“ชาที่ดี ใบชาตั้งต้นต้องดี” หัวใจสำคัญแรกเริ่มเลย ก่อนจะรู้จักการเบลนด์ชาเอง ใบชาตั้งตั้นที่กล่าวถึงนี้ ก็คือชาดำ ชาเขียว และชาอู่หลง พอได้ใบชาตั้งต้นดีแล้ว จะเอามาเบลนด์กับอะไร รสชาก็จะอร่อย หอมตามไปด้วย กล่าวคือ ชาเขียวที่เหมาะกับการนำมาเบลนด์เองได้นั้น ควรเป็นชาที่ปลูกในที่ภูเขาสูง อากาศเย็น อย่างที่ญี่ปุ่น ที่นั่นเขาจะดื่มชากันสดมากๆ เพราะผลิตผลเขาดีมาก ชาที่ดี จึงมักมีจุดตัดกันที่ แหล่งที่มาของชา การปลูก ดิน แหล่งชาไหนจะสร้างชามาได้เลิศกว่ากัน
เมื่อเราได้ชาตั้งต้นที่ดี ความสนุกและซับซ้อนของชายังอยู่ที่การเบลนด์ส่วนผสมอื่นเข้าไปเพื่อให้มีกลิ่นและรสที่มีมิติน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะสมุนไพรที่นอกจากจะมีกลิ่นรสเฉพาะตัว ยังมีสรรพคุณดีๆ ที่ช่วยเรื่องสุขภาพอีกด้วย เช่น หากเลือก ดอกลาเวนเดอร์และกุหลาบตากแห้งดอกจิ๋วๆ ที่เติมความน่ารักให้ชา จะช่วยบำรุงระบบหมุนเวียนโลหิต พร้อมทั้งคลายเครียด ดอกคำฝอยช่วยลดไขมันในเส้นเลือด แถมยังช่วยให้ชาสีสวย หากใครหลับยาก ถ้าเป็น ดอกคาโมมายล์และดอกหอมหมื่นลี้ช่วยให้ผ่อนคลายและหลับสบายขึ้นดอกเก๊กฮวยแก้ร้อนใน ดีต่อหัวใจ หรือถ้าเลือกผสม ดอกอัญชันแห้งก็จะช่วยบำรุงสายตาและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายใบเตยแห้งช่วยลดไข้ บำรุงผิว และแก้ท้องผูก ตะไคร้แห้งช่วยขับลมและแก้คลื่นไส้ นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมตัวอื่นๆที่น่าลอง เช่น หญ้าหวาน ข้าวเหนียวดำ ขิง มะม่วง กระเจี๊ยบ ซินนาม่อน
พอรู้จักสรรพคุณของชาแล้ว มาลองเริ่มเบลนด์ชากันเองดีกว่า หลักการง่ายๆ ของการเบลนด์ชาเบื้องต้น เริ่มต้นง่ายๆ จากการเลือกชาและสมุนไพรที่ชอบก่อน ต้องออกแบบรส และกลิ่นไว้คร่าวๆ ก่อนว่าต้องการรสแบบไหน ประมาณไหน อยากได้รสหลักเป็นอะไร แล้วค่อยๆ ใส่ลูกเล่นเข้าไปเพิ่ม หลักการง่ายๆ คือการค่อยๆ ปรับแก้จนได้รสที่ใกล้เคียงสิ่งที่คิดไว้ สัดส่วนใบชาและสมุนไพรที่แนะนำคือ ใบชา 3 ส่วน ต่อสมุนไพร 1 ส่วนใส่ลงถุงชา หรือที่กรองชา โดยลองสกัดชาที่เบลนด์แล้วด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 95 องศาเซลเซียส เทน้ำลงไปชาเหมือนเวลาชงชาปกติ เพราะจะได้ชาที่มีรสชาติพอดิบพอดี
สิ่งที่ต้องดูนอกจากรสชาติ คือ ดูสีสัน และกลิ่นที่เข้ากันได้ เช่น ไม่ควรใส่ดอกไม้ที่กลิ่นหอมทั้งคู่ กลิ่นจะตีกัน เช่น กุหลาบ กับ ลาเวนเดอร์ หรือควรจับคู่กลิ่นรสที่เสริมกัน เช่น ใบเตยกับตะไคร้ จะยิ่งให้ความสดชื่นในตอนดื่ม หากไม่แน่ใจ จะลองชงดื่มดูก่อนก็ได้ว่าได้กลิ่น สี และรสอย่างที่ต้องการหรือไม่
แต่การเบลนด์ชาก็ไม่ใช่ว่าจับอันนั้นผสมอันนี้ก็เสร็จ เพราะเรื่องสัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญ สมุนไพร ดอกไม้บางชนิดกว่าจะแช่ในน้ำร้อนให้กลิ่นและสี ชาเขียวก็อาจจะถูกแช่จนขมไปหมด ส่วนที่ยากของการเบลนด์ชาคือ ไม่มีทางตัดสินได้ว่ารสชานั้นจะออกมาเป็นอย่างไรในการผสมของแห้ง สุดท้ายชาต้องถูกแช่ในน้ำร้อน กลิ่นและรสก็จะเปลี่ยนแปลงไปอีกจากที่เราชอบ กว่าจะได้ชา 1 เบลนด์ต้องผ่านการลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้กี่ครั้ง จนได้จุดที่สมดุลที่สุด
ส่วนร้านที่เริ่มเบลนด์ชาเองได้จนเชี่ยวชาญแล้ว สามารถต่อยอดชุดชาเบลนด์ เป็นชุดของขวัญ รวมชาสรรพคุณดีๆ กลิ่นหอมๆ ใส่โหลผูกโบ หรือแพ็คลงกล่องอย่างสวยงาม แทนกระเช้าอาหารแปรรูปที่วางขายอยู่ทั่วไป ก็น่าสนใจและบ่งบอกถึงความตั้งใจในการคัดเลือกชาคุณภาพให้ผู้รับประทับใจ
ที่มา
http://www.lovecreatecelebrate.com/homemade-peppermint-tea/
https://creationsbyfc.com/products/tea-sampler-gift-set-10pc
https://www.anthropologie.com/wellness-teas-coffees-elixirs
http://www.womansday.com/health-fitness/10-healing-herbs-used-in-teas-75249
https://www.anthropologie.com/wellness-teas-coffees-elixirs
บทความจาก : Fuwafuwa