ชาเขียวเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวและการเตรียมใบชา ทุกขั้นตอนมีความพิถีพิถัน ซับซ้อนและฝังรากลึกลงไป ซึ่งชาเขียวที่เก็บเกี่ยวในญี่ปุ่นมีรสชาติและคุณค่าทางสารอาหารบางชนิดแตกต่างจากชาประเทศจีนและพื้นที่อื่น ๆ ของโลก และนี่คือ 10 สิ่งเกี่ยวกับชาเขียวญี่ปุ่นที่คุณ (อาจ) ไม่รู้
- การเก็บเกี่ยวครั้งแรกแห่งปี ใบชาจะมีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นที่ต้องการมากที่สุด การเก็บเกี่ยวครั้งแรก เริ่มในเดือนพฤษภาคมและกินเวลาหลายสัปดาห์จนถึงเดือนมิถุนายน การเก็บเกี่ยวนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตใบชาเขียวที่มีคุณภาพสูงสุดโดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตที่ช้าในช่วงเดือนที่หนาวเย็นทำให้ใบมีสารอาหารหนาแน่นส่งผลให้มีรสชาติดีขึ้น ใบไม้ที่เก็บในช่วงฤดูใบไม้ผลิจึงมีปริมาณแอล-ธีอะนีนมากถึงสามเท่าของปริมาณที่ผลิตในการเก็บเกี่ยวในภายหลัง ใบชาล็อตแรกนี้จึงมีรสหวานและรสละมุน
- การเก็บเกี่ยวครั้งที่สองของปีในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ช่วงที่อากาศร้อนมาก เพราะเป็นฤดูร้อนทำให้การเก็บเกี่ยวเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งใบชาช่วงนี้ก็จะเติบโตเร็วและมีคุณภาพต่ำลง รสขมมากขึ้น ทำให้ต้องใช้การบริหารจัดการทั้งพนักงานและการควบคุมการเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- KANREISHA CURTAIN หรือม่านสีดำที่นิยมใช้คลุมดิน สามารถเอามาใช้เพื่อปกป้องต้นชาจากแสงแดดได้โดยตรง ประมาณหนึ่งเดือนก่อนการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งต้นชาจะถูกปกคลุมด้วยม่านเพื่อจำกัดปริมาณแสงแดด ไม่ให้โดนต้นชาโดยตรง ซึ่งผ้าม่านที่ใช้ในญี่ปุ่นมี 2 ประเภท คือ การใช้ผ้าคลุมต้นไม้โดยตรงและการใช้แบบกันสาดเพื่อบังแสงแดด แต่ละไร่ชาจะมีการใช้ที่แตกต่างกันไป บางแห่งใช้ทั้ง 2 แบบเลย ต้นชาที่ถูกคลุมด้วยม่านดังกล่าว ก่อนการเก็บเกี่ยว จะช่วยให้ชาเกิดรสหวาน
- ใบชาทุกใบจะได้รับการคัดจากคนเก็บใบชาที่ผ่านการคัดอย่างพิถีพิถัน หากเทียบกันแล้วใบชาที่คัดด้วยเครื่องจะได้คุณภาพไม่สูงเท่าที่หยิบด้วยมือ ใบชาที่หยิบด้วยมือ รสชาติจะกลมกล่อมและมีกลิ่นหอมที่ละเอียดอ่อนกว่า ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดในการเลือกใบคือ เมื่อมีต้นอ่อนตั้งแต่สามถึงห้าต้นและใบมีขนาดที่เหมาะสมพอดี การเก็บเกี่ยวเร็วเกินไปหมายถึงผลผลิตที่น้อยลง การเก็บเกี่ยวช้าเกินไปส่งผลต่อคุณภาพของชา แม้แต่วันเดียวก็สามารถสร้างความแตกต่างและส่งผลให้ใบขมได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเลือกเก็บใบชาในเวลาที่เหมาะสม และต้องหยิบอย่างรวดเร็วทั้งหมดในคราวเดียว ดังนั้นคนงานแต่ละคนต้องใช้ประสบการณ์ในการถอนใบอย่างรวดเร็ว และประณีต
- จริงๆแล้วญี่ปุ่นผลิตชาได้น้อยกว่าประเทศอื่น แม้จะมีวัฒนธรรมชาเขียวที่เด่นชัด แต่ญี่ปุ่นสามารถผลิตชาเขียวเพียง 7% ของโลกเท่านั้น ส่วนใหญ่บริโภคในญี่ปุ่นและมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ คนญี่ปุ่นบริโภคชา 95% ของการผลิตชาทั้งหมดในประเทศ จึงมีเพียง 5% เท่านั้นที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ
- วิธีที่นิยมมากที่สุดในการเก็บใบชายังคงเป็นการใช้ตะกร้าไม้แบบดั้งเดิม แม้จะมีเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาใช้กันแพร่หลาย แต่ตะกร้าไม้แบบดั้งเดิมยังคงใช้เก็บชาอยู่
- ในฤดูใบไม้ร่วงคนงานไร่ชาจะเริ่มเตรียมฟาร์มสำหรับการเก็บเกี่ยวในปีหน้าแล้ว ต้นชาเขียวจะถูกตัดแต่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน การตัดแต่งกิ่งในขั้นตอนนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าต้นอ่อนของใบแก่จะไม่ปะปนและลดการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิของปีถัดไป การละเลยไม่ตัดแต่งกิ่งในเวลาที่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อต้นชาและอาจส่งผลให้ต้นชาไม่แข็งแรงก็เป็นได้ ดังนั้นช่วงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง จึงต้องเสริมสร้างดิน ปรับค่า pH ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- มีการท่องเที่ยวเพื่อการเก็บเกี่ยวชา Obubu เป็นภาษาเกียวโต เป็นคำเรียกชาเขียวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในชาที่แพงที่สุดในญี่ปุ่นโดยมีราคาประมาณ 14,000 เยนต่อกิโลกรัม เป็นเวลากว่า 800 ปีที่ฟาร์มในจังหวัดเกียวโตในชนบทได้เติบโตขึ้นและได้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยว หรือบุคคลทั่วไปสามารถช่วยเข้าไปเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว โดยจะเริ่มต้นด้วยการเที่ยวชมฟาร์มยามเช้าและโอกาสในการเลือกใบชาของคุณเอง เจ้าหน้าที่จะแสดงวิธีเก็บใบชาและนักท่องเที่ยวจะได้รับตะกร้าไม้แบบดั้งเดิม เพื่อเก็บใบชา ซึ่งใบชาที่เก็บมาก็สามารถนำไปส่งแปรรูป หรือส่งไปคั่วเพื่อให้พร้อมเสิร์ฟเป็นเครื่องดื่มชาจากใบที่คุณเก็บสำหรับถ้วยโอชารสเลิศ
- ต้นชาเขียวต้องการการดูแลเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว ฟางใบไม้แห้งและแกลบไม้ไผ่จะถูกปูไว้ข้างต้นไม้เพื่อช่วยให้ความอบอุ่นในช่วงเดือนที่หนาวเย็นและมีหิมะตก ทำหน้าที่เป็นปุ๋ยและช่วยให้ดินมีความชื้นในปริมาณที่เหมาะสม เพราะต้นไม้หลายชนิดมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคและตายในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นจึงต้องดูแลต้นชาอย่างดีเพื่อให้พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป
- การเก็บเกี่ยวในญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกับเทคนิคที่ใช้ในจีน เพราะญี่ปุ่นเลือกเก็บบางใบในช่วงเวลาต่างๆของปีในขณะที่จีนมักจะรวบรวมใบไม้ทั้งหมดในคราวเดียว
ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวใบชาเป็นงานที่ซับซ้อนซึ่งใช้เวลาตลอดทั้งปี ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย เกษตรกรในญี่ปุ่นทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อผลิตชาคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้ชาที่รสชาติดีที่สุด
ที่มา
บทความจาก : Fuwafuwa