หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมการชงชามัทฉะ ไม่สามารถใช้ช้อนคนเหมือนเวลาเราชงกาแฟ หรือโกโก้??
คำตอบก็คือ มัทฉะ คือ ผงชาที่บดมาจากใบชา ไม่เหมือนสารละลายที่นำไปผ่านกระบวนการอบให้เป็นผงพร้อมชงอย่างโอวัลตินหรือน้ำตาลทราย จึงไม่มีคุณสมบัติละลายน้ำการใช้แปรงชงชา หรือที่เรียกว่า ฉะเซ็น ในการตีผงชาจะทำให้ผงชาละลายได้หมดและได้กลิ่นและรสชาติแบบต้นตำรับสไตล์ญี่ปุ่นมากกว่านั่นเอง
แต่บางคนก็อาจจะใช้ตะกร้อที่ใช้ทำขนมมาตีผงชาแทน แต่มีข้อเสีย คือ ตีมัทฉะออกมาแล้วฟองจะใหญ่ไม่ละเอียด ทำให้มัทฉะดูไม่น่าทาน
ฉะเซ็น ปกติจะทำจากไม้ไผ่ มีจำนวนซี่ประมาณ 80 ซี่ หากน้อยกว่านี้ จะเป็นฉะเซ็นที่มีไว้สำหรับการชงโคอิฉะ หรือมัทฉะแบบเข้มข้น
ที่จำเป็นต้องใช้ฉะเซ็นในการนวดผงชาให้เป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำร้อน ต่างจากการชงอุสึฉะ หรือมัทฉะแบบบางที่จะใช้ฉะเซ็นตีผงชาให้ขึ้นฟอง แต่ฉะเซ็นบางรุ่นที่มีจำนวนซี่เยอะ อย่าง 100 ซี่ หรือ 120 ซี่ มีข้อดีคือตีมัทฉะให้ขึ้นฟองได้ง่ายและฟองละเอียดกว่าในสมัยก่อนฉะเซ็นที่จำนวนซี่เยอะๆ มีไว้สำหรับให้โชกุนหรือขุนนางผู้สูงศักดิ์ใช้เพียงเท่านั้น
การใช้งานฉะเซ็นครั้งแรก ควรแช่ฉะเซ็นในน้ำอุ่น 15-30 นาที เพื่อให้เนื้อไม้คลายตัวก่อน นอกจากนนั้น เพื่อยืดอายุการใช้งานฉะเซ็น ทุกๆครั้งก่อนใช้ควรแช่ฉะเซ็นในน้ำอุ่นประมาณ 5-10 นาทีเพื่อให้เนื้อไม้ยืดหยุ่นรับแรงจากการใช้งานโดยไม่แตกหัก และควรใช้งานฉะเซ็นกับถ้วยที่ก้นแบนกว้างทรงเตี้ย หลีกเลี่ยงการใช้กับถ้วยชาทรงสูงปากแคบก้นมีมุมเพราะอาจทำให้ปลายแปรงกระแทกมุมจนแตกหักได้ ที่สำคัญ คือไม่ควรกดแปรงฉะเซ็นกับก้นถ้วย แต่เน้นการสะบัดฉะเซ็นโดยการใช้ข้อมือโดยหลีกเลี่ยงการสะบัดแปรงแรงจนชนข้างถ้วย
หลังการใช้งานทุกครั้ง ควรนำไปแกว่งในน้ำอุ่น โดยแกว่งเฉพาะส่วนที่สัมผัสกับมัทฉะ ไม่ต้องล้างน้ำทั้งอัน พอแกว่งเสร็จสักสองน้ำก็นำมาตั้งไว้ให้แห้ง หรือถ้าใครมีเซรามิคที่เอาไว้สำหรับพักฉะเซ็น ก็เอาไปเสียบไว้ รอให้แห้งได้เลย
ทริคเพิ่มเติมเล็กน้อยภายหลังการใช้งานควรเก็บฉะเซ็นในที่แห้งและมีอากาศถ่ายเทหลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในที่อับชื้นเช่น ภาชนะปิด หรือ กล่อง หรือ ห้องปรับอากาศ เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดเชื้อ เพียงแค่เริ่มใช้อย่างถูกวิธี เก็บรักษาถูกวิธี ก็ช่วยยืดระยะเวลาการใช้งานของฉะเซ็นคูใจคนรักมัทฉะได้
ที่มา
https://cooking.framethe.me/2019/11/tea-tasting-with-tamayura-tasting-of.html
บทความจาก : Fuwafuwa