Iced Matcha Latte มัทฉะลาเต้เย็น

เปลี่ยนชาเขียวเย็นให้กลายเป็นพรีเมียมมัทฉะลาเต้ เมนูยอดฮิตของร้านที่อร่อยจนต้องบอกต่อ!!

ผงมัทฉะคุณภาพดีจะให้สีเขียวที่สวยงาม เมื่อเทราดลงบนนมสดจะเห็นเป็นชั้นสีเขียวมรกต ค่อยๆซึมลงมาด้านล่างซึ่งวิธีทำก็ไม่ยาก ยิ่งถ้ามีอุปกรณ์ช่วยจะใช้เวลาชงไม่นานเลย เราไปดูวัตถุดิบและวิธีชงกันเลยดีกว่าครับ ^^

อุปกรณ์ช่วยละลาย

วัตถุดิบสำหรับแก้ว 16 Oz.

  1. ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Excellent           3  กรัม (~1.5 ช้อนชา)
  2. น้ำอุ่น                                                40   ml
  3. นมสด                                              150   ml
  4. น้ำเชื่อม                                              10   ml (~2 ช้อนชา)
  5. น้ำแข็ง

ขั้นตอนการชง

1. ละลายผงมัทฉะให้เข้ากับน้ำอุ่น โดยการร่อนผงมัทฉะผ่านกระชอนใส่ถ้วยหรือชาม แล้วค่อยเทน้ำอุ่นตามลงไปแล้วใช้ Chasen หรือเครื่องตีฟองนม ตีให้ผงชาละลายเข้ากับน้ำ แล้วพักเอาไว้

2. เติมน้ำแข็งใส่แก้วอีกใบ

3. เติมน้ำเชื่อมตามความหวานที่ต้องการ

4. เทนมสดลงไป คนให้เข้ากับน้ำเชื่อม

5. ราดมัทฉะที่ละลายน้ำไว้แล้วลงบนนมสดอีกที

หรือสามารถดู VDO วิธีชงได้ที่นี่ครับ ^^

*** ถ้าไม่มีอุปกรณ์ช่วยละลายให้ลองใช้วิธีนี้ดูนะครับ

1. ใส่ผงชาเขียวมัทฉะกับน้ำตาลทรายลงไปในถ้วย
2. เอียงถ้วยแล้วใช้ช้อนบดส่วนผสมให้เกร็ดน้ำตาลไปบดผงชาเขียวมัทฉะ จนแตกตัวไม่จับเป็นก้อน
3. ค่อยๆเติมน้ำอุ่นลงไป เอียงถ้วยแล้วใช้ช้อนบดผงชาเขียวมัทฉะกับข้างถ้วย คนจนละลายหมด

———————————-

MATCHAZUKI – Crafted for matcha lover
“เพราะเราเลือกมัทฉะ อย่างคนที่รักมัทฉะ”⠀⠀
マッチャラブユー

ทำความรู้จักการเพิ่มช็อตชา Matcha Shot

Matcha Shot

เวลาสั่งกาแฟ จะเห็นว่าในเมนูบางร้าน นอกจากเมนูกาแฟปกติ ก็จะมี option เพิ่ม Espresso shot อยู่ในนั้นด้วยเพื่อเอาใจคนชอบดื่มแบบเข้มๆ แต่ถ้าเป็นเมนูชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาโฮจิฉะ หรือชาไทย เราแทบจะไม่เห็นการเพิ่มช็อตชา เพื่อให้ชามีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจริงๆแล้ว ในต่างประเทศมี Option เพิ่มช็อตชา หรือแม้กระทั่งการขาย Matcha shot เหมือนการขาย Espresso shot ก็มีเช่นกัน ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพพสมควรเลยทีเดียว แต่คนไทยจะไม่ค่อยคุ้นชินกับการดื่มชาเป็นช็อตแบบนี้

หากใครเป็นคนที่รักการดื่มชาเขียว จะพอทราบว่าการชงชาเขียวตามแบบฉบับคนญี่ปุ่น จะมีการชงแบบ Usucha และ Koicha  ( ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2RrD29N ) ซึ่งการทำ Matcha Shot ก็เป็นการดื่มที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้คนพยายามหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้ได้ลิ้มรสของชาเขียวเข้มข้น

ซึ่งความน่าสนใจของ Matcha shot คือ อัตราส่วนของน้ำต่อมัทฉะที่ใช้ในการชงนั้นใกล้เคียงกับ Usucha เพราะ Matcha shot ประกอบไปด้วยผงมัทฉะ กับน้ำร้อนเท่านั้น

ผงมัทฉะชนิดใดที่คุณควรใช้ในการทำ Matcha Shot ?

แนะนำเป็นเกรดพิธีการ ( Ceremonial Grade ) เพราะ Matcha shot มีจุดเด่น คือ รสชาติและสีของชา ซึ่งจะมาจากคุณภาพของผงมัทฉะล้วนๆ เพื่อให้ได้ Matcha shot ที่สีเขียวสดใส และ รสขมที่ชัดจากผงมัทฉะเพียวๆ การเสิร์ฟ Matcha shot ตามมาตรฐานคือ

ผงมัทฉะ 1 ช้อนชาหรือ 2 กรัม กับน้ำ 70 – 100 ม.ล. โดยน้ำมีอุณภูมิอยู่ที่ 80 องศาเซลเซียส หากเป็นน้ำที่เพิ่งต้มเดือดๆเลย แนะนำเป็นให้วางทิ้งไว้สัก 5 นาทีเพื่อให้อุณหภูมิน้ำลดลง

how to make Matcha Shot

how to make Matcha Shot2how to make Matcha Shot

หลังจากเทน้ำผสมกับผงมัทฉะแล้วให้ปิดฝาขวดแล้วเขย่าประมาณ 30 วินาที หรือจนกว่าผงมัทฉะจะละลาย เสิร์ฟเป็น Matcha shot ได้เลย แต่ถ้าใครที่ถนัดกับการใช้ฉะเซ็นตี ก็สามารถทำได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Matcha shot อาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเริ่มหัดดื่มชาเขียว เพราะ Matcha shot จะมีความเข้มข้นกว่ามากในช่วงแรกที่ดื่ม ( คล้ายกับดาร์กช็อกโกแลต 70% ) หลังจากนั้นไม่กี่วินาทีความเข้มข้นนั้น จะเปลี่ยนเป็นรสอูมามิที่ค้างอยู่ในคอ และมีรสชาติชาขมๆค้างอยู่ในปาก  หากเพิ่งเริ่มดื่มมัทฉะแนะนำให้ดื่มเป็นมัทฉะลาเต้ หรือเป็นมัทฉะเพียวแบบเย็นจะดื่มง่ายกว่า

Green tea

หากถามว่าการดื่ม Matcha shot กับ Espresso shot แบบไหนได้คาเฟอีนที่มากกว่ากัน สังเกตได้จากปริมาณคาเฟอีนในมัทฉะขึ้นอยู่กับปริมาณผงมัทฉะที่คุณใช้ ผงมัทฉะ 1 ช้อนชาจะมีคาเฟอีนประมาณ 70 มก. ดังนั้น Matcha shot จะมีคาเฟอีนประมาณ 70 มก. หากเปรียบเทียบกับ Espresso shot ในปริมาณที่เท่ากัน Espresso shot จะมีคาเฟอีนอยู่ที่ประมาณ 80 มก.

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง Espresso shot และ Matcha shot  คือ คาเฟอีนใน Matcha shot จะถูกปล่อยออกมาอย่างช้าๆเนื่องจากมีแอล – ธีอะนีน นั่นหมายความว่า แม้ว่าเครื่องดื่ม 2 ชนิดจะมีคาเฟอีน แต่ Espresso จะมีคาเฟอีนอยู่ในร่างกายเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นหากใครที่อยากให้คาเฟอีนอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น เพื่อให้มีสมาธิ และช่วยให้สงบนิ่งมากขึ้น แนะนำเป็นให้ดื่ม Matcha shot แทนจะดีกว่า

Matcha Shot

Matcha shot เป็นเครื่องดื่มชาเขียวที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง จึงแนะนำให้ดื่มทันทีที่ชงเสร็จ เพื่อความสดใหม่ และเพื่อเพิ่มพลังงานได้ในทันทีหลังจากดื่ม จึงเหมาะกับการดื่มในเช้าวันใหม่ หรือเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน หรือจากการนอนไม่เพียงพอ การดื่ม Matcha shot จะช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น เพราะการทำ Matcha shot ถูกดัดแปลงวิธีการชงให้ชงง่ายรวดเร็ว และเพื่อให้ดื่มได้ง่ายๆเพื่อรีบูสความสดชื่นในร่างกาย ทำให้บางคนที่อยากได้คุณค่าทางสารอาหารเต็มๆ

มาเริ่มต้นเช้าวันใหม่ ด้วย Matcha shot อุ่นๆสักแก้ว ดีมั้ยคะ 🙂

Matcha Shot

ที่มา

https://naokimatcha.com/recipes/matcha-shot/

http://hungarianhousewife.com/afternoon-boost-matcha-shot

บทความจาก : Fuwafuwa

10 เรื่องของการปลูกชาเขียวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้

Growing Tea Leaves

ชาเขียวเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวและการเตรียมใบชา ทุกขั้นตอนมีความพิถีพิถัน ซับซ้อนและฝังรากลึกลงไป ซึ่งชาเขียวที่เก็บเกี่ยวในญี่ปุ่นมีรสชาติและคุณค่าทางสารอาหารบางชนิดแตกต่างจากชาประเทศจีนและพื้นที่อื่น ๆ ของโลก และนี่คือ 10 สิ่งเกี่ยวกับชาเขียวญี่ปุ่นที่คุณ (อาจ) ไม่รู้

  1. การเก็บเกี่ยวครั้งแรกแห่งปี ใบชาจะมีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นที่ต้องการมากที่สุด การเก็บเกี่ยวครั้งแรก เริ่มในเดือนพฤษภาคมและกินเวลาหลายสัปดาห์จนถึงเดือนมิถุนายน การเก็บเกี่ยวนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าผลิตใบชาเขียวที่มีคุณภาพสูงสุดโดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเจริญเติบโตที่ช้าในช่วงเดือนที่หนาวเย็นทำให้ใบมีสารอาหารหนาแน่นส่งผลให้มีรสชาติดีขึ้น ใบไม้ที่เก็บในช่วงฤดูใบไม้ผลิจึงมีปริมาณแอล-ธีอะนีนมากถึงสามเท่าของปริมาณที่ผลิตในการเก็บเกี่ยวในภายหลัง ใบชาล็อตแรกนี้จึงมีรสหวานและรสละมุน
  1. การเก็บเกี่ยวครั้งที่สองของปีในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ช่วงที่อากาศร้อนมาก เพราะเป็นฤดูร้อนทำให้การเก็บเกี่ยวเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งใบชาช่วงนี้ก็จะเติบโตเร็วและมีคุณภาพต่ำลง รสขมมากขึ้น ทำให้ต้องใช้การบริหารจัดการทั้งพนักงานและการควบคุมการเก็บเกี่ยวอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  1. KANREISHA CURTAIN หรือม่านสีดำที่นิยมใช้คลุมดิน สามารถเอามาใช้เพื่อปกป้องต้นชาจากแสงแดดได้โดยตรง ประมาณหนึ่งเดือนก่อนการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งต้นชาจะถูกปกคลุมด้วยม่านเพื่อจำกัดปริมาณแสงแดด ไม่ให้โดนต้นชาโดยตรง ซึ่งผ้าม่านที่ใช้ในญี่ปุ่นมี 2 ประเภท คือ การใช้ผ้าคลุมต้นไม้โดยตรงและการใช้แบบกันสาดเพื่อบังแสงแดด แต่ละไร่ชาจะมีการใช้ที่แตกต่างกันไป บางแห่งใช้ทั้ง 2 แบบเลย ต้นชาที่ถูกคลุมด้วยม่านดังกล่าว ก่อนการเก็บเกี่ยว จะช่วยให้ชาเกิดรสหวาน

Growing Tea Leaves

  1. ใบชาทุกใบจะได้รับการคัดจากคนเก็บใบชาที่ผ่านการคัดอย่างพิถีพิถัน หากเทียบกันแล้วใบชาที่คัดด้วยเครื่องจะได้คุณภาพไม่สูงเท่าที่หยิบด้วยมือ ใบชาที่หยิบด้วยมือ รสชาติจะกลมกล่อมและมีกลิ่นหอมที่ละเอียดอ่อนกว่า ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดในการเลือกใบคือ เมื่อมีต้นอ่อนตั้งแต่สามถึงห้าต้นและใบมีขนาดที่เหมาะสมพอดี การเก็บเกี่ยวเร็วเกินไปหมายถึงผลผลิตที่น้อยลง การเก็บเกี่ยวช้าเกินไปส่งผลต่อคุณภาพของชา แม้แต่วันเดียวก็สามารถสร้างความแตกต่างและส่งผลให้ใบขมได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเลือกเก็บใบชาในเวลาที่เหมาะสม และต้องหยิบอย่างรวดเร็วทั้งหมดในคราวเดียว ดังนั้นคนงานแต่ละคนต้องใช้ประสบการณ์ในการถอนใบอย่างรวดเร็ว และประณีต
  1. จริงๆแล้วญี่ปุ่นผลิตชาได้น้อยกว่าประเทศอื่น แม้จะมีวัฒนธรรมชาเขียวที่เด่นชัด แต่ญี่ปุ่นสามารถผลิตชาเขียวเพียง 7% ของโลกเท่านั้น ส่วนใหญ่บริโภคในญี่ปุ่นและมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ คนญี่ปุ่นบริโภคชา 95% ของการผลิตชาทั้งหมดในประเทศ จึงมีเพียง 5% เท่านั้นที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ
  1. วิธีที่นิยมมากที่สุดในการเก็บใบชายังคงเป็นการใช้ตะกร้าไม้แบบดั้งเดิม แม้จะมีเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาใช้กันแพร่หลาย แต่ตะกร้าไม้แบบดั้งเดิมยังคงใช้เก็บชาอยู่

Growing Tea LeavesGreen tea

  1. ในฤดูใบไม้ร่วงคนงานไร่ชาจะเริ่มเตรียมฟาร์มสำหรับการเก็บเกี่ยวในปีหน้าแล้ว ต้นชาเขียวจะถูกตัดแต่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน การตัดแต่งกิ่งในขั้นตอนนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าต้นอ่อนของใบแก่จะไม่ปะปนและลดการเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิของปีถัดไป การละเลยไม่ตัดแต่งกิ่งในเวลาที่ถูกต้องจะเป็นอันตรายต่อต้นชาและอาจส่งผลให้ต้นชาไม่แข็งแรงก็เป็นได้ ดังนั้นช่วงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง จึงต้องเสริมสร้างดิน ปรับค่า pH ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  1. มีการท่องเที่ยวเพื่อการเก็บเกี่ยวชา Obubu เป็นภาษาเกียวโต เป็นคำเรียกชาเขียวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในชาที่แพงที่สุดในญี่ปุ่นโดยมีราคาประมาณ 14,000 เยนต่อกิโลกรัม เป็นเวลากว่า 800 ปีที่ฟาร์มในจังหวัดเกียวโตในชนบทได้เติบโตขึ้นและได้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยว หรือบุคคลทั่วไปสามารถช่วยเข้าไปเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว โดยจะเริ่มต้นด้วยการเที่ยวชมฟาร์มยามเช้าและโอกาสในการเลือกใบชาของคุณเอง เจ้าหน้าที่จะแสดงวิธีเก็บใบชาและนักท่องเที่ยวจะได้รับตะกร้าไม้แบบดั้งเดิม เพื่อเก็บใบชา ซึ่งใบชาที่เก็บมาก็สามารถนำไปส่งแปรรูป หรือส่งไปคั่วเพื่อให้พร้อมเสิร์ฟเป็นเครื่องดื่มชาจากใบที่คุณเก็บสำหรับถ้วยโอชารสเลิศ
  1. ต้นชาเขียวต้องการการดูแลเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว ฟางใบไม้แห้งและแกลบไม้ไผ่จะถูกปูไว้ข้างต้นไม้เพื่อช่วยให้ความอบอุ่นในช่วงเดือนที่หนาวเย็นและมีหิมะตก ทำหน้าที่เป็นปุ๋ยและช่วยให้ดินมีความชื้นในปริมาณที่เหมาะสม เพราะต้นไม้หลายชนิดมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคและตายในช่วงฤดูหนาว ดังนั้นจึงต้องดูแลต้นชาอย่างดีเพื่อให้พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป

Green tea Green tea

  1. การเก็บเกี่ยวในญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกับเทคนิคที่ใช้ในจีน เพราะญี่ปุ่นเลือกเก็บบางใบในช่วงเวลาต่างๆของปีในขณะที่จีนมักจะรวบรวมใบไม้ทั้งหมดในคราวเดียว

ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวใบชาเป็นงานที่ซับซ้อนซึ่งใช้เวลาตลอดทั้งปี ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย เกษตรกรในญี่ปุ่นทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อผลิตชาคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้ชาที่รสชาติดีที่สุด

ที่มา

https://www.japanesegreenteain.com/blogs/green-tea-and-health/harvesting-green-tea-in-japan-10-surprising-harvesting-things-you-didnt-know

บทความจาก : Fuwafuwa

5 ข้อผิดพลาดในการชงมัทฉะที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด

ผงมัทฉะเป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างพิถีพิถัน ตั้งแต่กระบวนการผลิตตลอดจนการใช้และเก็บรักษา เพราะหากปล่อยให้โดนแสง หรือ อากาศนานเกินไปมันจะเกิดการออกซิไดซ์และเสียรสชาติ หรือตอนชงใช้อุณหภูมิของน้ำที่ไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เกิดรสขมได้ มาดูกันว่า “5 ข้อผิดพลาดในการชงมัทฉะที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด” มีอะไรบ้าง

matcha

  1. ใช้อุณหภูมิของน้ำที่ไม่ถูกต้องสำหรับมัทฉะ คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้น้ำเดือดเพื่อชงชา เพราะกลัวว่าผงมัทฉะจะไม่ละลาย แต่นี่คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุด เพราะน้ำเดือดจะทำให้มัทฉะมีรสขม เพราะในชาเขียวเป็นชาที่มีปริมาณกรดอะมิโนสูง อุณหภูมิของน้ำที่ดีที่สุดสำหรับมัทฉะคือ ใช้น้ำ 80-85 องศาเซลเซียส หากชงด้วยน้ำเดือด 100 องศา ชาจะขับสารแคทิซีนออกมาเป็นจำนวนมากส่งผลให้ชามีรสขม และประเภทน้ำที่ใช้ในการชงชา ควรเป็นน้ำที่มีค่าเป็นกลาง (PH7) ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำแร่แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติมเรื่องประเภทของน้ำและอุณหภูมิที่เหมาะกับการชงน้ำชาที่ shorturl.at/vyMW7 และ shorturl.at/bBL38

tea utensils

  1. ใส่ผงมัทฉะมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ที่ญี่ปุ่นเราจะใช้ช้อนไม้ไผ่ หรือที่เรียกว่า chashuku ในการตกผงมัทฉะ เป็นอุปกรณ์ในพิธีชงชาแบบเก่าแก่ แต่ช่วยให้ได้ปริมาตรที่เหมาะสม โดย chashaku 1 ช้อนเท่ากับค่าเสิร์ฟตามมาตรฐานที่ครึ่งช้อนชา ตามมาตรฐานการชงชา จะใช้ 2 chashuku ซึ่งเท่ากับ 1 ช้อนชา ถึงแม้ว่าปริมาณ 1 ช้อนชาจะดูเป็นปริมาณที่น้อยมาก บางคนจะคิดว่าต้องได้รสชาติที่ไม่เข้มข้น จึงตักเพิ่มไปอีก แต่จริงๆแล้วการชงมัทฉะด้วยปริมาณ 1 ช้อนชาลงในน้ำน้อยกว่า 6 ออนซ์จะทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นทีเดียว อย่างไรก็ตามหากเป็นคนที่ไม่ชอบความเข้มข้นมากนัก แนะนำให้ชงแบบ USUCHA ของญี่ปุ่นแทน (ชาบาง ๆ )

matcha powder

  1. ใช้มัทฉะผิดประเภท คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการจัดประเภทผงมัทฉะ 2 อย่างคือ เกรด “Ceremonial” และเกรด “สำหรับชงเครื่องดื่มและทำอาหารทั่วไป” ซึ่งแท้จริงแล้วผงชายังมีการแบ่งเกรดได้มากกว่านั้น โดยเราควรเลือกก่อนว่าเราควรใช้ผงมัทฉะชนิดนั้นๆสำหรับทำอะไร เครื่องดื่มหรือขนมที่เราทำนั้นต้องการให้ออกมาเป็นแบบไหนมากกว่า อย่างผงมัทฉะเกรด Ceremonial เกรดที่ใช้สำหรับพิธีชงชา ที่เกิดจากการคัดเลือกเฉพาะยอดชา 3 ใบแรก ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุด จากแหล่งปลูกชาชั้นเยี่ยมในเขต Uji, Kyoto (宇治市) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกชาชั้นดี คุณภาพสูง ผ่านประสบการณ์การปลูกชามายาวนานกว่า 800 ปี และนำใบชามาบดละเอียดด้วยโม่หินเพื่อให้ได้ผงมัทฉะเนื้อเนียนละเอียด สีเขียวสว่างมรกต และรสชาติเข้มข้นกลมกล่อม จะเหมาะสำหรับการชงแบบบาง (Usucha) มากกว่านำไปทำขนม หากต้องการ รสชาติหอม กลมกล่อม ได้สีเขียวอ่อน ติดรสขมนิดๆ เกรดนี้เหมาะสำหรับการนำมาผสมเครื่องดื่มอื่นๆเช่น มัทฉะลาเต้ หรือ นำไปทำขนม เป็นต้น หากไม่แน่ใจว่าเมนูที่ร้านควรใช้ผงมัทฉะแบบไหน ควรปรึกษาผู้ขายผงมัทฉะก่อนจะดีที่สุด

matcha green tea

  1. ผสมมัทฉะผิดวิธี ด้วยความที่ผงมัทฉะไม่สามารถละลายน้ำได้ง่ายๆด้วยการเทน้ำร้อนใส่แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้ละลายเอง แต่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างฉะเซ็น แปรงไม้ไผ่ที่ต้องตีผงมัทฉะจนละลายไปกับน้ำก่อน ถึงจะเอาไปเทผสมกับนม หรือส่วนผสมอื่นได้ ดังนั้นหากใส่นม หรือไซรัปลงไปในผงมัทฉะแล้วคนให้ละลายพร้อมกันเลย จะทำให้การทำละลายทำได้ยากขึ้น ดังนั้นหากต้องการชงเครื่องดื่มจากผงมัทฉะ จึงควรทำละลายผงมัทฉะกับน้ำร้อนก่อน แม้ไม่มีฉะเซ็น ก็สามารถทำได้โดยผสมมัทฉะกับน้ำในขวดน้ำ หรอื shaker ปิดขวดและเขย่าขวดแรงๆสักครู่จนเข้ากัน หรือใช้เครื่องตีฟองแทนก็ได้เช่นกัน

tea plantation

  1. การจัดเก็บมัทฉะผิดวิธี ผงมัทฉะค่อนข้างบอบบางและสามารถเกิดการออกซิไดซ์ได้อย่างรวดเร็วหากทิ้งไว้ในที่โล่งซึ่งจะทำให้มัทฉะเสียรสและกลิ่น รวมถึงสีที่ซีดลง ดังนั้นเพื่อรักษารสชาติที่ละเอียดอ่อน และคงคุณภาพของสีที่เขียวตามธรรมชาตินั้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับผงมัทฉะมากขึ้น โดยเก็บมัทฉะของคุณให้ห่างจากความร้อน ห่างจากอากาศที่มีความชื้นและแสงแดด ควรเก็บมัทฉะไว้ในตู้เย็น ช่วยให้มัทฉะสดใหม่ได้นานถึง 6 เดือน หรือดูเพิ่มเติมถึงวิธีการเก็บได้ที่ shorturl.at/bzIO8

ที่มา

https://tea-ceremony-kyoto.com/tea-ceremony-blog/

https://naokimatcha.com/articles/5-common-matcha-errors/

บทความจาก : Fuwafuwa

How to take care of your teaware

หากพูดถึงการชงมัทฉะแล้ว อุปกรณ์ที่ต้องนึกถึง คงหนีไม่พ้น ฉะเซ็น ช้อนไม้ไผ่ ฉะชะคุ หรือ แท่นวางฉะเซ็น ซึ่งวิธีใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าว สามารถศึกษาได้จากในเว็บไซต์มากมาย แต่การใช้งานอุปกรณ์ที่ถูกต้อง จำเป็นต้องมีการเก็บรักษาที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน มาดูกันว่าอุปกรณ์ชงชาแต่ละชนิด ควรเก็บรักษายังไงบ้าง

เริ่มจาก การเก็บรักษาฉะเซ็น (Chasen) หรือแปรงชงชาอุปกรณ์สำคัญที่สุดในการชงชา หลังจากใช้งานเสร็จ ควรนำไปแกว่งในน้ำอุ่น โดยเน้น แกว่งเฉพาะส่วนที่สัมผัสกับมัทฉะ ไม่ต้องเอาไปล้างน้ำทั้งอัน พอแกว่งเสร็จสักสองน้ำก็นำมาตั้งไว้ให้แห้ง ถ้าใครมีที่พักฉะเซ็น แนะนำให้เอาไปเสียบไว้ รอให้แห้ง จะดีกว่า เพราะที่พักฉะเซ็นนี้มีข้อดีคือ น้ำไม่ไหลเข้าส่วนที่เป็นที่จับ แล้วก็ช่วยรักษารูปทรงของฉะเซ็น หลังจากฉะเซ็นต์แห้งให้เก็บไว้ในกล่อง หรือในที่ๆอุณหภูมิพอดี ไม่ร้อน ไม่เย็น อากาศถ่ายเทได้สะดวก และที่สำคัญต้องไม่ชื้นและแห้งจนเกินไป เพราะถ้าร้อน หรือแห้งมาก ไม้ไผ่จะกรอบและหักง่าย และควรระวังเรื่องความชื้นนิดนึง ไม่งั้นไม้ไผ่จะขึ้นราเอาได้ครับ ส่วนที่พักฉะเซ็นเซรามิคที่ช่วยให้ฉะเซ็นแห้งเร็ว และยังรักษาทรงไม้ไผ่ ป้องกันการขึ้นรา แค่เพียงค่อยสังเกตว่าเลอะเป็นคราบบางหรือไม่ ถ้าเลอะก็เพียงล้างและ พึ่งให้แห้งเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้เลอะอะไรมาก แต่หากใช้งานนานๆ ก็ไม่ควรละเลยที่จะคอยสอดส่องว่ายังสภาพดีเหมาะกับการใช้งานหรือไม่

ส่วนฉะชะขุ หรือช้อนไม้ไผ่มีวิธีเก็บรักษาที่ง่ายมากๆ เพียงแค่ หลังจากใช้ตักมัทฉะแล้ว “ห้ามล้าง” หรือ “ห้ามโดนน้ำ” เด็ดขาด เพราะว่า ฉะชะขุ คือ อุปกรณ์ที่สัมผัสกับมัทฉะโดยตรง หากนำไปล้าง ฉะชะขุจะมีความชื้น เวลานำไปตักมัทฉะ ความชื้นก็จะวิ่งไปหามัทฉะที่อยู่ในภาชนะเก็บ ทำให้มัทฉะจับตัวกันเป็นก้อนนั่นเอง อีกทั้งการล้างฉะชะขุบ่อยๆ จะทำให้ไม้ไผ่เสียทรง และเก่าเร็วขึ้น จึงแนะนำเป็นใช้กระดาษทิชชู่แห้งๆ ค่อยๆเช็ดผงมัทฉะออก แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

Chawan หรือถ้วยชงชา หลังจากใช้แล้วให้ล้างออกด้วยน้ำเบาๆ ไม่แนะนำให้ล้างด้วยเครื่องล้างจานหรือเครื่องอบผ้า และไม่ควรใช้สก็อตไบร์ถูถ้วยแรงจนเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้นำยาล้างจาน ควรใช้แบบออร์แกนิคที่กลิ่นไม่แรงนัก หลังจากล้างแล้วไม่แนะนำให้วางไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเช่น ไมโครเวฟ เตาอบ หรือเตา แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ Chawan มีไว้เพื่อใช้สำหรับชงชามัทฉะเท่านั้น ไม่ควรนำไปใช้ปนกับการใส่อย่างอื่น มิฉะนั้นอาจจะติดกลิ่นได้

ยังมีอุปกรณ์บางชนิดที่ก่อนใช้ครั้งแรกให้ล้างออกด้วยน้ำร้อนแล้วปล่อยให้แห้งสนิทก่อน นั่นคือ กาน้ำชาเซรามิก ซึ่งหลังจากใช้งานแล้วก็ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องล้างจาน เครื่องอบผ้ าหรือสบู่ล้างจาน ส่วนบริเวณที่กรองในตัวให้รีดน้ำออกจากพวยกา ใช้แปรงสีฟันหรือไม้จิ้มฟันเพื่อนำใบชาที่ติดอยู่ในกระชอนออก หลังใช้งานควรปล่อยให้แห้งสนิทเสมอเพราะหากเก็บไว้ในขณะที่ยังเปียกอยู่อาจทำให้เกิดกลิ่นอับชื้นหรือเชื้อราได้

ที่มา

https://www.worldmarket.com/product/matcha-bowl-and-whisk-tea-gift-sets-set-of-2.do

thediscoverer.com

fitteaandsushi.blogspot.com

บทความจาก : Fuwafuwa

Tea pairing จับคู่ชากับอาหารอะไรดี

เป็นที่ทราบกันดีว่า ชาเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่จะช่วยเพิ่มและดึงกลิ่นและรสชาติที่ละเอียดอ่อนของอาหารหลายประเภทออกมาได้ เช่นเดียวกับไวน์ ที่พวกเราจะคุ้นเคยกับกฎพื้นฐานที่ว่า ไวน์แดง จะเสิร์ฟกับอาหารที่มีเนื้อแดง ส่วนไวน์ขาวเสิร์ฟพร้อมกับเนื้อปลาและอาหารมังสวิรัติ ดังนั้นการเรียนรู้ว่า ชาชนิดใดสามารถเติมเต็มรสชาติของอาหารได้บ้าง จึงเป็นศาสตร์ที่คนรักชาควรศึกษาเพิ่มเติมไว้เพื่อช่วยให้รสชาติชาเขียวทำให้เมนูอื่นๆในร้านอร่อยมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

Tea pairing

ชาแต่ละชนิดก็จับคู่กับอาหารอะไรเพื่อช่วยดึงรสชาติได้แตกต่างกัน เช่น ชาดำที่มีกลิ่นรสที่ strong และค่อนข้างเข้มข้นไปจนถึงขม ซึ่งมีความคล้ายกับความ Full-bodied ของไวน์แดง จับคู่ได้ดีกับอาหารเนื้อแน่น รสชาติหนักๆ พวกเนื้อย่าง (วัว, แกะ) พาสต้าเนื้อแน่นอย่างลาซานญ่า ชาขาวรสชาติเบาๆ ควรจับคู่กับอาหารที่เบามากเช่น ปลาเนื้อขาวเช่น ปลากะพงหรือชีสอ่อน ๆ ส่วนชาอู่หลงจะแตกต่างกันออกไป จะเข้ากันได้ดีกับของหวาน ผลไม้ ชีส และเนื้อสัตว์รมควัน แต่ถ้าเป็นชา Earl Grey จะเหมาะกับผลไม้และขนมหวาน เค้ก และดาร์กช็อกโกแลต

จะเห็นว่า ชา นอกจากจะสามารถเพิ่มรสชาติของอาหารบนจานของคุณได้อย่างแท้จริง ในทางกลับกันการจับคู่ผิดก็อาจจะทำให้อาหารและชามื้อนั้นรสชาติแย่ไปเลยก็มี มาดูกันว่าชาเขียว เหมาะกับการจับคู่กับอาหารชนิดใดบ้าง

  1. อาหารญี่ปุ่นและชาเขียว ถือเป็นส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพและเข้ากันที่สุด

อาหารของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยซา ชิมิ ข้าวปั้น ราเมง อาหรกลุ่มนี้จะเข้ากันได้ดีกับชาเขียว โดยเฉพาะเซนฉะที่มีความสมดุลของความเป็นกรดและความหวานที่เข้ากันได้ดีกับรสชาติของอาหารญี่ปุ่นนั่นเอง

  1. อาหารซีฟู้ด ชาเขียวโดยเฉพาะเซนฉะจะเข้ากันได้ดีกับอาหารทะเล เพราะช่วยเพิ่มรสชาติของกันและกัน ซึ่งส่งผลให้เกิดการผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ในปากและทิ้งรสขมเล็กน้อยที่ค้างอยู่ในปากซึ่งทำให้ต้องการอาหารซีฟู้ดมากขึ้น
  2. ขนมที่ใช้ช็อคโกแลต ช็อคโกแลตมีโกโก้ซึ่งให้รสขม หรือจะเป็นดาร์กช็อกโกแลตที่มีโกโก้มากกว่าเมื่อเทียบกับช็อคโกแลตอื่นๆ ทำให้มีรสขมอย่างเข้มข้น หากจับคู่กับชาเขียวที่ผสมผลไม้ จะได้รสชาติที่ลงตัวจากความขมของโกโก้และความหวานจากชาเขียว หากต้องการทานช็อคโกแลตประเภทหวานๆ เช่น ช็อกโกแลตนม ชาเขียวก็เป็นคู่ที่ดี เพราะรสขมเล็กน้อยของชาเขียวจะช่วยเพิ่มรสหวานของช็อกโกแลต
  3. ไก่ทอดรสชาติที่ได้จากชาเขียวจะเข้ากันได้ดีกับไก่ทอด เพราะชาเขียวจะช่วยลดอาการปากมันเยิ้มที่ได้จากการกินไก่ทอด
  4. ขนมปังโฮลวีตและชาเขียวเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีเยี่ยมและสามารถทำเป็นอาหารเช้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้การจับคู่นี้สามารถกระตุ้นการเผาผลาญได้เป็นอย่างดี

จะเห็นว่าชาเขียวเป็นเครื่องดื่มสารพัดประโยชน์ที่สามารถจับคู่กับอาหารได้เกือบทุกชนิด การทานชาแต่ละชนิดกับอาหารแต่ละอย่างจึงมีรสชาติแตกต่างกันไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลด้วย หากร้านชาไหนที่ไม่มีเมนูของคาวทาานคู่ชาแล้ว ลองดูส่วนผสมอื่นที่มาผสมกับชาเขียวแก้วโปรดของคุณให้ได้รสชาติที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งไปกว่านั้นชาเขียวมัทฉะของญี่ปุ่นมักจะมีกลิ่นหอมของแอปเปิ้ลและดอกกุหลาบที่เด่นชัดมากขึ้นเมื่อผสมกับกลิ่นหอมของแตงกวาสีเขียวบางชนิด บางคนผสมกับตะไคร้ ขิง หญ้าฝรั่น แอปเปิ้ล สับปะรด แอปริคอท มะเขือเทศ หรือเหล้ารัม ก็ให้รสชาติที่แตกต่างออกไป เพราะชาเขียวจับคู่กับอะไรก็อร่อย ^^

ที่มา

https://www.teavivre.com/info/how-to-pair-tea-and-food.html

https://www.pinterest.com/pin/100768110397035818/

https://www.letempsduthe.fr

https://www.japanesegreenteain.com

บทความจาก : Fuwafuwa

ชาเขียวใส่นม ดื่มแล้วไม่ดีต่อสุขภาพจริงมั้ย?

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าประโยชน์สูงสุดของการดื่มชาเขียว คือ ต้องดื่มแบบเพียวๆ ไม่ใส่นม น้ำตาล แต่ก็ใช่ว่าการใส่นมลงไป จะทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารของชาไปทั้งหมด เพราะนมก็มีหลายประเภท ทั้งนมสด นมผง นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ แต่ละชนิดก็ให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป หากคุณต้องการได้รับประโยชน์สูงสุด การดื่มชาเขียวใส่นม จะทำให้คุณประโยชน์ของชาลดลงเท่านั้น แต่จะไม่สามารถขจัดประโยชน์ทั้งหมดได้

ประโยชน์ต่อสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาเขียว คือ ประโยชน์จากคาเทชินซึ่งดีต่อหัวใจการไหลเวียนของเลือด คาเทชินเป็นอาวุธสำคัญของธรรมชาติที่เข้าไปทำหน้าที่ป้องกันการเกิดอนุมูล อิสระ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในร่างกาย ชะลอความเสื่อมของร่างกายและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย ซึ่งในนมจะมีโปรตีนที่พบ เรียกว่า เคซีน ตัวนี้จะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับคาเทชินและลดประโยชน์ต่อสุขภาพ เพียงแค่ลดประโยชน์ที่ดีลง แต่ไม่ได้ผลิตสารเคมีที่ไม่ดีต่อร่างกาย

Soy Milk Soy Milk

ดังนั้น หากจะช่วยเพิ่มประโยชน์ในการดื่มชาเขียวลาเต้แก้วโปรดของคุณ มีทางเลือกอีกมากมายในการใส่นมลงไป เช่น การเลือกนมถั่วเหลืองแทนนมวัว นมถั่วเหลืองมีเลซิตินซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลที่แตกต่างจากเคซีนดังนั้นคุณจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากคาเทชิน เพียงแค่รสชาติจะแตกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น และยังเป็นทางเลือกสำหรับคนที่แพ้นมวัวอีกด้วย แต่ถ้าาใครไม่ชอบนมถั่วเหลือง ก็ยังมีนมถั่วพิตาชิโอ้ และนมอัลมอนด์ ที่มีคุณค่าทางสารอาหารไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ตามสามารถเพลิดเพลินกับการดื่มชาเขียวได้เหมือนเดิม แทนนิน กรดแกลลิก และคาเฟอีน คุณประโยชน์ในชายังคงทำหน้าที่ได้ดีตามปกติเมื่อคุณดื่มชาเขียวใส่นม

Milk

ข้อควรระวังสำหรับการดื่มชาเขียวใส่นมโดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านที่ขายเครื่องดื่มชาเขียวในราคาถูกมากๆ อาจจะมีการใช้นมผง แทนนมสด จริงๆแล้วนมผง เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกใหม่ๆที่เก็บรักษาง่ายเพราะเป็นผงไม่ต้องแช่เย็น แต่บางร้านไม่ได้ใช้นมผงแท้ๆ ราคาจึงถูกกว่านมผงทั่วไปก็มีพบได้ในตลาดทุกวันนี้

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านเครื่องดื่มชา กาแฟ นอกจากการเลือกผงมัทฉะที่เป็นองค์ประกอบหลักในการชงเครื่องดื่มแล้ว อย่าลืมที่จะทำความรู้จักกับนม ที่เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญด้วย

อย่างนมสดพาสเจอร์ไรซ์ นิยมบรรจุในขวดพาสติก แบบขุ่น กล่องกระดาษ หรือถุงพลาสติก โดยวางจำหน่ายในตู้เย็น หรือ ตู้แช่ ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้นมเสีย เป็นนมที่มีคุณค่า ทางอาหารใกล้เคียงกับนมโคสดมากที่สุด นมประเภทนี้จึงเหมาะกับร้านขายเครื่องดื่มอย่างน้ำชา กาแฟมากที่สุด เพราะหาซื้อง่าย และสะดวก ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็จะมีความหอม อร่อยที่ต่างกันออกไป และเป็นนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ข้อจำกัดของนมชนิดนี้คือ ต้องเก็บเเช่เย็นไว้ตลอดเวลา เมื่อเปิดแล้วต้องใช้ให้ หมดภายใน 2 วัน มิฉะนั้น นมอาจเสียได้

ดังนั้นบางร้านที่ไม่สะดวกใช้นมสด ก็อาจจะใช้นม UHT น้ำนมสดที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนที่สูงมากแต่ใช้เวลาสั้นมากจึงทำให้น้ำนมยังมีกลิ่นและรสที่ดี ไม่มีกลิ่นเป็นนมต้ม (ไหม้) เหมือนนมสดสเตอร์ไรซ์ รสชาติ ความสด อร่อยน้อยกว่า เมื่อเทียบกับนมพาสเจอร์ไรซ์ แต่ก็ยังได้รสชาติที่ดีกว่านมผงนั่นเอง เพราาะนมผง เป็นกระบวนการถนอมรักษานมสด โดยการทำให้เป็นผงแห้ง การแปรรูปเป็นผงโดยการระเหยน้ำส่วนใหญ่ออกจากน้ำนมสด ทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งเป็นผง มีน้ำหนักเบา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและเก็บได้นาน

Milk

หากใครที่ไม่รู้จะเลือกใช้นมแบบไหนดี แนะนำให้คำนึงถึงก่อนว่า นมประเภทที่จะใช้ หาซื้อได้ง่ายไหม / สูตรการชงของร้านเป็นอย่างไร และราคา ต้นทุน เมื่อรวมกันแล้วได้กำไรต่อแก้วละเท่าไหร่

ไม่จำเป็นจะต้องสต็อกนมไว้มาก เพราะต้นทุนไม่สูง นอกจากนมที่ไว้ใส่ในชาแล้ว อย่าลืมคิดต้นทุนนมเผื่อนมที่ไว้ตีฟองนมทำเป็นท็อปปิ้งด้วย หากใช้นมประเภทเดียวกันได้ ก็ถือเป็นการประหยัดต้นทุนได้อีกทาง

ที่มา

https://www.japanesegreenteain.com

https://500px.com/photo/270154585/Iced-matcha-latte-with-milk-pouring-fron-pitcher-in-glass-by-Anna-Ivanova/

https://zibafoods.com/cold-pistachio-milk-with-cardamom-and-rosewater/

http://www.maki.vn/organic-vegan-milk

https://www.alphafoodie.com/simple-homemade-soy-milk-recipe/

บทความจาก : Fuwafuwa

ข้อควรระวังในการดื่มชา ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้

หลายคนคงทราบกันอยู่แล้วว่า การดื่มชามีประโยชน์มากมาย แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าการดื่มชามากจนเกินไปจะมีผลเสียต่อร่างกายพอสมควรเลยทีเดียว

1. การดื่มน้ำชาไม่ว่าจะชาร้อนหรือชาแช่เย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมสด นมข้นหรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา ทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการดื่มชาเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วนๆไม่ควรปรุงแต่ง นอกจากจะได้สารอาหารที่ครบถ้วนแล้วยังไม่อ้วนจากน้ำตาลที่ปรุงแต่งเข้าไปด้วย

2. ใบชายังมีองค์ประกอบของฟลูออไรด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และสูงกว่าปริมาณในน้ำประปา หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน (Osteofluorosis) โรคข้อ และโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับกระดูก และยังทำให้ฟันเกิดคราบเหลืองได้ ยิ้มฟันขาวๆจะหายไป แต่ผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องกังวล



3. หลีกเลี่ยงชาที่มีส่วนผสมของคอมเฟรย์ (comfrey) ซึ่งมีสารไพโรลิซิดีน อัลคาลอยด์ อันอาจเป็นอันตรายต่อตับ ในบางประเทษดอกคอมเฟรย์เป็นเรื่องต้องห้ามเลย

4. สารออกซาเรท (oxalate) ในชาที่มีอยู่ในปริมาณน้อย แต่หากผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชามากจนเกินไปและดื่มบ่อยๆเป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ อาจส่งผลต่อการทำลายไตได้

5. ใบชามีคาเฟอีนในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากน้ำชาจะช่วยลดการดูดซึมของคาแฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมากคาเฟอีน แต่ก็ส่งผลต่อการนอนเช่นเดียวกับกาแฟ ดังนั้นไม่ควรดื่มภายในสามชั่วโมงก่อนเข้านอน

6. สารแทนนินที่มีอยู่ในชาเขียวซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการท้องผูก เพราะสารตัวนี้ทำหน้าที่ยับยั้งการดูดซึมสารอาหารสำคัญอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน เหล็กและโฟลิก เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันปัญหาท้องผูกตามมา แนะนำให้คุณหันมาดื่มชาเขียวแต่เพียงในปริมาณพอดี โดยดื่มวันละไม่ควรเกินกว่า 5 แก้ว ร่วมกับการดื่มน้ำให้มากๆ และกินอาหารที่มีกากใยสูง ก็จะช่วยปรับระบบขับถ่ายให้ทำงานคล่องตัวขึ้นได้แล้ว ดังนั้นจึงมักจะมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มน้ำชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

7. สารคาเทคชินส์ (Catechins) ที่อยู่ในชา จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด คงเหลือแต่ความหอมและรสชาติ ถ้าต้องการดื่มชาร้อนๆ ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น เช่นเดียวกับคนจีน ที่นิยมชงชาจีนรสเข้มข้นในถ้วยชาใบจิ๋วคล้ายกับการดื่มกาแฟเอ็กซ์เพรซโซ่ ความเข้มข้นของใบชาจะทำให้มีปริมาณสารคาเทคชินส์ที่เข้มข้น และแม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไปบางส่วนเมื่อโดนความร้อนจากน้ำร้อน แต่จะยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง


ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวหรือชาชนิดใดก็ตาม ควรดื่มในปริมาณ และเวลาที่เหมาะสมเพื่อบำรุงร่างกายจะดีกว่าการดื่มที่มากเกินไป ^^

ที่มา

https://bit.ly/3a3MFi2

https://www.ful-filled.com/2018/01/23/all-about-matcha/

https://health.mthai.com/howto/health-care/12777.html

https://mommypotamus.com/comfrey/

By : Contrary To Popular Belief

Share on facebook
Share on twitter

Related Blogs

พูดถึงมัทฉะ ทำไมต้องเป็นอุจิมัทฉะ

ในญี่ปุ่น สินค้าที่เรียงรายในซุปเปอร์มาเก็ต ขนมในร้านขนมต่างๆ ที่ใช้มัทฉะเป็นส่วนผสม ไม่ว่าที่ไหนต่างก็พยายามโฆษณาว่าใช้อุจิมัทฉะทั้งนั้น หมู่นี้ในไทยเองก็คงเริ่มคุ้นเคยกับชื่อ “อุจิ” บ้างแล้ว สงสัยกันบ้างไหมครับ ว่าทำไมถึงต้องเป็นอุจิมัทฉะ ไม่ใช่มัทฉะที่อื่น

  1. นิยามของอุจิมัทฉะ

“อุจิ” คือชื่อเมืองหนึ่งในจังหวัดเกียวโต รากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่นี่มากว่าพันปี เห็นได้จากมรดกโลกอย่างวัดเบียวโดอิน รวมถึงเป็นแหล่งของผู้ผลิตชาในญี่ปุ่นด้วย เมื่อคริสตศตวรรษที่ 12 สมัยราชวงศ์ซ่งของจีน ตอนที่พระภิกษุเอไซนำชาและโม่บดจากจีนมายังญี่ปุ่นครั้งแรก ก็นำมายังเกียวโต กล่าวได้ว่าชาชนิดแรกที่ดื่มกันในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็คือมัทฉะนี้เอง ขณะที่จีนได้เลิกวิธีดื่มโบราณนี้และกลายมาเป็นวิธีสกัดร้อน เอาน้ำชาออกจากใบชาอย่างปัจจุบัน

แต่ว่า ความจริงแล้ว ชาอุจิในปัจจุบันไม่ได้ปลูกในเมืองอุจิอย่างเดียวหรอกนะครับ

สำนักงานกิจการชาจังหวัดเกียวโตให้นิยามชาอุจิไว้ว่า เป็นชาที่ปลูกใน 4 จังหวัดที่มีพัฒนาการมาแล้ว โดยพิจารณาแล้วถึงด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศ อันได้แก่จังหวัดเกียวโต นาระ ชิกะ และมิเอะ ซึ่งทำการแปรรูปชาโดยกิจการชาในจังหวัดเกียวโต ที่จังหวัดเกียวโต

นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนสินค้าอุจิมัทฉะยังให้นิยามเพิ่มไว้อีกว่า มัทฉะคือชาที่แปรรูปขั้นสุดท้ายจากชาซึ่งผลิตในสี่จังหวัดดังกล่าวภายในจังหวัดเกียวโตด้วยวิธีการอันกำเนิดมาจากอุจิ อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ชาอุจิที่ได้รับการนับถือว่าคุณภาพยอดเยี่ยมแท้จริงแล้วอาจประกอบไปด้วยชาจากสี่จังหวัดซึ่งอยู่ติดๆ กันข้างต้น แต่ยังคงความเป็นอุจิไว้ด้วยวิธีการผลิตนั้นเอง

  1. ปริมาณการปลูกมัทฉะอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น

ในปี 2018 ประเทศญี่ปุ่นผลิตเท็นฉะ (คำเรียกใบชาที่จะนำมาทำมัทฉะ) 3,660 ตัน ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ถูกผลิตในเกียวโตถึง 1,200 ตัน นอกจากนี้ยังมีจากจังหวัดนาระ 250 ตัน จังหวัดชิกะ 50 ตัน และจังหวัดมิเอะ 150 ตัน อ้างอิงจากนิยามด้านบนแล้ว มัทฉะราวครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่นอาจมาจาก “ชาอุจิ” ก็เป็นได้ แสดงให้เห็นว่ามัทฉะอุจิถูกผลิตมาจากแหล่งมัทฉะที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว

  1. ชนะการประกวดแบบขาดลอย

ในงานเทศกาลชาระดับประเทศญี่ปุ่น (全国お茶まつり) ซึ่งจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้งนั้นเป็นงานที่เหล่าคนในวงการชาจะมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา มีกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการประกวดคุณภาพชาระดับประเทศด้วย (全国茶品評会) ล่าสุดได้จัดเป็นครั้งที่ 73 ที่เมืองนิชิโอะ จังหวัดไอจิในวันที่ 27 – 30 สิงหาคม ปี 2019 นี้เอง

สำหรับมัทฉะ จะทำการประเมิณจากในสภาพที่เป็นใบ (เท็นฉะ) อยู่ครับ จะถูกพิจารณาจาก 5 ด้านด้วยกันคือ 1. ลักษณะภายนอก เช่น สีหรือรูปร่าง 40 คะแนน กลิ่น 65 คะแนน สีของน้ำชา 20 คะแนน รสชาติ 65 คะแนน สีของน้ำจากกากชา (จุดนี้ทำเฉพาะเท็นฉะ) 10 คะแนน รวม 200 คะแนน

อุจิมัทฉะ

การประกวดคุณภาพชาระดับประเทศครั้งที่ 73 มีข้อมูลแต่ผลรางวัลพิเศษ ไม่มีข้อมูลคะแนนระดับของชา ในสาขาเท็นฉะนั้น ชาที่ผลิตจากเกียวโต ได้รางวัลถึง 5 รางวัลจากทั้งหมด 6 รางวัล นอกจากนั้นสำหรับรางวัลแหล่งผลิตดีเด่น เมืองอุจิ จังหวัดเกียวโตยังได้อันดับ 1 และเมืองโจโย จังหวัดเกียวโตก็ได้อันดับ 2 ปีที่แล้วเองในการประกวดคุณภาพชาระดับประเทศครั้งที่ 72 จัดขึ้นที่จังหวัดชิสึโอกะ ชาเท็นฉะที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ได้คะแนนเต็ม 200 คะแนนมาจากเมืองอุจิ โดยชาที่ได้รับลำดับการประเมิณว่าเป็นระดับ 1 -3 (นอกนั้นไม่ได้รับ) จำนวนทั้งหมด 34 รายการ ซึ่ง 31 รายการมาจากเกียวโต และในจำนวนนี้ 22 รายการมาจากเมืองอุจิ สำหรับผลรางวัลพิเศษ เท็นฉะจากเกียวโตกินเรียบทั้งหมด 6 รางวัลเลย

  1. แล้วเรื่องรสชาติล่ะ?

บางคนสงสัยว่า อ้าว แล้วสรุปว่าอุจิมัทฉะ มีรสชาติวิเศษกว่าที่อื่นยังไงล่ะ? ความจริงนี่เป็นคำถามที่ยาก เพราะเอาแค่ในอุจิเอง มัทฉะก็มีหลายรุ่น หลายแบบ แต่ละแบบคาแรกเตอร์ก็ต่างกันตามสายพันธุ์ หรือตามผู้ผลิตจะกำหนด รสย่อมต่างกันอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเยี่ยมของมัทฉะได้คือ รสอุมามิ (ความกลมกล่อม) เป็นรสชาติเฉพาะ ที่แยกต่างหากกับความหวาน ยิ่งเป็นมัทฉะชั้นยอดเท่าไหร่ ความฝาดขมชวนให้หน้าเบ้จะกลืนหายไปในรสอุมามิ อุจิมัทฉะหลายตัวมากที่บรรลุถึงคุณภาพระดับนี้

ความอร่อยของอุจิมัทฉะไม่ได้จบที่แค่รสอุมามิมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ยังมีเรื่องความสมดุลขององค์ประกอบต่างๆ เช่นกลิ่นที่มีหลากหลายมาก ความขม ความหวาน ความรู้สึกเมื่อดื่ม ทำให้คนบางคนพอใจกับมัทฉะที่อุมามิไม่มากแต่มีความขมอย่างลงตัว ติดใจกับมัทฉะที่เกรดไม่สูงมาก (Matchazuki รุ่น Classic ให้อุมามิไม่มากเท่ารุ่น Excellent แต่กลิ่นก็หอมไม่แพ้กันนะครับ) หรือพบว่ามัทฉะเกรดไม่สูงมากเหมาะกับการทำขนมแบบหนึ่งมากกว่า

อย่างไรก็ตามการทำมัทฉะเช่นนี้ได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูกเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ฝีมือคนเบลนด์ชาจากแหล่งต่างๆ ให้สมบูรณ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าวัตุดิบอย่างชาที่ปลูกนั้นไม่ดี เบลนด์ยังไงก็คงไม่ได้ชาชั้นยอดหรอกจริงไหมครับ?

พอจะเห็นกันหรือยังครับว่าอุจิมัทฉะมีโปรไฟล์ดีขนาดไหน ถ้าเห็นที่ไหนเขียนว่าใช้มัทฉะจากเมืองอุจิ ก็รับประกันได้ระดับหนึ่งว่ากลิ่นรสย่อมดีกว่า มีภาษีดีกว่ามัทฉะทั่วไปแน่นอน

บทความจาก : Vachi

สารอาหารในมัทฉะและปริมาณมัทฉะที่ดีต่อสุขภาพ

ก่อนที่จะเฉลยเรามาดูกันผ่านๆ ดีกว่าว่ามัทฉะมีสารอาหารอะไรอยู่บ้าง
มัทฉะปริมาณ 100 กรัมมีสารอาหารดังต่อไปนี้

“พลังงาน 324 kcal, น้ำ 5 กรัม, โปรตีน 29.6 กรัม, โปรตีนจากกรดอะมิโน 22.6 กรัม, ไขมัน 5.3 กรัม, 0.68 กรัม, ไตรกลีเซอไรด์ 3.3 กรัม, กรดไขมันอิ่มตัว 0.68 กรัม, กรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะคู่เดี่ยว 0.34 กรัม, กรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะคู่หลายคู่ 2.16 กรัม, คอเรสเตอรอล 0 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 39.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรตที่นำไปใช้ได้ 1.6 กรัม, ไฟเบอร์ที่ละลายได้ในน้ำ 6.6 กรัม, ไฟเบอร์ที่ไม่ละลายในน้ำ 31.9 กรัม, ปริมาณไฟเบอร์ทั้งหมด 38.5 กรัม, ปริมาณเถ้า (ส่วนของสารอนินทรีย์ในอาหาร) 7.4 กรัม, โซเดียม 6 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 2700 มิลลิกรัม, แคลเซียม 420 มิลลิกรัม, แมกนีเซียม 230 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 350 มิลลิกรัม, เหล็ก 17.0 มิลลิกรัม, สังกะสี 6.3 มิลลิกรัม, ทองแดง 0.6 มิลลิกรัม, วิตามิน A เบต้าแครอทีน 29000 ไมโครกรัม, วิตามิน A1 2400 ไมโครกรัม, วิตามิน E โทโคฟีรอล 28.1 มิลลิกรัม, วิตามิน K 2900 ไมโครกรัม,วิตามิน B1 0.6 ไมโครกรัม, วิตามิน B2 1.35 มิลลิกรัม, ไนอาซิน 4.0 มิลลิกรัม, วิตามิน B6 0.96 มิลลิกรัม, กรดโฟลิก 1200 มิลลิกรัม, กรดแพนโทเทนิก 3.7 ไมโครกรัม, วิตามิน C 60 มิลลิกรัม, คาเฟอีน 3.2 กรัม, แทนนิน 10.0 กรัม”

ขอโทษที่ยาวนะครับ อ่านผ่านๆ ก็พอ
ข้อมูลนี้ผมแปลมาจากรายการสารอาหารมาตรฐานในสินค้าบริโภค ฉบับแก้ไขครั้งที่ 7 ปี 2015 (ฉบับล่าสุด) จัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่นครับ เชื่อถือได้และไปใช้อ้างอิงได้เลย
ดูจากข้อมูลนี้แล้วจะพบว่ามัทฉะมีคุณค่าทางสารอาหารมากมาย กินทั้งกระปุกไป 100 กรัมคงไม่เป็นไรใช่ไหมครับ? ทว่ามีสารตัวหนึ่งที่เราควรระวังเป็นพิเศษ นั่นคือ คาเฟอีน

มัทฉะ 100 กรัม มีคาเฟอีน 3.2 กรัม แปลว่ามัทฉะ 1 กรัมมีคาเฟอีน 32 มิลลิกรัมนั่นเอง สมมุติว่าชามัทฉะกับน้ำร้อน ปกติใช้มากสุด 2 กรัม แปลว่าร่างกายเราจะได้รับคาเฟอีน 64 มิลลิกรัม
งั้นปริมาณคาเฟอีนที่ควรได้รับคือเท่าไหร่กันล่ะ?
ขณะนี้ไม่มีค่า ADI (Acceptable Daily Intake) ที่กำหนดไว้สำหรับคาเฟอีน หากอ้างตามคำแนะนำของหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป EFSA (European Food Safety Authority) ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมใน 1 วันนั้นแตกต่างกันตามช่วงอายุและน้ำหนักตัวตามตารางด้านล่างนี้

ช่วงอายุ ปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน ปริมาณมัทฉะที่แนะนำ สรุปอย่างง่าย
75 ปีขึ้นไป 22-417mg 0.69-13.03g ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ 1 ช้อนชา
65-75 ปี 23-362mg 0.72-11.31g ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ ครึ่งช้อนชา
18-64 ปี 37-319mg 1.16-9.97g ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ
10-18 ปี 0.4-1.4mg/น้ำหนักตัว (kg) 0.01-0.0437g x น้ำหนักตัว (kg)
3-10 ปี 0.2-2.0mg/น้ำหนักตัว (kg) 0.006-0.0625g x น้ำหนักตัว (kg)
12-36 เดือน 0-2.1mg/น้ำหนักตัว (kg) 0.006-0.03125g x น้ำหนักตัว (kg)
สตรีมีครรภ์ 200 mg ต่อวัน 6.25 gต่อวัน ได้ถึง 1 ช้อนโต๊ะ ครึ่งช้อนชา

ตามตารางด้านบน ช่วงอายุ 12 เดือนถึง 18 ปีคงต้องฝากผู้อ่านคำนวณกันเอาเองนะครับ ท่านที่ไม่มีเครื่องวัดอาจจะรู้สึกยุ่งยาก ผมเลยลองดูว่าถ้าเปลี่ยนเป็นหน่วยช้อนชาที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคย

หากท่านดูรูปประกอบด้านล่างรูปที่มีช้อนคันสีฟ้า นั่นเป็นช้อนตวงปริมาณ 1 ช้อนชา ปริมาณมัทฉะจะอยู่ประมาณประมาณ 2.2-2.4 กรัมครับ ส่วนในรูปปกบทความนั้นตวงมาจากช้อนตวง 1 ช้อนชาจะได้มัทฉะราว 4.9-5.1 กรัมครับ ช้อนตวงพวกนี้หาไม่ยากเลย ลองเอามากะๆ ดูก็ได้ครับ

การศึกษาเรื่องปริมาณคาเฟอีนยังเป็นหัวข้อศึกษากันอยู่ องค์กรของหลายๆ ประเทศก็ให้ข้อสรุปแตกต่างกัน บางที่เช่นสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารประเทศนิวซีแลนด์ (NZFSA) ก็กล่าวว่า วัยผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงสามารถรับคาเฟอีนได้สูงสุด 400 mg ต่อวัน (มัทฉะ 2 ช้อนโต๊ะกับ 1 ช้อนชานิดๆ ) หากมีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาตัวเลขนี้คงเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเชื่อตามยุโรป ตัวเลขในตารางนี้ก็พอให้เห็นภาพบ้างครับ

ถ้าร่างกายรับคาเฟอีนไปแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง?

มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์และโทษของคาเฟอีน รวมถึงมีหลายกรณีมาก เราจึงตัดสินกันไม่ได้ง่ายๆ ว่าคาเฟอีนจะส่งผลแบบไหนกับคนจำพวกไหน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหาร ประเทศญี่ปุ่น (Food Safety Commission of Japan: FSC) ก่อตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคาเฟอีนไว้ดังนี้ครับ

ได้รับในปริมาณเหมาะสม: ประสาทตื่นตัว แก้ความง่วง แก้อาการเมาแอลกอฮอล์ (ระวังจะดื่มสุรามากเกินไปนะครับ)

ได้รับในปริมาณมากเกินไป:

  1. กระตุ้นประสาทส่วนกลาง: อาการวิงเวียน ชีพจรสูงขึ้น วิตกกังวล อาการสั่น อาการนอนไม่หลับ
  2. กระตุ้นทางเดินอาหาร: กระตุ้นอาการท้องเสีย คลื่นไส้
  3. ขับปัสสาวะ

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังกล่าวว่า ในสตรีมีครรภ์ ร่างกายจะมีการกำจัด (clearance) คาเฟอีนจากกระแสเลือดได้ช้าลง งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าการรับคาเฟอีนมากเกินไป (ตัวเลขขององค์การอนามัยโลกคือ 300 mg ต่อวัน – มัทฉะเกือบ 2 ช้อนโต๊ะ) มีความเป็นไปได้ที่พัฒนาการของทารกในครรภ์จะช้าลง น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำลง คลอดเร็ว และทารกตายคลอด จึงแนะนำให้จำกัดปริมาณคาเฟอีนในระดับที่เหมาะสม

ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มประเทศญี่ปุ่นยังแนะนำไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอินขณะใช้เภสัชภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

ไม่ว่าอาหารนั้นๆ จะมีคุณค่าทางสารอาหารมากขนาดไหน ถ้าทานมากไปก็ไม่ดีทั้งนั้น แม้แต่มัทฉะก็ตาม บางคนชงมัทฉะตามธรรมเนียมดั้งเดิม (1.7-2.0 กรัม) ไม่กล้าทานมากๆ หวังว่าเมื่อทุกคนจะดื่มมัทฉะได้อย่างสบายใจมากขึ้นเมื่อได้อ่านบทความนี้นะครับ

https://chakatsu.com/basic/caffeine_matcha/

บทความจาก : Vachi

มัทฉะวาฟเฟิล Matcha waffle

สวัสดีครับ วันนี้เพจ MATCHAZUKI ผงมัทฉะเกรดพรีเมี่ยมจากญี่ปุ่น มีเมนูขนมอร่อยๆ ทำง่าย ไม่ยุ่งยาก มาฝากกันส่งท้ายปี 2559 นะครับ นั่นก็คือ Matcha Waffle หรือวาฟเฟิลชาเขียว นั่นเองครับ สูตรนี้เน้นความกรอบนอกนุ่มใน ทิ้งไว้จนเย็นก็ยังอร่อย ไปดูกันดีกว่าครับ ว่าง่ายขนาดไหน ^^

ส่วนผสมสำคัญ
1. นมจืด 180 มล.
2. แป้งเค้ก 135 กรัม
3. แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
4. น้ำตาลทราย 15 กรัม
5. ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Medium 1 ช้อนชา
6. ผงฟู ½ ช้อนโต๊ะ
7. ไข่ไก่ 1 ฟอง
8. น้ำมันพืชหรือเนยละลาย 35 กรัม
9. เกลือ ½ ช้อนชา

ขั้นตอนการทำ

1. นำแป้งเค้ก ผงฟู น้ำตาลทราย เกลือ และผงชาเขียว ใส่ภาชนะผสม คนให้เข้ากันแล้วพักไว้

2. ตีไข่ไก่กับนมและน้ำมันพืชให้เข้ากัน เทลงในส่วนผสมข้อ 1 คนผสมให้เนียนเข้ากันดี แล้วพักส่วนผสมไว้ 15 นาที

3. นำส่วนผสมที่พักไว้ใส่ลงในเครื่องทำวาฟเฟิล รอจนสุกดี จัดใส่จานวางให้สวยงาม แล้วโปะด้วยไอศครีม

วาฟเฟิลชาเขียวสูตรนี้ แม้ทิ้งไว้นานๆก็ยังอร่อย เนื้อฟูนุ่ม หวานน้อย จะทานคู่กับไอศครีม วิปครีม และผลไม้ก็เหมาะมากๆครับ เป็นขนมที่ทำง่าย ไม่ต้องมีอุปกรณ์มากมาย ยิ่งจัดจานสวยๆ ทานคู่กับน้ำชาร้อนๆ ยามบ่าย จัดเป็น Afternoon tea เก๋ๆได้ไม่อายใครเลยล่ะครับ ^^

———————————-

MATCHAZUKI – Crafted for matcha lover
“เพราะเราเลือกมัทฉะ อย่างคนที่รักมัทฉะ”⠀⠀
マッチャラブユー

Matcha Ice-cream with Red Bean ไอศกรีมมัทฉะถั่วแดง

สวัสดีครับแฟนเพจทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนแล้วนะครับ วันนี้ทางเพจ MATCHAZUKI ผงชาเขียวมัทฉะเกรดพรีเมี่ยมจากญี่ปุ่น เลยขอเสนอเมนูดับร้อนที่ง่ายยยยแสนง่ายมาฝากกันครับ นั่นก็คือไอศครีมชาเขียวถั่วแดงนั่นเอง แน่น่อนว่าอากาศร้อนๆแบบนี้ จะมีอะไรดีไปกว่าไอศครีมใช่มั๊ยครับ และยิ่งทานกับถั่วแดง เพิ่มความหวานเข้มข้น ความอร่อยยิ่งลงตัวจริงๆครับ ไปดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลยดีกว่าครับ

ส่วนผสมสำคัญ

  1. นมสดชนิดจืด 450 มิลลิลิตร
  2. ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Medium 1 ช้อนโต๊ะ
  3. น้ำตาลทราย 40 กรัม
  4. เกลือเล็กน้อย
  5. น้ำร้อน เล็กน้อย
  6. ถั่วแดงต้มสุก ตามชอบ

ขั้นตอนการทำ

  1. นำนมสด น้ำตาล เกลือ ผสมกัน ตั้งไฟให้ร้อน
  2. นำผงชาเขียวละลายน้ำร้อนเล็กน้อย ผสมลงไปในส่วนของนมสด
  3. เทส่วนผสมลงในพิมพ์ของไอศครีม และใส่ถั่วแดงลงไปตามชอบ
  4. นำไปแช่ในช่องฟรีซ นานประมาณ 2 ชั่วโมง หรือจนไอศครีมพอเซ็ตตัว นำไม้ไอศครีมปักลงไป และแช่ต่อจนไอศครีมแข็งตัวดี

ไอศครีมชาเขียวถั่วแดงสูตรนี้เป็นสูตรง่ายๆ ที่มีวิธีการทำไม่ยุ่งยาก ทานดับร้อนได้ดี ได้ประโยชน์จากทั้งชาเขียวและถั่วแดงเลยครับ

———————————-

MATCHAZUKI – Crafted for matcha lover
“เพราะเราเลือกมัทฉะ อย่างคนที่รักมัทฉะ”⠀⠀
マッチャラブユー