่ดีที่สุด” การค้นคว้าสรรพคุณของชาเพิ่มขึ้นในช่วงนี้
สมัยมุโระมาจิเริ่มมีพิธีชงชาแบบดั้งเดิม นักบวช Shuko Murata ได้ปรับเปลี่ยนการดื่มชาให้เป็นไปตามแนวคิดเซน โดยมุ่งเน้นความเรียบง่ายและสมาธิ พร้อมออกแบบห้องพิธีชงชาเพื่อสนับสนุนอุดมคตินี ในยุคเมจิ การผลิตชาเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีการใช้เทคนิคและเครื่องจักรใหม่ๆ รวมถึงการส่งออกชาไปต่างประเทศ ชาเขียวเริ่มเป็นที่นิยมในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น และแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
ที่มา
http://photography.nationalgeographic.com
http://web2.mfu.ac.th/other/teainstitute/?p=291&lang=th
บทความจาก : Fuwafuwa