ถุงชาอันตรายจริงหรือ…… ?

ชาที่เราซื้อตามซุปเปอร์เพื่อมาชงทานเองที่บ้าน มีทั้งแบบใบ ให้เรามาใส่ที่กรองชาเอง สำหรับคนที่ชื่นชอบการชงชาเองและมีเวลาในการพิถีพิถันดื่มด่ำกับการดื่มชา แต่ถ้าสายเร่งด่วน ขอสะดวกไว้ก่อนก็จะนิยมซื้อชาแบบที่แพ็คในถุงชา ที่จะมีเชือกยาวๆห้อยออกมาพร้อมติดแท็กโลโก้แบรนด์ เพียงแค่นำถุงชานั้นมาใส่น้ำร้อนแล้วก็ทิ้งไว้ ก็จะได้ดื่มด่ำกับชาอุ่นๆเข้มข้น

ถุงชา

แต่ช่วงหลังๆมาที่ทุกคนเริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงกับมีงานวิจัยออกมาเลยว่า ถุงชาพลาสติก 1 ใบ ปล่อยไมโครพลาสติก 11.6 พันล้านอนุภาค และปล่อยนาโนพลาสติกซึ่งขนาดเล็กจิ๋วยิ่งกว่า อีกจำนวน 3.1 พันล้านอนุภาค คิดรวมเป็นปริมาณละอองพลาสติกประมาณ 16 ไมโครกรัมต่อชา 1 แก้ว เป็นปริมาณที่สูงกว่าการปนเปื้อนพลาสติกในอาหารทุกชนิดที่เคยมีการรายงานก่อนหน้านี้ แม้จะยังไม่มีรายงานถึงผลของการกินไมโครพลาสติกเข้าไป แต่เพื่อสุขภาพที่ปลอดภัย และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ควรเริ่มจากการสังเกตง่ายๆว่าถุงชาแบบไหนที่ไม่ควรใช้

tea bag

ถุงชาพลาสติกที่มีเนื้อผ้าตาข่ายดูวาวๆ ส่วนใหญ่เป็นถุงทรงปิระมิดฐานสามเหลี่ยม เป็นถุงชาที่ไม่ควรใช้เลย ถ้าจำเป็นต้องใช้ถุงชาจริงๆ แนะนำให้เลือกแบบถุงสีขาวที่ดูคล้ายกระดาษ ซึ่งอาจจะหายากหน่อยในท้องตลาดบ้านเรา ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้ใช้การชงด้วยการกรองใบชาออกด้วยที่กรองแสตนเลสที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ หลายขนาดตามปริมาณใบชาที่ต้องการชง ล้างซ้ำใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ หรือถ้าใครยังเคยชินกับการชงชาโดยใช้ถุงชา แนะนำให้หาซื้อเฉพาะถุงชากระดาษ 100% ที่ไม่ฟอกขาว แล้วซื้อใบชาเป็นห่อใหญ่ๆมาตักใส่ถุงชาเองอีกวิธีคือถุงกรองชาชนิดผ้ากรองเศษใบชาเล็กๆ ได้ดีกว่าตะแกรงกรองสเตนเลส แถมยังล้างตะกอนใบชาออกง่าย และใช้ซ้ำได้นานหลายรอบเช่นกัน

ตะแกรงร่อนชา

อย่างไรก็ตามใครที่ใช้ถุงชากระดาษเสร็จแล้ว อย่าเพิ่งเอาไปทิ้งทันทีนะ เพราะมันยังมีประโยชน์มากกว่าที่คิด เช่น

  • ถุงชาที่ใช้แล้วรองก้นกระถาง โดยวางปิดไว้ที่รูระบายน้ำ จากนั้นก็ค่อยเทดินและปลูกต้นไม้ลงไป ถุงชาก็จะช่วยรักษาความชื้นและน้ำในดินเอาไว้ ไม่ให้ระบายออกมาเร็วเกินไป แถมยังเป็นการเพิ่มสารอาหารให้กับดินไปพร้อมกันด้วย
  • กลิ่นติดมือที่ใช้สบู่ล้างไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นกระเทียมหรือหัวหอมก็กำจัดไม่ยาก โดยนำถุงชามาถูมือให้ทั่ว ทั้งฝ่ามือและตามซอกนิ้ว จากนั้นก็ใช้สบู่ล้างมือตามปกติ เพียงแค่นี้กลิ่นเหม็นก็หายไปแล้ว
  • เอาถุงชาที่ใช้แล้วนำไปตากแห้ง แล้วใส่ทิ้งไว้ในรองเท้า 1 คืน ก็ไม่เหลือกลิ่นเหม็นจากรองเท้าให้กังวลอีกต่อไป
  • หย่อนถุงชาที่ใช้แล้ว 2-3 ถุงลงไปในอ่างจานล้างจานที่แช่จาน แล้วทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที ถุงชาก็จะช่วยดักจับคราบมันเอาไว้ แค่ล้างตามปกติ จานที่มีคราบมันมากๆก็จะกลับมาสะอาดวิ้ง
  • หยดน้ำมันหอมระเหยกลิ่นเปเปอร์มินต์ลงไป แล้ววางไว้ตามกล่อง ลิ้นชัก ตู้เก็บของ หรือบริเวณที่มักจะมีแมลงมาทำรัง ก็ช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์อันตราย เช่น มดหรือแมงมุม กลับมาอีก
  • แก้ปัญหาตาบวม เนื่องจากชามีสารแทนนินที่มีคุณสมบัติสามารถลดอาการบวมได้ ดังนั้น หลังจากที่เราใช้ถุงชาเสร็จแล้ว ควรนำถุงชาที่กำลังอุ่นๆ อยู่นั้นมาวางแปะลงบนเปลือกตาประมาณ 5-10 นาที อาการตาบวมก็จะค่อยๆ บรรเทาลงและหายไปได้
  • บรรเทาอาการแสบร้อนจากแสงแดด เพียงนำถุงชาไปแช่ตู้เย็นสักครู่เพื่อให้ความเย็น จากนั้นนำมาประคบลงบนผิวที่มีอาการแสบร้อน นอกจากผิวที่ได้รับความแสบร้อนจากแดดเผาแล้ว การที่ผิวของเราไปถูกความร้อนอย่างอื่นมาก็สามารถใช้ถุงชาเย็นๆ มาประคบได้เช่นเดียวกัน

ที่มา

https://theherbalacademy.com/free-ebook-herbal-tea-throughout-the-seasons/

http://katescreativespace.com/2012/09/09/tea-with-a-twist/

https://www.sanook.com/women/79957/

บทความจาก : Fuwafuwa

ช้อนไม้ไผ่ Chashaku (茶杓) จำเป็นจริงหรอ?

ช้อนตักผงชามัทฉะ หรือที่เรียกว่า Chashaku (茶杓)มีที่มาจากในสมัยก่อนช่วงที่ชาเขียวจากจีนถูกนำเข้ามาสู่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นใช้ช้อนตักชาที่ทำจากงาช้าง นำเข้าจากประเทศจีน แต่พอเข้าสู่ช่วงหลังๆมา ช้อนตักชาที่ทำจากไม้ไผ่ปลายดัดก็เริ่มมีปรากฏให้เห็น โดยมีการคาดกันว่าผู้ที่คิดค้นรูปร่างฉะชะขุแบบในปัจจุบันขึ้นมา คือ มุราตะ จุโค ผู้พัฒนาพิธีชงชาแบบเซนเป็นคนแรก ซึ่งเหตุผลที่เลือกใช้ไม้ไผ่แทนงาช้าง เพราะว่า ต้องการให้ช้อนตักผงชานั้นมีความเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อหรูหราแบบงาช้าง เพราะนิกายเซน มีพื้นฐานแนวคิดอย่างเรียบง่ายมาจากศาสนาพุทธแบบเซนนั่นเอง

ChashakuChashaku

ลักษณะที่ดีของ Chashaku ส่วนมากจะทำจากไม้ไผ่ มีปลายช้อนกว้าง 1 ซม. เพื่อให้การตักผงชา 1 ครั้งได้ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ประมาณ 1 กรัม ซึ่งในพิธีชงชาจะใช้ชา 2 กรัม กล่าวคือ ตักชาด้วย Chashaku 2 รอบนั่นเองโดยไม่ต้องผ่านการใช้เครื่องชั่ง นอกจากนี้ตัวด้ามควรยาว 19 ซม. เป็นความยาวที่พอดีกับการใช้ในพิธีชงชาของญี่ปุ่น

ChashakuChashaku

การตักผงชาเขียวเพื่อชงชานั้น จริงๆสามารถใช้ช้อนสแตนเลส หรือช้อนประเภทอื่นได้เช่นกัน ไม่จำเป็นจะต้องใช้ Chashaku ก็ได้ แต่จะเห็นว่าหลายๆร้านคาเฟ่ และตามพิธีชงชาของญี่ปุ่นเอง จะนิยมใช้ Chashaku เพราะด้วยคุณสมบัติของไม้ไผ่ ที่เมื่อสัมผัสกับผงชาเขียวแล้ว จะทำให้รสชาติคงที่ และด้วยปริมาณชาที่ Chashaku สามารถตักได้ในแต่ละครั้งนั่นเอง นอกจากนี้ไม้ไผ่ของช้อน Chashaku ยังทำให้สรรพคุณสารอาหารต่างๆของชาเขียวคงเดิม ใช้งานง่ายด้วยการใช้ผ้าแห้ง หรือทิชชู่เช็ดบริเวณปลายช้อนให้แห้งก่อนเก็บเข้ากล่อง ไม่ควรล้างด้วยน้ำเปล่า และ Chashaku ยังทำให้รู้สึกถึงความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆนั่นเอง อย่างไรก็ตามช้อน Chashaku นี้มีไว้สำหรับการตักผงชาเท่านั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับตักใบชาประเภทอื่นๆ

Chashaku

แต่ในปัจจุบันนี้ช้อน Chashaku ได้มีการผลิตด้วยวัสดุอื่นเพิ่มมากขึ้นนอกจากไม้ไผ่ ตามกาลสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น แสตนเลส โลหะ หรือไม้เนื้อแข็งประเภทอื่นๆ ซึ่งช้อนที่ทำด้วยโลหะ จะมีปลายช้อนที่กลมคล้ายกับช้อนชาทั่วไปที่เราใช้ทำขนมกัน แต่ก็ต้องเลือกให้ดีเพราะบางครั้งอาจจะทำให้ตักชาได้ในปริมาณที่ไม่คงที่

ที่มา

https://www.edenfoods.com/store/matcha-spoon.html

https://oideyasu.tumblr.com/post/64615700994

https://www.taketora.co.jp/fs/taketora/sa00235

https://www.pinterest.com/pin/353110427034464612/

บทความจาก : Fuwafuwa

3 ขนมยอดนิยมของคนญี่ปุ่น ที่ชอบทานคู่ชาเขียว

การกินชาเขียวให้อร่อย หลายคนคงทราบอยู่แล้วว่าคนญี่ปุ่นนิยมทานคู่กับขนมหวานญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า วากาชิ แม้ว่าที่จริงแล้วในพิธีชงชามีขนมอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถทานคู่ชาเขียวได้ แต่ขนมที่ติดอันดับคนนิยมกินคู่กับการดื่มชาและคนไทยรู้จักกันดี ได้แก่

วากาชิวากาชิ

อันดับ 1 คือ ไดฟุกุขนมแป้งโมจินุ่มหนึบที่พิเศษด้วยไส้ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นไส้ชาเขียวลาวา ไส้ชาเขียวถั่วแดง บางเจ้าก็ใส่ผลไม้เข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติความอร่อย ขนมรสชาติออกหวาน ได้ชาเขียวร้อนๆเสิร์ฟคู่กัน เป็นความอร่อยที่ลงตัว

Daifuku Daifuku

ส่วนใครที่อยากลองปั้นขนมไดฟุกุเอง เสิร์ฟคู่กับชาที่ร้าน เพิ่มสไตล์ความเป็นญี่ปุ่นให้กับเมนูในร้านสามารถทำได้เองง่ายๆ และต่อยอดเปลี่ยนรสชาติแป้งได้ฟุกุ หรือไส้ได้ตามชอบ

 

 

เมนู ไดฟุกุชาเขียว สตอเบอรี่

  1. แป้งข้าวเหนียว 100 กรัม
  2. แป้งมัน 20 กรัม ( สำหรับทำแป้งนวล )
  3. ผงมัทฉะ 10 กรัม
  4. น้ำตาลทราย 50 กรัม
  5. น้ำเปล่า 150 มล.
  6. ถั่วขาวกวนสำเร็จ  200 กรัม + ผงชาเขียว 5 กรัม
  7. สตรอเบอร์รี่

วิธีทำ

  1. แป้งข้าวเหนียว, ผงมัทฉะ, น้ำตาลทราย ผสมให้เข้ากัน ในภาชนะที่เข้าไมโครเวฟได้ ค่อยๆเติมน้ำผสมจนแป้งไม่เป็นเม็ด ลักษณะจะเหลวข้น
  2. นำส่วนผสมแป้งเข้าไมโครเวฟ โดยใช้พลาสติกแรพไว้ หรือ หา ภาชนะปิดไม่ให้แป้งหน้าแห้ง ใช้ไฟแรงสุดนาน 3 นาที นำออกมาเกลี่ยทุกๆ 1 นาที สังเกตแป้ง ถ้าสุกจะเปลี่ยนเป็นแป้งใส และจะจับตัวเป็นก้อน
  3. นำแป้งที่กวนสุกแล้ว คลุกกับแป้งนวล ตัดแบ่งให้เท่าๆกัน แผ่แป้งให้เป็นแผ่นกลม ใส่ไส้ถั่วขาวที่ผสมกันกับผงชาเขียวเป็นเนื้อเดียวกันที่ห่อลูกสตรอเบอร์รี่ไว้ ปั้นเป็นก้อนกลม คลุกแป้งนวลเพื่อไม่ให้ไดฟุกุติดกัน เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

โดยปกติของการเสิร์ฟไดฟุกุ จะมีไม้เล็ก ๆ หรือที่เรียกว่า คุโระโมจิ (黒文字)ก็จะเป็นสัญลักษณ์ว่า ให้ทานขนมโดยการตัดแบ่งให้พอดีคำก่อนทานส่วนใหญ่จะเป็นขนมชิ้นไม่ใหญ่มากตัดได้ประมาณ 3-4 ครั้ง นั่นเอง

เซมเบ้

ต่อมาอันดับ 2คือ เซมเบ้ ขนมข้าวกรอบที่มีหลายรูปทรง ขนาด และรสชาติ โดยปกติแล้วจะเป็นรสเค็ม(เป็นรสชาติของโชยุ)​ แต่รสหวานก็มีให้เห็น ส่วนใหญ่แล้วเซ็มเบจะรับประทานคู่กับชาเขียว เป็นขนมและจัดให้แขกที่มาเยี่ยมเยียนที่บ้านนั่นเอง โดยปกติแล้วเซ็มเบจะทำโดยการอบ หรือย่างถ่านแบบดั้งเดิม ระหว่างปรุงอาจมีการทาเซ็มเบด้วยซอสปรุงรส ซึ่งส่วนมากทำจากซอสถั่วเหลืองและมิริน จากนั้นอาจห่อด้วยสาหร่ายและปรุงด้วยเกลือ การเสิร์ฟเซมเบ้คู่กับชานั้นจะไม่มีไม้คุโระโมจิเหมือนอย่างไดฟุกุ จะเป็นที่รู้กันว่าให้ใช้มือทานได้เลยไม่เสียมารยาทนั่นเอง

ดังโงะดังโงะดังโงะ

มาถึงอันดับ 3 คือ ดังโงะ  ขนมญี่ปุ่นที่ทำโดยการนำแป้งข้าวเจ้ารสชาติหวานอ่อนๆมาปั้น แล้วต้ม บางครั้งก็ทานโดยการราดด้วยซอสโชยุหวาน ถั่วแดงกวน หรือชาเขียว หรือบางที่ก็นำไปย่างไฟอ่อนๆ ก่อนมาทานคู่กับซอสต่างๆ เพื่อเพิ่มกลิ่นให้น่าทานยิ่งขึ้น ขนมดังโงะสามารถดัดแปลงได้หลายรสชาติ และเสิร์ฟด้วยการเสียบไม้ก่อนเพื่อย่างหรือราดซอสอยู่แล้ว สามารถหยิบทานได้ง่ายสะดวก จึงกลายเป็นขนมที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานคู่กับชาเขียว และจะมีรสชาติอร่อยที่สุดเมื่อทานคู่กับชาเขียวเรียวคุฉะว่ากันว่าในญี่ปุ่นเองมีการนำแป้งข้าวเจ้ามาทำอาหารตั้งแต่ในอดีต ซึ่ง Mitarashi dango นี้ได้มาจากฟองอากาศที่เกิดขึ้นตอนกรองน้ำบริสุทธิ์จากบ่อน้ำมิตาราชิ ซึ่งไหลอยู่บริเวณทางเข้าศาลเจ้าชิโมะกาโมะ มิตาราชิดังโกะ ในสมัยก่อนเสียบดังโงะ 5 ลูกต่อไม้ โดยดังโงะลูกบนสุดหมายถึงหัว 2 ลูกถัดมาหมายถึงแขน ส่วนอีก 2 ลูกหมายถึง ขา ถ้าเกิดนำดังโงะไปถวายเทพเจ้า มีเชื่อว่าจะกลายเป็นตัวแทนช่วยรับเคราะห์ร้ายแทนเจ้าตัวนั่นเอง

หากร้านไหนอยากลองทำดังโงะเองที่ร้านก็สามารถทำได้ วิธีทำคล้ายกับการปั้นบัวลอยบ้านเราเลยทีเดียว

วัตถุดิบ ได้แก่ เต้าหู้ขาว 250 กรัม แป้งข้าวเจ้า (หรือแป้งโมจิ) + น้ำตาล 200 กรัม

วิธีทำแสนง่าย :ก่อนอื่นให้ใช้มือนวดผสมเต้าหู้และแป้งข้าวเจ้าเข้าด้วยกัน ให้แป้งมีความนุ่มกำลังดี ไม่นิ่มและไม่แข็งจนเกินไป หลังจากนั้นปั้นเป็นก้อนกลม ต้มน้ำในหม้อขนาดใหญ่จนเดือดและใส่ดังโงะก้อนกลมลงไป ต้มไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะลอยขึ้นมา เมื่อลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำแล้วให้ต้มต่อไปอีกประมาณ 2 – 3 นาทีและตักออกมาพักไว้บนจานรองกระดาษ นำไปเสียบไม้ ทานคู่ซอส หรือย่างไฟอ่อนๆก่อนก็ได้ตามชอบ เสิร์ฟคู่ชาเขียวร้อนของที่ร้าน รับรองว่าลูกค้าที่มาที่ร้านต้องรู้สึกเหมือนได้ไปญี่ปุ่นแน่นอน

ที่มา

https://www.pinterest.com/pin/325807354293426536/

https://moichizen.exblog.jp/13348925/

https://www.pinterest.com/pin/14707136267674817/

https://www.japancentre.com/en/recipes/1669-matcha-ganache-filled-strawberry-daifuku

บทความจาก : Fuwafuwa

รู้หรือไม่ทำไมชาเป็นตะกอนเมื่อเย็น?

เคยทานชาเขียวแล้วมีผงชาเขียวนอนก้นเป็นตะกอนกันมั้ยคะ?

ตะกอนที่เห็นอยู่นั้นแท้จริงแล้ว คือ ผงชาที่ละลายไม่หมด เป็นผลมาจากการชงที่ไม่ดีส่วนนึง เพราะผงมัทฉะที่ดีจะค่อนข้างละเอียดมาก ไม่สามารถละลายได้หมดด้วยน้ำร้อนจากการใช้ช้อนคนธรรมดา แต่ควรใช้แปรงชา หรือที่เรียกว่า ฉะเซ็นในการชง จะทำให้ละลายได้ง่ายกว่า หรือถ้าร้านไหนที่ไม่มีฉะเซ็น สามารถลองใส่พวกกระบอกเชคเกอร์ หรือใช้ตระกร้อมือคนแทนก็พอคนให้ผงชาละลายได้อยู่

ตะกอนชา

อย่างไรก็ตามในการบางครั้งที่ใช้ฉะเซ็นในการชงแล้ว บางคนอาจจะพบว่า เมื่อทิ้งไว้ระยะหนึ่งก็จะเกิดการแยกชั้นได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งชาเขียวที่บรรจุขายทั่วไป เราจะได้เห็นข้างขวดเขียนไว้เสมอว่า “อาจมีตะกอนตามธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย” จึงถือว่าเป็นเรื่องปกติมากที่ชาแต่ละขวดหลังจากชงแล้วอาจจะมีตะกอนหลุดรอดออกมานั่นเองMatcha Matcha

พูดถึงตัวผงฝุ่นในชาเป็นผลมาจากการตกตะกอน ซึ่งเรียกว่า ‘ครีมชา’ จะเกิดขึ้นเมื่อชามีอุณหภูมิเย็นลงต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส สารประกอบในชา อย่างระหว่างคาเฟอีนและโพลีฟีนอลจะจับตัวกันอย่างอ่อนๆ ซึ่งหากชาเมนูไหนที่มีการใส่นม ก็จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างโปรตีนในนม และ โพลีฟีนอลต่างๆ มีผลให้เกิดตะกอนมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การผสมชาและน้ำใหม่ที่ต้มแล้วเข้าด้วยกัน จะทำให้ใบชาตกตะกอนอยู่ด้านล่างของกาที่ใช้ชงชาได้เช่นกัน เพื่อเป็นการลดการสัมผัสระหว่างใบชาและน้ำ แนะนำให้ทำการคนชาทุกครั้งเพื่อกระตุ้นชาและทำให้มีการละลายที่เหมาะสม

กรณีที่ชาของบางร้านไม่ตกตะกอนเลย จึงอาจเป็นที่น่าสงสัยได้ว่า ร้านนั้นไม่ได้ใช้ผงมัทฉะจริงๆ แต่ อาจจะเป็นการใช้เป็นไซรัปรสชาเขียวแทน หรืออาจใช้ผงชงสำเร็จรูปเพื่อลดระยะเวลาในการชง ซึ่งทำให้ราคาก็จะลดหลั่นกันไปตามวัตถุดิบที่ใช้นั่นเอง

นอกจากตะกอนที่มักเกิดที่ก้นถ้วยแล้ว ในบางครั้งจะเจอกรณีที่กากชา หรือ ใบชาสีเข้ม ที่ลอยอยู่ด้านบนของชาที่ชงแล้วแทนนอนก้น กรณีดังกล่าว เป็นผลของส่วนประกอบน้ำหนักโมเลกุลที่สูง เกิดจากแคลเซียม และ ไบคาร์บอเนตไอออน ที่ผิวหน้าของน้ำ ตามปกติแล้ว กากชาจะเกิดขึ้นในชาที่มีความเข้มข้นสูง อย่างไรก็ตามการบริโภคกากชา หรือตะกอนชาที่มีปริมาณน้อยกว่า 1 มิลลิกรัมของกากชาที่เกิดขึ้นในถ้วยชานั้น จะไม่เป็นอันตรายใดๆต่อสุขภาพของผู้ดื่ม

Matcha Matcha

ที่มา

https://japanesegreenteaonline.com/

https://www.stylecraze.com/trending/tea-drinks-for-weight-loss/

http://www.honannchasou.net/shihou_18.html

บทความจาก : Fuwafuwa

ออกแบบบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ให้โดนใจลูกค้า

เคยสงสัยมั้ยว่าสินค้าดีมีคุณภาพ บางทีก็อาจจะไม่ดึงดูดใจลูกค้า เพราะในยุคสมัยนี้ Packaging เป็นอีกเรื่องที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งช่วงนี้ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารดิลิเวอรี่กันมากขึ้น ขวดบรรจุชาพร้อมดื่ม ที่ไว้ใส่เครื่องดื่มให้ลูกค้าที่สั่งดิลิเวอรี่ จึงกลายเป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้คุณภาพและรสชาติของชาขวดนั้นๆ

matcha package

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบขวดชาพร้อมดื่ม

1. ขวดชาต้องมีเอกลักษณ์ ง่ายต่อการจดจำจะทำให้สินค้าของเราโดดเด่นออกมาจากสินค้าชนิดเดียวกันที่อยู่ตามท้องตลาด อาจใช้สีในการแบ่งแยกประเภทชา เช่นชาเขียว ขวดสีเขียว ชาโฮจิฉะ ชวดสีเทา ชาอู่หลงขวดสีเหลือง หรือการใช้รูปทรงของฉะเซ็นที่ช่วยให้ลูกค้าจำและนึกถึงชาของที่ร้านได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

matcha packaging

2. ขวดต้องเปิดง่าย ใช้งานได้สะดวก หลายครั้งที่บรรจุภัณฑ์มีฟังก์ชันและลูกเล่นที่โดดเด่น น่าสนุก แต่กลับต้องเสียกลุ่มลูกค้าไปเพราะใช้งานยาก ขนส่งแล้วหก ถือแล้วเปื้อนมือ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าของเรานั้นเป็นภาระนั่นเอง

3. อย่าลืมเรื่องราวของแบรนด์และสินค้าไม่ว่าจะเป็นแนวคิด แรงบันดาลใจ ภูมิหลัง ถือเป็นกิมมิคเล็กๆ ที่จะช่วยสร้างการรับรู้และทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์และสินค้าของเราได้ลึกซึ่งยิ่งขึ้นเอาเรื่องราวมาสร้างสรรค์ด้วยกราฟฟิคดีไซน์บางจุด อาจจะเป็นการใช้ไอค่อนเล่าเรื่องราว หรือเป็นการติดแท็กเพิ่มเติมที่ขวด ก็ช่วยให้ลูกค้าอินไปกับสินค้าเราได้มากขึ้น แทนการเขียนทุกอย่างลงบนขวดชา

tea packaging

หลังจากที่คำนึงถึงเรื่องราวนี้แล้ว มาดูในเรื่องของเทรนด์การออกแบบบ้าง

1. Simple or Minimalน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ เป็นหนึ่งเทรนด์การออกแบบบรรจุภัณฑ์มาแรงที่เอาชนะใจลูกค้าได้อย่างดีเยี่ยม เทรนด์นี้เป็นที่นิยมในกลุ่มคาเฟ่ และร้านขนมช่วงนี้ ดีไซน์ที่ขาวสะอาด สีสันสบายตา มีภาพและตัวอักษรน้อยๆ ออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่อัปโหลดลงอินสตาแกรมได้อย่างมีสไตล์ สามารถครองใจลูกค้ายุคนี้ได้แน่นอน

green tea package

2. Collaboration เป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ่านการร่วมมือกันของแบรนด์ 2 แบรนด์ โดยการนำโลโก้หรือจุดเด่นของแบรนด์นั้นๆ มารวมกันไว้บนบรรจุภัณฑ์เกิดเป็นดีไซน์ใหม่ที่น่าสนใจ อย่างเช่น การให้นักวาดภาพ illustor ชื่อดัง มาช่วยสร้างสรรค์ผลงานบนขวดชา หรืออย่างที่พบเห็นได้บ่อยในบ้านเราจะเป็ฯ น้องมะม่วง ที่มักจะไปโลดแล่นบนผลิตภัณฑ์ต่างๆนั้นเอง แต่ทั้งนี้ ก็อย่าลืมที่จะเลือกการ Collab ให้เหมาะกับสินค้าของทางร้านด้วย

3. Intelligent Packagingคือการนำเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบ เช่น การใส่ QR code ลงไปเพื่อสแกนดูรายละเอียดของสินค้า หรือการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนสีเมื่ออาหารใกล้ถึงวันหมดอายุ ซึ่งในไทยมีการใช้นวัตกรรมนี้ค่อนข้างน้อย จึงสามารถเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

4. Personalized packaging เป็นการให้ลูกค้าออกแบบบรรจุภัณฑ์นั้นๆได้เอง เช่น สามารถเขียนข้อความลงไปได้ หรือวาดรูปลงไปเองได้ เพื่อให้ชาขวดนั้นๆ มีความแตกต่างและแสดงความรู้สึกของลูกค้าคนนั้นๆได้

matcha design package

เพราะการได้ซื้อของที่มีแพคเกจที่สวย เหมาะกับการถ่ายรูปลงโซเชียลนั้น นอกจากจะทำให้สินค้านั้นมี Value มากขึ้นในการที่จะส่งมอบให้คนอื่นๆในเทศกาลต่างๆแล้ว ยังเป็นการบอกต่อของผู้บริโภคด้วยกันเองโดยที่ทางร้านไม่ต้องเสีย Budget ในการทำการตลาดเลย

matcha bottle

ที่มา

https://www.pinterest.com/pin/542894930081180183/

https://www.pinterest.com/pin/628955904180276261/

https://www.packagingoftheworld.com

บทความจาก : Fuwafuwa

 

หลากหลายไอเดีย กับโดนัทชาเขียว

จะเห็นว่าช่วงนี้เทรนด์โดนัทกำลังมา หลายๆร้านเริ่มทำโดนัทในรูปแบบต่างๆ ร้านขายเฉพาะโดนัทอย่างเดียวเปิดใหม่ก็เยอะขึ้น แม้กระทั่งแบรนด์ไก่ทอดชื่อดังก็มีการเอาเมนูโดนัทเข้ามามิกซ์กับเมนูที่ร้าน Matchazuki จึงพลาดไม่ได้ที่จะพาไปดูไอเดียดีๆจากร้านโดนัทน้องใหม่ที่เกียวโต อย่างร้าน Koe Donut และร้านโดนัทที่ขึ้นชื่อเรื่องความน่ารักอันดับต้นๆของญี่ปุ่นอย่างร้าน Floresta nature donuts

Koe Donutsภายในร้านจะพบกับโดนัทหน้าตาไม่คุ้นเคย และรสชาติใหม่ๆที่ไม่มีในไทยหลายตัวที่น่าลอง เช่นโดนัทชาเขียว โรยตกแต่งด้วยถั่วพิซาชิโอ เป็นต้น แม้ว่าโดนัทในร้านทุกชิ้นจะทำจากส่วนผสมที่เรียบง่ายที่ให้รสชาติโดนัทแบบดั้งเดิมแต่ด้วยความสดใหม่ที่ผลิตโดนัทขึ้นเองทุกเช้าประกอบกับไอเดียการสร้างสรรค์โดนัทมากมาย ทำให้ร้านนี้ไม่ว่าใครผ่านไปมาที่เกียวโต ต้องแวะเข้าไปอย่างแน่นอน ภายในร้านยังมีโซน “Powder Factory” ที่สามารถชมวิธีการทำโดนัทได้สดๆ  ขณะที่นั่งรับประทานไปได้ด้วย ซึ่งความตั้งใจของแบรนด์จริงๆแล้ว คือ อยากจะสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างวัฒนธรรมญี่ปุ่น แฟชั่น งานออกแบบที่ทันสมัย และอาหาร และส่งเสียงนี้ออกไปให้โลกได้รับรองในหลากหลายรูปแบบโดนัทที่ทำออกมาแต่ละตัวจึงมีความสวยงาม ไม่ซ้ำโดนัทแบบเดิมๆ อย่างเช่นการเอาถั่วเม็ดโตที่เป็นเอกลักษณ์ในการทำขนมวากาชิของญี่ปุ่นมาตกแต่งเป็นหน้าขนมโดนัท หรือที่เมืองเกียวโตขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยของชาเขียว ทางร้านเลยจัดเมนู Uji matcha tiramisu Donut melt ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์การเสิร์ฟโดนัทที่คุ้นตาให้เป็นในรูปแบบเค้กนี่เอง

Koe Donuts Koe Donuts

ดูแผนที่ https://goo.gl/maps/cpa9MAamNvmZMzDb8

ดูไอเดียเพิ่มเติมได้ที่https://www.instagram.com/koe_donuts/?hl=en

Floresta nature donuts

อีกร้านที่หลายคนคุ้นชื่ออยู่แล้วอย่างFloresta nature donutsในย่าน Koenji โตเกียว โดนัท ร้านนี้ใช้แป้ง  organic เนื้อโดนัทออกจะหยาบตามสไตล์แป้ง wholewheat ทำออกมาหลายรูปทรง และมีโดนัทที่ทำเป็นรูปสัตว์น่ารักๆมากมายที่ใช้ส่วนผสมของเกลซรสชาติต่างๆทั้งชาเขียว ช็อคโกแลต สตอเบอรี่ ให้ขนมออกมาน่ารักสดใส ลืมภาพโดนัทกลมๆมีรูตรงกลางปกติไปเลย ร้านนี้มีหลายสาขานอกจากที่โตเกียวก็ยังมีที่นารา เกียวโต โอซาก้า

Floresta nature donuts Floresta nature donuts

หลังจากได้ไอเดียการสร้างสรรค์โดนัทรูปแบบต่างๆแล้ว จะพามาต่อยอดไอเดียกับเมนูโดนัทชาเขียว ด้วยการตกแต่ง 3 รูปแบบ ที่ใช้ส่วนผสมน้อย และทำง่ายมาก ได้แก่

  1. Matcha Glaze ทำง่ายมากเพียงเอาผงชาเขียวและไอซิ่งผสมกัน แล้วเทนมอัลมอนด์ลงไปคนจนเข้ากัน แล้วเอาโดนัทมาชุบเป็นเกลซชาเขียวได้เลย ส่วนผสมสูตรนี้ ได้แก่
  • น้ำตาลไอซิ่ง ½ ถ้วย
  • ผงชาเขียว ⅛ ถึง ¼ ช้อนชา ขึ้นอยู่กับว่าอยากได้ขนมที่มีความเขียวมากน้อยแค่ไหน
  • นมอัลมอนด์ 1 ช้อนโต๊ะ

   2.  Matcha Cane Sugar ตัวนี้สีชาเขียวจะไม่เข้มมาก เริ่มจากการเอาโดนัทที่ทำเสร็จแล้วมาชุบน้ำมันมะพร้าวก่อน แล้วถึงเอาไปคลุกกับน้ำตาลอ้อยและผงชาเขียวที่ผสมรอไว้ก่อนแล้ว จะได้โนนัทสีเขียวอ่อน ส่วนผสมสูตรนี้ ได้แก่

  • น้ำตาลอ้อย ½ ถ้วย
  • ผงชาเขียว ¼ ถึง ½ ช้อนชา ขึ้นอยู่กับว่าอยากได้ขนมที่มีความเขียวมากน้อยแค่ไหน
  • น้ำมันมะพร้าว ⅓ ถ้วย

   3. Matcha Powdered Sugar หลังจากทอดโดนัทสร็จก็เอาไปชุบผงชาเขียวกับไอซิ่งที่ผสมกันไว้ก่อนแล้ว ตัวผงจะเกาะที่แป้งโดนัท ทำให้เห็นเป็นสีเขียวอีก texture ส่วนผสมสูตรนี้ ได้แก่

  • น้ำตาลไอซิ่ง ½ ถ้วย
  • ผงชาเขียว ¼ ถึง ½ ช้อนชา ขึ้นอยู่กับว่าอยากได้ขนมที่มีความเขียวมากน้อยแค่ไหน

หรือใครจะทำตัวโดนัทจากแป้งชาเขียว แล้วตกแต่งด้วยไวท์ช็อคโกแลต หรือไอซิ่งที่ขาวให้ตัดกันกับโดนัทก็สสวยน่าทานไปอีกแบบ หรือแม้แต่การเปลี่ยนรูปทรงของโดนัท ชาเขียวที่เคยทำให้เป็นทรงอื่นๆ ก็เพิ่มความน่าทานของโดนัท และอยากถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียลแน่นอน

Matcha Donut Matcha Donut Matcha Donut

ที่มา

https://twitter.com/hashtag/florestadoughnuts

https://thesweetwanderlust.com/sweets-eats/best-desserts-in-tokyo/

http://www.supertastermel.com/2015/05/cute-animal-donuts-at-floresta.html

https://www.loveandlemons.com/matcha-baked-doughnuts/

บทความจาก : Fuwafuwa

ชา ทำ cold brew ได้มั้ยนะ…?

หลายคนอาจจะคุ้นชินกับกาแฟ Cold Brew ซึ่งเป็นกาแฟที่มีความหวานมากกว่ากาแฟที่ชงด้วยวิธีอื่นเนื่องจากมีกรดต่ำ เพราะใช้น้ำเย็นสกัดระดับคาเฟอินในปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับกาแฟที่ชงด้วยน้ำร้อน ซึ่งคอชาเลยอาจจะสงสัยว่า ชา สามารถนำไปผ่านกรรมวิธีเช่นเดียวกับการทำ Cold Brew กาแฟได้มั้ยนะ?

Tea Cold Brew

หลักของการทำ Cold Brew คือ การสกัดเย็น สามารถใช้ได้ทั้งน้ำที่อุณหภูมิห้อง หรือจะใช้น้ำเย็น 5-15 องศาก็ได้ ตามปกติแล้ว ถ้าเราใช้น้ำร้อนชงชา คาเตชินและคาเฟอีนในใบชาจะออกมากับน้ำร้อน เพราะสารสองตัวนี้ละลายที่อุณหภูมิสูง ราว 80-90 องศาขึ้นไป สารสองตัวนี้จะให้รสขม ในขณะที่รสอุมามิของชาที่หลายคนชอบดื่มด่ำ ซึ่งเกิดจากกรดอะมิโน จะละลายที่อุณหภูมิตั้งแต่ 60 องศาขึ้นไป ดังนั้น พวกชาเขียวที่อุดมไปด้วยรสอุมามิ อย่างเกียวขุโระ จึงต้องชงด้วยน้ำอุณหภูมิ 40-60 องศา

ดังนั้นหากเราแช่ใบชาในน้ำเย็น รสขมของชาจะออกมาน้อยกว่าการชงแบบร้อน เหมาะสำหรับคนชอบดื่มชารสนุ่มๆ แบบอูมามินั่นเอง

Tea Cold Brew Tea Cold Brew

วิธีการทำชา cold brewทั้งชาดำ ชาอู่หลง

  1. ใช้ใบชา 4 กรัม ต่อน้ำ 200-250 มล
  2. นำใบชาใส่ถุงชาใช้แล้วทิ้ง
  3. นำถุงชาที่ใส่ใบชาแล้วแช่ลงไปในน้ำ ปิดฝาให้แน่น
  4. นำชาแช่ในตู้เย็น เป็นระยะเวลา 6-12 ชั่วโมง
  5. พอครบ ให้ดึงถุงชาออก ชาที่เย็นแบบนี้ สามารถเก็บได้ในตู้เย็นราว 3-4 วัน รสชาติก็ไม่เปลี่ยน ไม่มีความขมเพิ่ม

แต่ข้อควรระวังสำหรับชาเขียว จะขมได้ง่ายมาก ให้ลดปริมาณชาลง เหลือใบชา 3 กรัม ต่อน้ำ 500 มล. และแช่ชาเพียง 3-6 ชั่วโมง  และปกติแล้ว เวลาชงร้อนเรามักได้ กลิ่นหอมจากการชง แต่การชงชาแบบ Cold brew จะไม่มีกลิ่นหอมชวนดื่ม

แม้ว่าใบชาที่ผ่านการ cold brew แล้ว อาจจะนำมาชงร้อนซ้ำได้อีกสักครั้ง แต่รสชาติจะเหลือน้อยแล้ว แนะนำให้ทิ้งไปเลยจะดีกว่า

ส่วนการใช้ผงชาเขียวทำ Cold Brew นั้น ให้ใช้ผงชา 1 ช้อนชาลงไปในขวดที่มีฝาปิด และเทน้ำลงไป 1.5 ถ้วย ปิดฝาแล้วเขย่าประมาณ 15 วินาทีเป็นอันเรียบร้อย

Tea Cold Brew

ที่มา

https://pickledplum.com/cold-brew-tea/

https://theteacupoflife.com/2019/04/cold-brew-matcha.html

https://matchaoutlet.com/blogs/recipes/cold-brew-summer-matcha-drink

บทความจาก : Fuwafuwa

ชาที่ต้มแล้ว เอามาต้มซ้ำได้มั้ยนะ??

หลายคนคงเคยชินกับการชงชาจากถุงชาซ้ำสองถึงสามรอบ หรือใช้ใบชาที่ผ่านการชงแล้วมากกว่า 1 ครั้ง แม้จะมีความสงสัยกับการชงชาว่าหลังจากต้มน้ำแล้ว เอามาชงซ้ำอีกรอบได้มั้ย เพราะดูๆแล้วยังชงดื่มได้อีก สักรอบถึงสองรอบ

Green tea Green tea

โดยปกติแล้วผงชา หรือใบชาบดทุกชนิด มีความเข้มข้นในตัวเอง หากมีการนำมาต้ม หรือโดนน้ำร้อน จะทำให้น้ำร้อนสกัดรสชาติและความเข้มข้นของชาออกมา และเมื่อตอนเราบีบน้ำให้ออกมาจากใบชา ยิ่งบีบแรงเท่าไหร่ ก็จะได้ความเข้มข้นของชามากขึ้น เมื่อผงหรือใบชาที่ผ่านการกรองกากมาแล้วหนึ่งครั้ง ในตัวของผงหรือใบชานั้น ก็ยังคงเหลือรสชาติ และความเข้มข้นอยู่ แต่ไม่เข้มเท่าครั้งแรก ยิ่งชงซ้ำหลายครั้ง รสชาติของน้ำชา ก็จะจืดลงไปเรื่อยๆนอกจากนั้นสีและกลิ่นของชาก็จะลดลง โดยเฉพาะชาที่ผสมนมอย่างเช่น ชาไต้หวัน ชาเขียว ชาไทยแล้วความหวานและกลิ่นของนมจะกลบกลิ่นชาไปอีกด้วย

Green tea Green tea

นอกจากนี้รสชาติ สีสัน และ ความรู้สึกที่สัมผัสจากการดื่มชานั้นมาจากสององค์ประกอบหลักของชา คือ โพลีฟีนอล และ คาเฟอีนแต่ละส่วนประกอบมีรสฝาดในตัวเอง แต่เมื่อมารวมกันความฝาดก็จะลดลง การต้มน้ำให้เดือดอีกครั้งจะทำการลดระดับของ CO2 ซึ่งมีผลในการลดความเป็นกรดลง มีผลต่อองค์ประกอบของคาเฟอีนและโพลีฟีนอล และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสีรวมทั้งลักษณะของชาที่ชง น้ำที่ต้มสองครั้งจะมีผลต่อรสชาติของชาเท่านั้น ไม่ได้มีอันตรายใดๆ และสารอาหารก็ไม่ได้หายไปไหนอีกด้วย

matcha

อย่างไรก็ตามเมนูชาเย็นแนะนำใช้ชงครั้งเดียว เพราะเมนูชาเย็น ความอร่อยที่แท้จริง คือ รสชาติต้องเข้มข้น กลิ่นต้องหอมนั้นเอง

อย่างไรก็ตามอาจจะมีบางคนที่อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่างั้นการชงชาแค่ครั้งเดียวแต่ทิ้งไว้ในกาชาให้นานขึ้นเพื่อให้ได้รสชาติที่เข้มข้นเลยน่าจะดีกว่าการเอามาชงซ้ำ ต้องขอบอกก่อนเลยว่าเป็นความคิดที่ไม่ดีนัก เพราะอีกตัวแปรที่ส่งผลต่อกลิ่นและรสชาติของชา คือ ระยะเวลาที่เราทิ้งชาเอาไว้ในกาน้ำชา ที่ไม่ต่างอะไรกับการอบขนม ถ้าอบนานเกินไปเค้กอาจจะค่อยๆ แห้งไปเรื่อยๆ จนไหม้ ถ้าทิ้งใบชาไว้ในกานานๆ รสชาติก็จะค่อยๆ ขมขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อร่อยไปเอง ถ้าอยากได้รสชาติหอมหวานจากใบชาเพิ่มมากขึ้น แนะนำว่าให้เพิ่มปริมาณใบชา แทนที่จะใช้วิธีทิ้งใบชาแช่ในกาให้นานขึ้น ไม่เช่นนั้นน้ำชาอาจจะออกมาขมจนดื่มไม่ลงเลยก็ได้ หรือเอาชาใบเก่า กลับมาชงได้อีกรอบจะเป็นวิธีที่ดีกว่านั้นเอง

ที่มา

https://www.pinterest.com/pin/244461086010500412/

https://kinarino.jp/cat8/25451

https://e-yamamotoen.com/?pid=105742195

บทความจาก : Fuwafuwa

ต่อยอดเมนูจากไอเดียจากร้านสุดครีเอทีฟ

เมืองอูจิ เมืองขึ้นชื่อเรื่องชาเขียว ที่หลายคนคงเคยได้ยินว่าทั้งเมืองจะมีแต่ร้านขายขนม เครื่องดื่ม ที่ทำจากชาเขียว แค่คิด ก็ได้กลิ่นชาหอมๆตลอดเส้นทางการไปเยือนเมืองนี้แล้ว นอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย และเต็มไปด้วยไอเดียในการทำขนมหวานเป็นรสชาติชาเขียวแล้ว ที่น่าสนใจกว่านั้นคือแต่ละร้านมีหลากหลายไอเดียที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร คาเฟ่ชาเขียวของไทยน่าเอามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มจุดขายให้ที่ร้าน และยังเป็นการใช้วัตถุดิบผงชาเขียวที่มีอยู่แล้วในร้านให้เกิดมากที่สุดด้วย

ร้านแรกที่จะพาไปรู้จัก คือ ร้าน そば処 ながの( Sobadokoro Nagano )ร้านนี้เขาทำโซบะชาเขียว ขั้นแรกให้ลองชิมเส้นโซบะแบบยังไม่จิ้มกับซอสก่อน เราจะรู้สึกถึงความหอมของชาเขียวที่ผสมอยู่ในเส้นแบบเต็มๆคำ พอจิ้มซอสแล้วก็จะได้รสชาติหวานเล็กน้อย ส่วนอินาริซูชิ ก็เป็นแบบพิเศษเพราะด้านในไม่ใช่ข้าวแต่เป็นเส้นโซบะแบบธรรมดาผสมกับโซบะชาเขียวเช่นกัน

ดูแผนที่ได้ที่https://goo.gl/maps/TdDzEQUNB4CE8vzz5

uji kyoto uji kyoto

ร้านต่อไปที่จะพาไปรู้จักคือร้านMatcha Republicที่ขายเครื่องดื่มชาเขียวแบบบรรจุลงขวดหมึกเก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร มีทั้งแบบผสมไข่มุก แบบผสมซากุระ ที่บรรจุลงขวดให้เห็นเป็น Layer ที่สวยงาม จะซื้อทานเองหรือซื้อเป็นของฝากก็เก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร ลืมหน้าตามัทฉะลาเต้แบบปกติกันไปได้เลย

ดูแผนที่ ได้ที่ https://goo.gl/maps/UB6RqZceBngnw3XZ9

uji kyoto uji kyoto

อีกร้านที่หน้าร้านเหมือนร้านขายเนื้อแสนธรรมดา แต่กลับมีโครเกต์ชาเขียวกลิ่นหอมชา มันหวานๆเนื้อสัมผัสเนียนนุ่ม ยิ่งทอดใหม่ๆ ยิ่งอร่อย แถมหาทานได้ยาก ใครผ่านไปแถวนั้นอย่าลืมแวะไปลองที่ ร้าน Niku no Hariyoshi

ดูแผนที่ได้ที่https://goo.gl/maps/zx8MdGeTdBreQbpr7

uji kyoto uji kyoto

อีกร้านหนึ่งที่น่าสนใจคือ ร้าน Tako Q (蛸Q) ที่นำผงชาเขียวไปผสมกับแป้งและซอสเพื่อทำเป็นทาโกะยากิชาเขียว และ เกี๊ยวซ่าชาเขียว ทานคู่กับผงชาเขียวผสมเกลือเล็กน้อย เป็นอีกไอเดียที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่าสามารถนำผงชาเขียวมาประยุกต์ทำอาหารว่างได้ และที่สำคัญคือ ในไทยแทบจะไม่มีการนำผงชาเขียวมาทำเป็นอาหาร เป็นอีกไอเดียที่อาจจะสร้างความว้าวให้ร้านของคุณได้

ดูแผนที่ได้ที่https://goo.gl/maps/3dQqrKTm4PJPYLwh7

uji kyoto uji kyoto

สำหรับร้านไหนที่อยากเพิ่มเมนูใหม่ให้ที่ร้าน แต่ไม่รู้จะเพิ่มเมนูไหน ลองมองให้กว้างขึ้นกว่าการนำชาเขียวไปทำขนมและเครื่องดื่ม เปลี่ยนแนวการจัดเสิร์ฟของเมนูชาเขียวในร้านแบบเดิมๆ ก็จะสร้างสีสันและความน่าตื่นเต้นให้ลูกค้าได้

ที่มา

https://tabelog.com/kyoto/A2607/A260701/26005936/

https://www.matcha-republic.com/menus

บทความจาก : Fuwafuwa

การผสมชากับนมนั้นมันไม่ดีจริงเหรอ? 

ชาใส่นม ไม่ว่าจะเป็นมัทฉะลาเต้ หรือ ชานมเย็น ที่เป็นที่ชื่นชอบของหลายๆคน ด้วยความเข้มข้น ของชา และความกลมกล่อมด้วยนมที่ผสมตามสูตรของที่ร้าน ชาจึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อย่างที่ไทยบ้านเรา ก็มีทั้งชาดำเย็น ชานม หรือฝั่งญี่ปุ่น คนนิยมบริโภคชาเขียว ฝั่งยุโรปยังมีธรรมเนียมในการดื่มชากับขนมหวาน หรือที่เรียกว่า Afternoon tea นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้วยังเป็นเพราะชาอุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากๆ อย่างที่รู้กัน เช่น สารคาเทชิน (Catechin) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ช่วยดักจับอนุมูลอิสระ และสารธีอะนิน (Theanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ทำงานสัมพันธ์กันกับเส้นประสาท หากดื่มไปแล้วจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบนิ่งและสมองปลอดโปร่งมากขึ้น ซึ่งการจะได้ประโยชน์จากสารอาหารเหล่านี้อย่างเต็มที่ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าต้องดื่มแบบไม่ผสมนม หรือน้ำตาล

Matcha Latte

แต่การผสมชากับนมนั้นมันไม่ดีจริงเหรอ? 

มีการค้นพบโดย นักวิจัยจากโรงพยาบาลคาริตของมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เยอรมนี ว่า ชาจะหมดประโยชน์ได้ ถ้าหากใส่นม เพราะโปรตีนในนมจะไปยับยั้งการทำงานของสารคาเทซิน ทำให้ประโยชน์ของชาในการปกป้องโรคหัวใจหมดไปการวิจัยดังกล่าวทดลองเปรียบเทียบ ระหว่างสุขภาพของผู้ดื่มน้ำอุ่น ดื่มชา และดื่มชาแบบเติมนม พบว่า

“ คนที่ดื่มชาทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการดื่มน้ำอุ่น แต่พอมีการเติมนมลงไปในน้ำชาคุณประโยชน์ชาก็จะหายไปทันที ”

Matcha Latte

แต่ถ้าต้องการดื่มชาแบบเติมนมจริงๆ ก็ยังมีการโต้เถียงอีกว่า“ควรใส่ ชาก่อนหรือหลังนม?”

บางคนก็เชื่อว่าการเติมนมทีหลังชงชา ทำให้ผู้ดื่มสามารถกะปริมาณนมได้ง่ายกว่า โดยดูจากสีที่เปลี่ยนไป แถมเปิดโอกาสให้เจ้าของชาเลือกอุณหภูมิที่พอใจได้ด้วยตนเอง

แน่นอนว่าก็มีบางคนที่บอกว่าการเติมนมก่อนชงชาสามารถรักษาอุณหภูมิของชาได้ดีกว่า และทำให้ชามีรสละมุนกว่า เพราะแลคโตสในนม จะละลายดีกว่าเมื่อถูกความร้อนอย่างช้าๆ และการที่เทชาลงทีหลัง ทำให้นมมีโอกาสสัมผัสความร้อนจากชาได้อย่างทั่วถึงนั้นเอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลังให้รสชาติของนมมีความกลมกล่อมและหวานหอมมากกว่า และนมที่ดีไม่ควรผ่านความร้อนหลายครั้ง ดังนั้นถ้าอยากเก็บคุณค่าทางสารอาหาร ก็แนะนำให้เสิร์ฟนมอุณหภูมิปกติ โดยให้ผ่านความร้อนจากการสัมผัสชาเพียงครั้งเดียวจะดีกว่านั่นเอง

อย่างไรก็ตามการไม่ใส่นมลงไปในชา ถือว่าเป็นวิธีการดื่มที่ดีที่สุด แต่ถ้าใครอยากใส่นมจริงๆ ลองเปลี่ยนมาดื่มชาที่ผสมนมอัลมอนด์ หรือนมพิสทาชิโอแทนก็น่าสนใจทีเดียว เพราะ 2 ตัวนี้อุดมด้วยมีแคลอรี่ต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินอี และวิตามินดีไม่แพ้นมวัวเลย ที่สำคัญไม่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง ปราศจากแลคโตสและกลูเตน คนที่แพ้นมวัวจึงสามารถทานได้อย่างไร้กังวล

Matcha Latte

ที่มา https://www.teacachai.com/pistachio-matcha-latte/

https://www.acozykitchen.com/matcha-iced-latte

https://bonaippetit.com/aip-coconut-milk-matcha-latte/

https://theforkedspoon.com/how-to-make-thai-iced-tea/

บทความจาก : Fuwafuwa

รวมกันแล้วรุ่ง ด้วย Marketing Collaboration

จะเห็นว่าช่วง 2-3 ปีมานี้ ธุรกิจร้านอาหาร คาเฟ่ เบเกอรี่ และเครื่องดื่มหลากหลายรูปแบบเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เป็น SME ร้านมีแฟรนไชส์ หรือแม้กระทั่งใครหลายคนที่อาศัยช่วงเวลาว่างอยู่ที่บ้าน เข้าครัว จับโน่นผสมนี่ออกมาทำขายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไหนๆ ก็คู่แข่งเต็มไปหมด โดยเฉพาะร้านสไตล์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นขนม ชา หรือร้านอาหารก็ตาม ด้วยจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้นมาก แต่จำนวนผู้บริโภคมีเท่าเดิม คงหนีไม่ได้ กับการที่ยอดซื้อของบางร้านที่ไม่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมากพอ จะลดลงอย่างแน่นอน

การ Marketing Collaboration  หรือการจับคู่แบรนด์เพื่อทำโปรเจกต์ร่วมกัน กลยุทธ์นี้เป็นการผสมผสานจุดแข็งของแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความแปลกใหม่ และขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตามการทำ Marketing Collaboration ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกเคสไป และมือใหม่ที่ไม่ถนัดการตลาดมากนัก อาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าต้องเริ่มทำจากอะไร

เทคนิคการทำ Marketing Collaboration เริ่มจาก

1.กำหนดเป้าหมายให้ชัดต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าทำเพื่ออยากได้กลุ่มลูกค้าแบบไหนเพิ่มขึ้น อยากได้ชื่อเสียงจากอีกแบรนด์ในด้านไหนในการทำกิจกรรมทางการตลาดร่วมกัน อย่างเช่น

Marketing Collaboration

“KitKat  X Krispy Kreme” ช็อคโกแลตคิทแคทที่หลายคนรู้จัก จับมือกับโดนัทยอดฮิต เพื่อออกสินค้าใหม่ที่เป็น Limited Edition แม้จะเป็นธุรกิจขนมเหมือนกัน แต่การจับมือของสองแบรนด์นี้ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยของโดนัทและเวเฟอร์ช็อคโกแลตที่ดังระดับโลก ย่อมทำให้คนรักขนมต้องอยากลองสักครั้งแน่นอน

Marketing Collaboration

หรือ Mister Donut x Calpis  โดนัทที่หลายคนคิดไม่ถึงว่าสามารถทำเป็นรสชาติเครื่องดื่มโยเกิร์ตที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของ Calpis ได้น่าทานขนาดนี้

การดึงเอกลักษณ์วัตถุดิบที่โดดเด่นของแบรนด์อื่นๆมาร่วมกันทำสินค้าใหม่ที่ีมีความน่าตื่นเต้นและน่าทานได้แบบนี้ จะเป็นการดึงฐานลูกค้าของทั้งสองแบรนด์ให้มาซื้อสินค้าตัวนี้ได้

2. แบรนด์ต้องมีความเข้ากันได้และเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าและเจ้าของธุรกิจชื่นชอบ ความเข้ากันได้ รวมถึงวิธีการทำงาน วิสัยทัศน์ ภาพลักษณ์ หรือเป้าหมายว่าไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลกำไร และยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆที่น่าสนใจของแบรนด์พันธมิตรอีกด้ว

3. ต้องร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ทำให้ลูกค้าคิดไม่ถึง อย่าง 2 แบรนด์นี้ที่ดูแล้วไม่น่าจะทำการ Collaboration ได้ แต่ Kitkat ที่เกาหลียังคงมีไอเดียสร้างสรรค์ จับมือกับเครื่องสำอางวัยรุ่นออกซีรีย์ KitKat Eye Shadow Palettes in Two “Flavors” ที่ทำช็อคโกแลตออกมาให้มีสีเหมือนกันกับพาเลทของสาวๆ ช่วยสร้างสีสันให้ไม่น่าเบื่อ

Marketing Collaboration

4.อย่าลืมมองสินค้าประเภทเดียวกัน อย่ามองว่าอีกฝ่ายเป็นคู่แข่งอย่างเดียวเราอาจจะหยิบจุดเด่นของร้านคู่แข่งบางอย่างมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ร้านเราขาดไป กลายเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันได้ อย่างช่วงนี้ที่หลายๆร้านมีขายเครื่องดื่มชาสูตรเฉพาะของที่ร้าน อาจจะนำชาของแต่ละร้านที่มีจุดเด่นความกล่มกล่อมและรสชาติ และสัญชาติชาที่แตกต่างกัน บางร้านอาจจะเป็นชาไทย บางร้านเป็นชาจีน หรือชายุโรป แต่เป็นชาที่แตกต่างกัน ออกมาเป็นสินค้าใหม่ที่เป็นคอลเลคชั่น TEA ก็น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

Marketing Collaboration

**ภาพนี้ไม่ได้เป็นการ Collaboration เป็นเพียงการยกตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจนง่ายขึ้น**

5.การ Collaboration ไม่จำเป็นต้องเป็นแบรนด์ สินค้า 2 แบรนด์ เสมอไป การครีเอทสิ่งใหม่จากแบรนด์เดิม ด้วยศิลปิน เชฟจากที่อื่นที่ไม่ใช่คนในทีมของร้านนั้นๆ ก็ถือว่าเป็นการทำ Collaboration เช่นกัน อย่างเช่น Mister Donut x Toshi Yoroizuka (เชฟ patissier ชื่อดังของญี่ปุ่น ) ในการออก Collection Mister Donut 50th anniversary กับสุดยอดเมนูโดนัทที่รังสรรค์จากฝีมือเชฟระดับประเทศ ออกมาในรูปแบบของโดนัทที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ให้ใครหลายๆคนที่อยากทานของอร่อยได้ในราคาเข้าถึงง่าย

Marketing Collaboration Marketing Collaboration

ที่มา

https://bit.ly/2YLRvyJ

https://bit.ly/2SR2WBb

https://bit.ly/2LdTWSr

https://allabout-japan.com/en/article/2508/

https://matcha-jp.com/en/9656?type=news

บทความจาก : Fuwafuwa

ออกแบบเมนูอย่างไรให้ปังดึงดูดลูกค้า!!!

เคยเจอปัญหานี้ที่ร้านกันมั้ย ???

  • คิดเมนูออกมาได้รสชาติดี ราคาไม่แพงแล้ว แถมทำเลร้านก็ดี แต่ทำไมลูกค้ายังไม่เข้าร้าน
  • มีบริการส่งดิลิเวอรี่ แต่ลูกค้าก็ยังไม่กดสั่งซื้อ
  • เลือกใช้วัตถุดิบชั้นดี นำเข้าจากต้นกำเนิด แต่ยอดขายก็ไม่ขึ้น

ส่วนนึงที่หลายคนอาจลืมนึกถึงไปคือ ใบเมนูของที่ร้าน หรือรูปภาพที่เราใช้ในการทำเมนูหรือโพสต์ลงโซเชียลนั้นเอง ที่เป็นเหมือนหน้าต่างบานแรกของทุกร้าน ส่งผลต่อการเลือกซื้อของลูกค้า มาดูกันว่า ดีไซน์เล่มเมนูแบบไหนที่ช่วยดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น

1. คำที่ใช้เขียนในใบเมนูต้องน่าตื่นตาตื่นใจเช่น “Handcrafted” “Recommend” “New Arrival” “Signature Menu” แต่อย่าใส่มากเกินไป เพราะลูกค้าอาจจะสับสนในการตัดสินใจเลือกสั่งได้ อย่างภาพนี้ที่ถ้าดูเผินๆหลายคนอาจจะไม่สนใจ แต่ถ้าดูดีๆแล้วเห็นคำว่า NEW ในภาพ จะเกิดความสะดุดตา อยากซื้อขึ้นมาในทันใด

Matcha Menu

2. เล่าเรื่องราวของเมนูนั้น อธิบายรสชาติของขนมว่ามีส่วนผสมของไส้อะไรบ้าง หรือ อธิบายวัตถุดิบเล็กน้อย เมนูไหนที่ใช้วัตถุดิบพรี่เมี่ยม อย่างเช่น ผงชาเขียวนำเข้าจากอูจิเกียวโต ชาชั้นดีของญี่ปุ่น คำเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจ เพราะได้รู้ถึงที่มาของวัตถุดิบที่รสเลิศจึงมีส่วนช่วยให้อยากสั่งอาหารได้มากเลยทีเดียว

Matcha Menu

นอกจากอธิบายด้วยข้อความแล้ว สามาถอธิบายด้วยภาพได้เช่นกัน อย่างเช่น การมีพร็อพตกแต่งข้างๆเป็นฉะเซ็น ถ้วยชงชาญี่ปุ่น แสดงถึงที่มาของชาเขียวที่อยู่ในทาร์ตนี้ว่าเป็นชาเขียวของญี่ปุ่น และมีส่วนผสมของ ถั่วแดง

Matcha Menu

3. สีสื่อความหมายเช่น สีเขียวสื่อความหมายถึงความสดชื่น ดูธรรมชาติ จึงควรใช้ประกอบเมนูที่โดดเด่นด้านความสด สะอาด สีเหลืองสื่อความหมายถึงความสุข จึงดึงดูดสายตาของลูกค้าได้ดี สีแดงกระตุ้นให้เกิดการซื้อ เป็นต้น

4. เลือก เมนูเด็ด ไว้กึ่งกลางหน้า เพราะคนส่วนมากดูที่ตรงกลางก่อน ค่อยเลื่อนสายตาไปมองทางซ้ายบนและขวาบน

5. ตั้งราคาให้ดึงดูด ลงท้ายด้วยเลข 9 เพราะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคาไม่แพงจนเกินไป (แม้จะเพิ่มอีกแค่ 1 บาทก็ตาม)

6. จัดกลุ่มเมนูที่มีความเหมือนกันไว้ด้วยกัน เพื่อให้ลูกค้าดูเทียบกันตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น ขนมในร้านมีหลายรสชาติ แต่จับอันที่เป็นรสชาติชาเขียวเหมือนกันไว้ใกล้ๆกัน แยกรสชาติกันไป

Matcha Menu

7. เลือกใช้สัญลักษณ์กราฟฟิคบางอย่างเพื่อทดแทนคำพูด หรือข้อความ เพื่อความเข้าใจง่ายและ TEXT ไม่เยอะเกิน เช่นใช้สัญลักษณ ใบชา เครื่องดื่มร้อน เย็น ปั่น แทนข้อความที่ต้องระบุลงไป

Matcha Menu

8. ใส่ข้อมูลที่จำเป็นลงไปแล้ว อย่าลืมทิ้งพื้นที่วางในภาพหรือใบเมนูบ้าง เพื่อให้อาหารในภาพดูโดดเด่น สบายตา อ่านง่าย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

Matcha Menu

ที่มา

https://bit.ly/2xMsTe9

Pinterest.com

https://creative.starbucks.com/voice/

https://www.misterdonut.jp/

https://www.pablo3.com/

บทความจาก : Fuwafuwa