รู้หรือไม่ทำไมชาเป็นตะกอนเมื่อเย็น?

เคยทานชาเขียวแล้วมีผงชาเขียวนอนก้นเป็นตะกอนกันมั้ยคะ?

ตะกอนที่เห็นอยู่นั้นแท้จริงแล้ว คือ ผงชาที่ละลายไม่หมด เป็นผลมาจากการชงที่ไม่ดีส่วนนึง เพราะผงมัทฉะที่ดีจะค่อนข้างละเอียดมาก ไม่สามารถละลายได้หมดด้วยน้ำร้อนจากการใช้ช้อนคนธรรมดา แต่ควรใช้แปรงชา หรือที่เรียกว่า ฉะเซ็นในการชง จะทำให้ละลายได้ง่ายกว่า หรือถ้าร้านไหนที่ไม่มีฉะเซ็น สามารถลองใส่พวกกระบอกเชคเกอร์ หรือใช้ตระกร้อมือคนแทนก็พอคนให้ผงชาละลายได้อยู่

ตะกอนชา

อย่างไรก็ตามในการบางครั้งที่ใช้ฉะเซ็นในการชงแล้ว บางคนอาจจะพบว่า เมื่อทิ้งไว้ระยะหนึ่งก็จะเกิดการแยกชั้นได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งชาเขียวที่บรรจุขายทั่วไป เราจะได้เห็นข้างขวดเขียนไว้เสมอว่า “อาจมีตะกอนตามธรรมชาติ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย” จึงถือว่าเป็นเรื่องปกติมากที่ชาแต่ละขวดหลังจากชงแล้วอาจจะมีตะกอนหลุดรอดออกมานั่นเองMatcha Matcha

พูดถึงตัวผงฝุ่นในชาเป็นผลมาจากการตกตะกอน ซึ่งเรียกว่า ‘ครีมชา’ จะเกิดขึ้นเมื่อชามีอุณหภูมิเย็นลงต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส สารประกอบในชา อย่างระหว่างคาเฟอีนและโพลีฟีนอลจะจับตัวกันอย่างอ่อนๆ ซึ่งหากชาเมนูไหนที่มีการใส่นม ก็จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างโปรตีนในนม และ โพลีฟีนอลต่างๆ มีผลให้เกิดตะกอนมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การผสมชาและน้ำใหม่ที่ต้มแล้วเข้าด้วยกัน จะทำให้ใบชาตกตะกอนอยู่ด้านล่างของกาที่ใช้ชงชาได้เช่นกัน เพื่อเป็นการลดการสัมผัสระหว่างใบชาและน้ำ แนะนำให้ทำการคนชาทุกครั้งเพื่อกระตุ้นชาและทำให้มีการละลายที่เหมาะสม

กรณีที่ชาของบางร้านไม่ตกตะกอนเลย จึงอาจเป็นที่น่าสงสัยได้ว่า ร้านนั้นไม่ได้ใช้ผงมัทฉะจริงๆ แต่ อาจจะเป็นการใช้เป็นไซรัปรสชาเขียวแทน หรืออาจใช้ผงชงสำเร็จรูปเพื่อลดระยะเวลาในการชง ซึ่งทำให้ราคาก็จะลดหลั่นกันไปตามวัตถุดิบที่ใช้นั่นเอง

นอกจากตะกอนที่มักเกิดที่ก้นถ้วยแล้ว ในบางครั้งจะเจอกรณีที่กากชา หรือ ใบชาสีเข้ม ที่ลอยอยู่ด้านบนของชาที่ชงแล้วแทนนอนก้น กรณีดังกล่าว เป็นผลของส่วนประกอบน้ำหนักโมเลกุลที่สูง เกิดจากแคลเซียม และ ไบคาร์บอเนตไอออน ที่ผิวหน้าของน้ำ ตามปกติแล้ว กากชาจะเกิดขึ้นในชาที่มีความเข้มข้นสูง อย่างไรก็ตามการบริโภคกากชา หรือตะกอนชาที่มีปริมาณน้อยกว่า 1 มิลลิกรัมของกากชาที่เกิดขึ้นในถ้วยชานั้น จะไม่เป็นอันตรายใดๆต่อสุขภาพของผู้ดื่ม

Matcha Matcha

ที่มา

https://japanesegreenteaonline.com/

https://www.stylecraze.com/trending/tea-drinks-for-weight-loss/

http://www.honannchasou.net/shihou_18.html

บทความจาก : Fuwafuwa

สีเขียวๆเหมือนกัน แต่ทำไมเป็นชาเขียวคนละแบบกัน

ทุกคนน่าจะเคยเห็นชาเขียว ที่สีไม่เขียว อย่างที่รู้จักกันในชื่อของ ชาโฮจิฉะ กันแล้ว แต่ก็อาจจะเคยเห็นชา ที่สีเขียวเหมือนกัน ต่างระดับเข้มอ่อน ซึ่งจริงๆแล้วเป็นการแสดงรสชาติที่มีหลากรสชาติหลายระดับ สิ่งที่ทำให้ชาเขียวแตกต่างจากชาประเภทอื่นๆ อย่างชาแดง และชาอู่หลง คือการ “นึ่ง” ใบชา ที่สามารถช่วยไล่กลิ่นเหม็นเขียวไปพร้อมๆ กับหยุดกระบวนการออกซิเดชัน ทำให้รักษาสีเขียวเอาไว้ได้นั่นเอง

สิ่งที่เรียกว่าชาเขียวเองก็ยังแบ่งได้ออกเป็นอีก 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1.เกียวคุโระ (Gyokuro)ยอดใบชาเขียวชั้นดี ใบชาม้วนเป็นเกลียว สีเขียวเข้ม ปลูกโดยคลุมผ้ากันแสงให้อยู่ในสภาวะเหมาะสมจนเกิดเป็นสีเขียว ผ่านการนึ่ง นวด และทำให้แห้ง ได้ออกมาเป็นชารสไม่ฝาด หวานเล็กน้อย ซึ่งที่มาของรสชาติหวานกลมกล่อมนี้ มาจากการที่ให้ใบชาอยู่ในร่มก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งการป้องกันแสงแดดนี้จะทำให้สารเธียอะนินที่มีประโยชน์ (ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย) ในใบชาเพิ่มขึ้น แต่ทำให้สาร catechin ที่มาของรสขมในใบชาลดลง ทำให้ได้ชาที่มีรสชาติหวานกลมกล่อมนั่นเองกลิ่นหอม สีชาเกียวคุโระสีเขียวสด จัดเป็นชาเขียวชั้นสูง ผลิตได้ไม่มาก เก็บเกี่ยวได้ทีละน้อย ราคาจึงค่อนข้างแพง ส่วนมากใช้ในงานพิธีการ

2.มัทฉะ (Matcha) ชื่อที่หลายคนคุ้นเคยมากที่สุด ชาตัวนี้ผลิตจากมาจาก เท็นฉะ (Tencha) ซึ่งได้มาจากใบชาที่ปลูกในที่ร่มเหมือนชาเกียวคุโระก่อนจะนำไปบดเป็นผงด้วยหินอย่างพิถีพิถัน มักจะใช้ในพิธีชงชา เพราะมัทฉะรสชาติกลมกล่อมมัทฉะแบ่งเป็นหลายเกรด เช่น สำหรับทำขนม เครื่องดื่ม ชงในงานพิธีการ เป็นต้น สามารถสังเกตได้จากสีของมัทฉะ ยิ่งมัทฉะสีเข้มเท่าไหร่ คุณภาพก็ยิ่งดี ซึ่งในมัทฉะสารอาหารค่อนข้างมากที่สุด

3.เซ็นฉะ (Sencha) ชาเขียวส่วนใหญ่ หรือคิดเป็นกว่า 60% ของชาเขียวในประเทศญี่ปุ่นไม่ต้องเลี้ยงในร่ม เก็บเกี่ยวในช่วงแรก หรือช่วงที่สองของปี เมื่อเก็บใบมาแล้วต้องผ่านกระบวนการนึ่ง นวด และอบแห้งเหมือนกับเกียวคุโระ รสชาติค่อนข้างฝาด เนื่องจากการอบเลยทำให้ชาประเภทนี้ค่อนข้างมีกลิ่นหอม

4. บันฉะ (Bancha) คุณภาพรองลงมาจากชาเซนฉะ เพราะเก็บเกี่ยวในช่วงที่สามหรือสี่ของปี ใช้ดื่มทั่วไป เป็นใบชาที่เหลือจากยอดต้น ได้มาจากใบชาที่เก็บนอกฤดูกาล เช่น ก่อนต้นชาแตกยอด

ใหม่ หรือมีขนาดไม่ได้ตามมาตรฐาน รวบรวมมาผ่านกระบวนการต่างๆ จนได้เป็นชาราคาย่อมเยา มีรสชาติอ่อน สีออกไปทางเหลืองอมเขียวแทนที่จะเป็นสีเขียวสด รสฝาดกว่าชาชนิดอื่น อีกทั้งกลิ่นเฉพาะตัวของชาไม่หอมเท่าประเภทอื่น

ชาเขียว

ความอร่อยในการดื่มชาแต่ละประเภทอยู่ที่รสนิยม วิธีการปรุง รวมถึงอาหารที่รับประทานทานคู่กับชา แต่ชาเขียวทุกประเภทมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมากน้อย ขึ้นอยู่กับประเภทของชานั้นๆ นั่นเอง

Matcha Matcha

ที่มา

6 Different Types of Tea: The Ultimate Guide

http://www.flickr.com/photos/nikosan-artwork/5445104938/in/set-72157625618496145/

Homemade Tea Blends | For Christmas

https://kinarino.jp/cat8/25451

บทความจาก : Fuwafuwa

เคล็ดลับการเลือกดื่มชา เวลาไหนเกิดประโยชน์ที่สุด?

สำหรับผู้ที่ชอบดื่มชาอาจจะอยากทราบว่า หากต้องการดื่มชาให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรดื่มเวลาไหนดีนะ? เพราะเครื่องดื่มอย่างชา..หากดื่มถูกจังหวะเวลาก็ย่อมทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายได้ด้วย แต่ถ้าดื่มมากไปก็อาจจะเกิดผลเสียได้เช่นกัน แล้วช่วงเวลาไหนคือ เวลาที่เหมาะสมสำหรับการดื่ม และเหมาะกับแต่ละคน

ชงมัทฉะ

แนะนำให้ดื่มชาทันที หลังชงเสร็จร้อนๆทันทีไม่ควรปล่อยไว้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้น สีของน้ำชาจะคล้ำลง และมีรสชาติฝาด เพราะการดื่มแบบชงร้อนจะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากสารอาหารในชามากกว่า เนื่องจากชามีกรดแทนนินสูง (Tannin) หากคุณดื่มตอนที่มีรสฝาดจะส่งผลกระทบมายังกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งมันจะทำให้การดูดซึมสารอาหารไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดูดซึมธาตุเหล็ก แคลเซียมและแมกนีเซียม

ในชายังมีสารสำคัญอย่างคาเทชิน (Catechin) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ช่วยดักจับอนุมูลอิสระ และสารธีอะนิน (Theanine) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ทำงานสัมพันธ์กันกับเส้นประสาท หากดื่มไปแล้วจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบนิ่งและสมองปลอดโปร่งมากขึ้น หากไม่ดื่มหลังชงร้อนๆเสร็จ ปล่อยน้ำชาไว้ให้เย็น จะทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง

อย่างไรก็ตามปกติเรามักจะได้ยินคนแนะนำว่าให้รับสิ่งดี ๆ ที่มีประโยชน์เข้าไปในตอนเช้า แต่ว่าอย่าดื่มชาเขียวตั้งแต่เช้าขณะท้องว่างเพราะว่าชาเขียวมีคาเฟอีนจะทำให้ร่างกายขับน้ำออกมา กลายเป็นอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ ผิวพรรณห่อเหี่ยวไม่สดชื่น สมองก็จะมึนงงได้ แถมชาเขียวยังกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากไปจนเกิดแผลตามมาได้ ควรกินอาหารเช้าให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยตามด้วยชาเขียวร้อนๆสัก 1 แก้วจะดีกว่า

ส่วนใครที่ชอบออกกำลังกายมีงานวิจัยทดลองว่าการดื่มชาเขียวก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที จะช่วยให้เราสดชื่นกระปรี้กระเปร่าและออกกำลังกายได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้น ดังนั้นจึงเหมาะมากๆกับคนที่ต้องการจะลดน้ำหนักสลายไขมัน แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นชาเขียวเพียวๆที่ไม่ใส่น้ำตาลและนม

ชาเขียว

สำหรับคนที่ชอบจิบชาแทนน้ำเปล่า หรือคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบควรหันมาจิบน้ำชาอ่อนๆ ดีกว่า ไม่ควรจิบชาแก่ๆ เพราะจะยิ่งทำให้การหลั่งของกรดออกมามากขึ้น ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในกระเพาะอาหาร

ส่วนคนทั่วไปแนะนำให้ดื่มชาเข้มๆ หลังจากกินอาหารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้น้ำย่อยหลั่งออกมา จะทำให้การย่อยอาหารจำพวกวิตามินต่างๆ ได้ดีขึ้น การจิบชาที่มีควาามเข้มข้นต่างกัน จะกระตุ้นการหลั่งกรดมากน้อยต่างกัน ซึ่งจะได้ไม่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารหนักมากขึ้นไปกว่าเดิม และจะช่วยทำให้การดูดซึมสารอาหารเป็นไปได้ดี

ส่วนใครที่ต้องการดีท็อกซ์ร่างกาย วิธีที่ช่วยได้ก็คือ จิบชาเขียวที่ชงอ่อนๆ ตลอดทั้งวัน จิบทีละน้อยๆ หากดื่มไปรวดเดียวจนหมดแก้วจะช่วยเรื่องการล้างพิษไม่ได้ และกลายเป็นจะถูกขับออกไปอย่างรวดเร็วในรูปแบบปัสสาวะแทน

แม้จะไม่มีการระบุว่าการดื่มช่วงไหนคือเวลาที่ดีที่สุด แต่การดื่มให้เหมาะกับพฤติกรรมและช่วงเวลาที่แต่ละคนสะดวก ก็จะทำให้การจิบชาแต่ละครั้งก็จะทำให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วยมากขึ้น ดีต่อสุขภาพ และดีต่อใจ ^^

ที่มา

https://www.topteny.com/top-10-most-expensive-tea-in-the-world/

https://www.poetrysoup.com/poem/green_tea_cleans_your_thoughts_1124642

http://goop.com/the-best-green-lattes-thank-you-very-matcha/

บทความจาก : Fuwafuwa

รู้ไหมว่า…ชงชาเขียวใช้น้ำแบบไหน?

ปกติแล้วเรามักนิยมแช่ใบชากับน้ำร้อนนานๆ อยากดื่มเมื่อไหร่ก็เทออกมา ซึ่งความคุ้นเคยนี้ทำให้บางครั้งเราไม่ได้รับรสชาที่แท้จริง การชงชาแต่ละชนิดมีความแตกต่างจากหลักการเบื้องต้นไม่มากนัก แต่ก็มีความละเอียดอ่อนที่จะช่วยให้ได้รสอร่อยและประโยชน์ของชาอย่างแท้จริง

ใบชาแต่ละชนิด มีสารอาหารอยู่ในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิต ซึ่งสารอาหารเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นตัวกำหนด “รสชาติ” ของชา เช่น ชาที่มีกรดอะมิโนเยอะ ก็จะมีรสกลมกล่อม ชาที่มีสารแคทิซินเยอะ ก็จะมีรสฝาด และขม

มัทฉะ มัทฉะ

ซึ่งนอกจากประเภทชาแล้ว “น้ำ”ที่ใช้สำหรับชงชา ดูเผินๆหลายคนคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันนัก เน้นไปที่เลือกผงชา ใบชา ที่คุณภาพดีไว้ก่อน แต่ความจริงแล้ว การชงชาให้อร่อยชนิดของน้ำที่ชง มีผลต่อรสชาติและกลิ่นของชา ที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน เพราะสารอาหารในชา นอกจากจะมีปริมาณที่ต่างกันแล้ว ยังมีคุณสมบัติละลายในน้ำอุณหภูมิที่ต่างกันอีกด้วย

อย่างชาเขียว คือ ชาที่ไม่ผ่านการหมักหากชงด้วยน้ำเดือด 100 องศา ใบชาจะเฉา เหี่ยว และขับสารแคทิซีนออกมาเป็นจำนวนมากส่งผลให้ชามีรสขม เวลาดื่มรสสัมผัสจะน้อยลง เพราะในชาเขียวเป็นชาที่มีปริมาณกรดอะมิโนสูง การจะชงชาให้ได้รสชาติดีที่สุดนั้น จะต้องดึงกรดอะมิโนออกมา โดยที่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้สารแคทิซิน ซึ่งเป็นสารให้ความขมและฝาดออกมา จึงต้องใช้น้ำที่อุณหภูมิระหว่าง 50-60 องศาเซลเซียส เพราะกรดอะมิโน จะเริ่มละลายออกมาในน้ำอุณหภูมิตั้งแต่ 50 องศา ในขณะที่สารแคทิซิน จะละลายออกมาที่น้ำอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศา เป็นต้น หรือสรุปง่ายๆคือการชงชาเขียว จึงต้องใช้น้ำร้อนอุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศา  แต่ถ้าเป็นมัทฉะและเซนฉะใช้น้ำร้อน ร้อนแค่85 องศาก็เพียงพอแล้ว

วิธีชงมัทฉะ

นอกจากนี้จริงๆแล้วที่ยุโรป มักจะใช้น้ำบรรจุขวดในการชงชา ไม่ใช้น้ำแร่ เพราะแร่ธาตุในน้ำแร่จะทำให้รสชาติของแร่ธาตุจะไปกลบรสชาติของชา ทำให้ไม่รู้รสชาติที่แท้จริง แต่น้ำแร่ในฝั่งเอเชีย กลับเป็นน้ำที่เหมาะสมในการใช้ชงชามากกว่า

หากจะชงชาเพื่อลิ้มรสของชาจริงๆแล้ว ไม่ควรใช้น้ำก๊อก แม้จะเป็นน้ำก๊อกที่สามารถดื่มได้ก็ตาม เพราะน้ำจากก๊อกอาจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ หากนำมาชงชาก็อาจจะทำให้เสียอรรถรสในการดื่มชาได้เช่นกัน

ที่มา

https://www.morimatea.com/

https://bestceramics.cn/products/chinese-landscape-painting-stoves

บทความ : Fuwafuwa

ซะโด พิธีชงชาที่แฝงปรัชญาการใช้ชีวิต

พิธีชงชาญี่ปุ่นเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยการใช้เวลาอย่างสุนทรีย์ ซะโดมีลักษณะที่เป็นแบบแผน ได้พัฒนาภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนานิกายเซ็น จุดประสงค์ของพิธีนี้ คือ เพื่อทำวิญญาณให้บริสุทธิ์โดยการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ใช้แนวคิด ความงามในความเรียบง่ายและความสงบ อย่างอุปกรณ์ชงชาอย่างกาต้มน้ำ ถ้วยชา เป็นสิ่งเรียบง่าย นอกจากนี้เพื่อที่จะค้นหาความงามในความไม่สมบูรณ์ ของถ้วยชามที่ขรุขระ การชงชาแบบญี่ปุ่นจึงเป็นพิธีกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ทรงคุณค่าฝั่งรากลึกมานาน

matcha

ซะโดยังมีบทบาทสำคัญในด้านศิลปะของชาวญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกับการชื่นชมห้องที่ประกอบพิธี ส่วนที่ติดอยู่ในห้องนั้น เครื่องใช้ในการชงชา เครื่องประดับบริเวณพิธี เช่น ภาพแขวนหรือการจัดดอกไม้ สถาปัตยกรรมญี่ปุ่น การจัดสวน เครื่องปั้นดินเผาเซรามิก สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากพิธีชงชา และความเป็นพิธีการที่ถือปฏิบัติในพิธีชงชาได้มีอิทธิพลต่อการพัฒนามารยาทของชาวญี่ปุ่นในลักษณะที่เป็นพื้นฐาน

พระ Rikyu ถือเป็นอาจารย์แห่งพิธีชงชา ได้ทำให้ผู้คนรอบข้างประหลาดใจ ด้วยการเสนอไอเดียใหม่เกี่ยวกับการเลือกใช้ชามในพิธีชงชาที่เรียกว่า “koma”หรือความมืด ใช้ถ้วยชงชาสีดำอันเป็นงานฝีมือของช่างชาวญี่ปุ่น แทนที่จะใช้ภาชนะที่นำเข้าจากจีน เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเรียบง่ายอันเป็นหัวใจของ“wabi-cha” วิถีแห่งความสงบเรียบง่ายแห่งชา

chado matcha chado matcha chado matcha

หลายคนอาจจะพอรู้ขั้นตอนพิธีการดื่มชาญี่ปุ่นอยู่แล้ว จะรู้สึกว่าเป็นพิธีที่ยุ่งยาก ขั้นตอนเยอะ ไหนจะต้องหมุนชาม ไหนจะต้องโค้งคำนับ แต่ถ้าใครมีโอกาสได้ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาเรื่อง Every Day a Good Day หัวใจ ใบชา ความรัก จะได้ซึมซับถึงเสน่ห์ของศิลปะการชงชา และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าการชงชาเป็นเรื่องที่ไม่รีบร้อนและต้องใช้เวลาในการเข้าใจถึงแก่นแท้มีความเกี่ยวข้องผสานเข้ามาอยู่รวมกันกับอิคิไกความหมายของการมีชีวิตอยู่ เป็นนัยยะว่า พิธีชงชานั้นมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้ต้องฝึกฝนซ้ำๆ ทุกวันแบบเดิม ตั้งแต่

  1. การเริ่มต้นเล็กๆ : ในพิธีชงชา จะมีการจัดตกแต่งห้อง อย่างใส่ใจในรายละเอียด เช่นชนิดของดอกไม้ที่จะนำมาตกแต่งบนฝาหนัง การพับผ้าที่ใช้ในพิธีชงชา หรือแม้แต่ในแต่ละวันที่มีการเปลี่ยนป้ายวลีคันจิปรัชญาเพื่อให้เหมาะกับวันนั้นๆ ก็สอนให้คิด พิจารณาจิตใจตัวเองเช่นกัน
  2. การปลดปล่อยตัวเอง : จิตวิญญาณแห่งการถ่อมตัว คือ ภาพจำของผู้ทำพิธี และแขกที่มาร่วม แม้พวกเขาจะมีประสบการณ์หลายปีในการจัดงาน
  3. ความสอดคล้องและยั่งยืน : ภาชนะที่ใช้ในพิธีชงชาเก่าแก่เป็นทศวรรษ ถูกคัดเลือกมาให้เข้ากับภาชนะชิ้นอื่น
  4. ความสุขกับสิ่งเล็กๆ : เป้าหมายของพิธีชงชา ก็เพื่อให้ผ่อนคลาย หาความสุขจากรายละเอียดเล็กๆ เช่นการฟังเสียงน้ำที่รินลงถ้วยชาระหว่างเสียงของน้ำอุ่น กับน้ำเย็นนั้นแตกต่างกัน
  5. การอยู่ตรงนี้ ตอนนี้ : คนหนึ่งจะนำพาสติภายในห้องชงชามาเข้าสู่จิตใจอีกคนหนึ่ง

ถ้าหากได้เรียนรู้ประเพณีตามแบบฉบับเหมือนในภาพยนตร์จริงๆ ก็คงไม่มีวันที่สามารถบอกว่าตัวเอง สมบูรณ์แบบ ได้ วิชาชงชานี้ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับชีวิต ชีวิตคนเรามันต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมามากระดับหนึ่ง จนเริ่มเข้าใจว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ไหน ……..คำตอบคือ อยู่ที่ใจของเราที่มองว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมดา เดี๋ยวมันก็ผ่านไป จงปล่อยวาง และไหลไปตามจังหวะชีวิต เพราะฉะนั้นใครที่เสพย์ข่าว สื่ออนไลน์มากๆ หันมาทำอะไรช้าๆลง มีสติในการชงชาสักแก้วหนึ่งดู อาจจะช่วยเพิ่มรอยยิ้มให้ในเช้าวันใหม่ได้

chado matcha

บทความจาก : Fuwafuwa

ตามเทรนด์รักสุขภาพแบบสาย RAW SWEETS

ช่วงนี้โควิดกำลังระบาดหนัก หลายคนอาจจะเริ่มหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น แต่หลายคนก็ยังรู้สึกว่าการทานขนมหวานที่มีความหวานมัน ช่วยเติมเต็มความสุขในช่วงสถานการณ์เครียดๆแบบนี้ได้ แต่จริงๆแล้ว ยังมีขนมหวานอีกประเภทหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพมากๆ ได้วิตามิน เกลือแร่ และคุณค่าทางสารอาหารที่ครบถ้วน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการย่อยอาหาร และกระบวนการเผาผลาญเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ขนมหวานแบบนี้ เรียกกันว่า Raw Sweets

Raw Sweets เป็นขนมที่ทำจาก ผลไม้สด ผัดสด และวัตถุดิบทั้งหมดที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งด้วยความร้อน ไม่เกิน 46 องศา ไม่มีส่วนผสมของแป้ง และน้ำตาล แต่จะใช้ข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดขาวที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนแทน นับว่าเป็นขนมที่ทำจากวัตถุดิบจากธรรมชาติจริงๆ

จุดเด่นของขนม Raw Sweets คือ ไม่ใช้ความร้อน ไม่ว่าจะการอบ นึ่ง ต้ม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนผสมหรือ การเตรียมใดๆ จะใช้แค่การผสมวัตถุดิบเข้าด้วยกัน และนิยมใช้การแช่เย็นแทนการอบสุก หรือการตากแห้งของผลไม้ตามธรรมชาติแทน

ส่วนผสมหลักที่มักนิยมใช้สำหรับการทำ Raw Sweets ได้แก่

Almond Milk

1.นมอัลมอนด์มีรสชาติเข้มข้น เหมาะสำหรับเติมลงไปในไอศครีม หรือไส้เค้ก แทนครีมสดหรือนมสด ส่วนตัวกากอัลมอนด์ที่เหลือจากการนำมาคั้นนมอัลมอนด์ สามารถนำมากรุฐานเค้ก หรือทาร์ตได้อีกด้วย

Matcha Raw Sweets

2.ครีมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ใช้อากาเว่ไซรัป และน้ำมันมะพร้าวในการผสม ได้รสชาติกลมกล่อมเหมือนครีมสดจากนม สามารถนำไปผสมทำไอศครีม ไส้เค้ก และทาร์ตได้เช่นกัน สามารถทำครีมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ 1 ครั้งแล้วแช่แข็งเก็บไว้ใช้ได้นาน

สำหรับร้านไหนที่มีเมนูขนมในร้านแบบไม่ลีน ไม่คลีนอยู่แล้ว ช่วงนี้ที่โรคกำลังระบาด การปรุงแต่งขนมด้วยวัตถุดิบชั้นดี ด้วยกรรมวิธีแบบ Raw Sweets จึงเป็นอีกไอเดียที่น่าเอามาปรับใช้กับเมนูที่ร้าน อย่างเช่น

Matcha Brownie

Raw Matcha Brownies บราวนี่เมนูที่หลายคนชื่นชอบทำได้ง่าย แต่ใครจะรู้ว่าสามารถทำแบบสูตร คลีนๆแบบนี้ได้ ส่วนผสมก็ไม่เยอะ ได้แก่

  1. อินทผาลัมตากแห้งสับหยาบ 30 กรัม
  2. วอลนัต 40 กรัม
  3. ผงอัลมอนด์ 40 กรัม
  4. ผงโกโก้ 2 ช้อนชา
  5. อากาเว่ไซรัป 2 ช้อนชา
  6. วานิลาสกัดชนิดน้ำ 1 ช้อนชา
  7. ผงชาเขียว 2 ช้อนชา

วิธีทำ

  1. ปั่นอินทผาลัมให้ละเอียด ใส่ผลอัลมอนด์ อากาเว่ไซรัป วานิลล่า ลงไป ผสมรวมกันให้เป็นเนื้อเดียว
  2. แบ่งส่วนผสมเป็น 2 ส่วนเเท่าๆกัน ส่วนแรก เอาวอลนัต และผงโกโก้มาผสมเข้าด้วยกัน ส่วนที่สองเอาผงชาเขียวมาผสมเข้าด้วยกัน
  3. นำส่วนที่ผสมโกโก้เทลงพิมพ์ เกลี้ยให้ทั่วจนแน่นพิมพ์ก่อน แล้วจึงเทส่วนที่เป็นชาเขียวทับด้านบน กดให้แน่นเข้าตู้เย็นประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เซ็ตตัว ทานคู่นมอัลมอนด์อุ่นๆ หรือจะเติมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหวานก็อร่อยไปอีกแบบ

นอกจากเมนูบราวนี่ชาเขียวสูตร Raw sweets แล้ว ยังมีอีกหลายเมนูที่สามารถมาประยุกต์ได้ เช่น Pistachio Matcha Bars, Raw Matcha Cheesecake  เป็นต้น 

matcha  matcha ball

ที่มา

http://www.rebelrecipes.com/raw-matcha-cheesecake-vegan-gluten-free/

http://www.becomingness.com.au/blog/raw-matcha-brownies

https://intentionalhospitality.com/matcha-energy-balls/

http://traditional-japan.tumblr.com/post/174790242132/via-pinterest

https://www.ehow.com/how_2041161_make-almond-milk.html?utm_source=pinterest.com&utm_medium=referral&utm_content=freestyle&utm_campaign=fanpage&crlt.pid=camp.yqA17WPYpdOm

https://getinspiredeveryday.com/food/savory-vegan-cashew-cream-sauce/

บทความจาก : Fuwafuwa

กว่าจะเป็นผงชามัทฉะ

ชาเขียว กับมัทฉะ เป็นเครื่องดื่มที่นิยมของชาวญี่ปุ่น ผลิตจากใบชาจากแหล่งปลูกในญี่ปุ่นที่เหมือนกัน ความเหมือนที่แตกต่างของ “มัทฉะ” และ “ชาเขียว ที่ชัดเจนที่สุด คือ ลักษณะของการใช้ เพราะมัทฉะจะมาในรูปแบบผงละเอียด ในขณะที่ชาเขียวโดยปกติจะมาในรูปแบบของใบชาแห้ง เวลากิน ชงกับน้ำร้อนกินแต่น้ำชา ส่วนใบชากรองออก

matcha

ส่วนชาเขียวที่เราเรียกมัทฉะ มีลักษณะเป็นผงชาเขียวที่นำใบชามาบดจนละเอียด เวลากินนำผงชาไปผสมกับน้ำร้อน คนให้เข้ากันแล้วดื่มได้ทั้งหมด ไม่ต้องกรองส่วนใดออก ซึ่งกรรมวิธีการแปรรูปจากใบชาเขียว มาเป็นผงมัทฉะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนพอสมควร ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ เป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก เสร็จแล้วนำไปนวดเพื่อให้ใบชาม้วนตัว จากนั้นนำไปอบแห้ง สีของน้ำชาจึงมีสีเขียว

matcha greentea

ต้นชาที่จะนำมาผลิตเป็นมัทฉะ จะมีการปลูกและดูแลที่ซับซ้อนกว่าชารูปแบบอื่น ช่วงที่ใบชาแตกยอด ก่อนเก็บเกี่ยวต้องคลุมป้องกันไม่ให้ชาได้รับแสดงแดดโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรง เป็นการลดการสังเคราะห์แสงชะลอการเจริญเติบโตของใบชา เพื่อกระตุ้นการผลิตคลอโรฟิลและกรดอะมิโนใบชาจึงมีสีเขียวเข้ม เหมาะกับการนำไปทำมัทฉะ โดยนำใบชามาบดโดยครกหินที่ทำให้เกิดความร้อนน้อยที่สุด เพื่อรักษารสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ บดจนออกมาป็นผงละเอียดเหมือนแป้ง ใช้เวลานาน กว่าจะได้ผงชาออกมาจำนวนหนึ่ง ทำให้มัทฉะมีราคาสูงกว่าชาเขียวชนิดอื่นๆ

matcha

ในสมัยก่อนมัทฉะจึงเป็นชาที่ถูกนำไปใช้ในพิธีชงชาของประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันนิยมนำผงมัทฉะมาชงเครื่องดื่ม ร้อน เย็น ทำขนม หรือไอศกรีม เพราะมัทฉะมีสีเขียวสดสวย อีกทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารจากใบชาทั้งใบอีกด้วย ทำให้มัทฉะเป็นที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ชาเขียวสามารถใช้ชงเครื่องดื่ม ร้อน เย็นได้ แต่ไม่เหมาะที่จะไปทำขนม

ประโยชน์ของชาเขียว สารสำคัญหลักๆ คือ ธีอะนีนและคาเทชิน

  • ธีอะนีนเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งเป็นสารสำคัญที่พบมากในชาเขียว ให้ฤทธิ์ในเรื่องของการผ่อนคลาย ลดความเครียด ทำให้เกิดสมาธิ คิดอ่านได้ดีขึ้นและยังส่งเสริมคุณภาพของการนอนหลับ ทำให้หลับสนิทยิ่งขึ้นด้วย
  • คาเทชิน มีฤทธิ์เป็นสารต้านออกซิเดชันที่จับกับอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ เพิ่มความสามารถในการจดจำ สามารถลดไตรกลีเซอไรด์ ลดคอเลสเตอรอล ลดการดูดซึมไขมันในลำไส้และการสะสมของไขมัน เพิ่มการใช้พลังงาน การดื่มชาสามารถลดความอ้วนได้ ที่สำคัญช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในร่างกายได้อีกด้วย
  • สรรพคุณอื่นๆ ได้แก่ ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย และเป็นการดีท๊อกซ์ร่างกายไปในตัวด้วย

แหล่งที่มา

https://www.pinterest.com/pin/631207704000682997/

https://www.pinterest.com/pin/481463016383950342/

https://www.ohhowcivilized.com/what-is-matcha-green-tea/

https://www.tealoftco.com/products/matcha-premium

https://www.finedininglovers.com/stories/tea-tips-teapot-food-design/

บทความจาก : Fuwafuwa

วิธีแก้ปัญหามัทฉะเป็นก้อนไม่ละลาย

ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่นักดื่ม (ชา) หลายคนติเตียนก็คือก้อนมัทฉะผงๆ ที่ไม่ละลายน้ำที่เจอตอนดื่ม

ปัญหานี้อยู่ที่คนชงล้วนๆ ครับ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่ามัทฉะไม่เหมือนนมผง เหมือนโกโก้ ความจริงแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่ละลายน้ำได้ เพราะมันคือใบชาที่นำมาบด และใบไม้นั้นไม่ละลายน้ำโดยเด็ดขาด

เชื่อว่าหลายท่านคงมีวิธีแก้ปัญหากันอยู่แล้วแต่ครั้งนี้ผมอยากแบ่งปันวิธีแก้ปัญหาที่ผมมีให้ทุกคนครับ

  1. เอาไปร่อน

เรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็ว่าได้ มัทฉะที่ปกติจะจับตัวกัน หากเอาไปร่อนเหมือนแป้งจะละเอียดขึ้น ทำให้ผสมน้ำได้ง่ายดาย แถมสัมผัสน้ำชาเวลาดื่มยังนุ่มละมุนกว่าอย่างไม่น่าเชื่อด้วย เสียอย่างเดียวคือวิธีนี้เป็นขั้นตอนที่อาจเสียเวลามาก และพิถีพิถันเกินไปในยามที่เร่งรีบ

matcha

  1. คนกันน้ำน้อยๆ ให้เข้ากันก่อน

ถ้าขี้เกียจร่อนมัทฉะ เราอาจแก้ไขได้ด้วยการใส่น้ำทีละน้อย ค่อยๆ ใส่มัทฉะทีละนิด นึกถึงตอนทำแพนเค้กดูสิครับ ถ้าเราใส่ทุกอย่างไปพรวดเดียวแล้วผสม แป้งจะเป็นก้อนๆ ต้องเสียแรงมากทีเดียวกว่าจะเข้ากันได้ มัทฉะก็เหมือนกันครับ หากใครรู้วิธีชงมัทฉะชนิดข้น (โอะโคอิฉะ) จะใช้วิธีเดียวกันก็ได้ครับ ตักผงชาใส่ถ้วย เติมน้ำร้อนก่อนนิดเดียว ใช้แปรงกวาดซ้ายกวาดขวา นวดๆ ให้เข้ากัน ก็จะได้สสารคล้ายโคลนสีเขียวสดแบบในรูปครับ หลังจากนั้นค่อยเติมน้ำที่เหลือลงไป

Making Matcha Usucha and Koicha

  1. ใช้กระปุกมัทฉะที่มีฝาแบบร่อนได้

อุปกรณ์นี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยแท้จริง มันก็เหมือนกระปุกเกลือพริกไทยบนโต๊ะอาหารนี่แหละครับ แต่ยังมีปัญหาอีกคือ มัทฉะที่โดนความชื้นไประยะหนึ่งและจับตัวเป็นก้อนจะลงมาด้วยแรงเขย่ายากมาก มัทฉะที่ไม่ได้แกะใหม่สุดท้ายก็ต้องใช้วิธี 1 หรือ 2 อยู่ดีครับ

  1. เขย่าด้วยกระบอกเชค

เป็นวิธีที่อาจจะง่ายที่สุดในการทำเครื่องดื่มมัทฉะ โดยเฉพาะเมื่อเขย่าผสมกับนมจะได้ฟองปริมาณมาก แถมยังละเอียดสุดๆ ข้อเสียคือเป็นเรื่องยากที่จะเขย่าไม่ให้มีก้อนมัทฉะอยู่เลย แต่อย่างน้อยก้อนมัทฉะที่จับตัวจะไม่ใหญ่มาก เป็นก้อนเล็กๆ กระจายทั่วไป ระดับที่ทานแล้วไม่ติดขัดอะไร อย่างไรก็ตาม หากเขย่ากับน้ำร้อน หรือนมร้อนจะทำให้ไอน้ำอัดอยู่ภายในกระบอก ทำให้กระเด็นเลอะเทอะเวลาเปิดฝา รวมถึงต้องระวังไม่ให้ลวกมือด้วย

  1. ผสมด้วยเครื่องทำฟองนม

เครื่องทำฟองเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ผสมมัทฉะได้สะดวกสบาย แต่อย่างที่บอกไปในข้อ 2. การเริ่มผสมมัทฉะกับของเหลวปริมาณน้อยๆ ก่อนจะมีประสิทธิภาพกว่าอยู่ดี

  1. ผสมผงมัทฉะกับน้ำตาลก่อน

กรณีที่ต้องการใส่น้ำตาลในสูตร ให้คลุกน้ำตาลเข้ากับผงมัทฉะก่อนเลย น้ำตาลที่ละลายได้ง่ายจะสร้างช่องว่างให้ผงมัทฉะแยกจากกันได้ง่าย ไม่เป็นก้อน

  1. ใช้ไม้แปรงมัทฉะตีผสมด้วยความเร็วสูง

วิธีสุดท้ายนี้เป็นวิธีที่อาศัยความไวเข้าว่า ในกรณีที่ใช้ไม้แปรงผสมมัทฉะ มือคุณต้องไว้มากๆ ใช้ข้อมือขยับไม้แปรงขึ้นลงเป็นเลข 1 ด้วยความไวเหมือนนักกีต้าร์เกาสายอย่างเชี่ยวชาญ เทคนิคนี้คงต้องอาศัยประสบการณ์ครับ เว้นเสียแต่คุณจะใช้เครื่องทุ่นแรงอย่างเครื่องทำฟองนม หรือเครื่องปั่น ซึ่งในกรณีนี้ ผมก็แนะนำให้ผสมกับของเหลวปริมาณน้อยก่อนอยู่ดีครับ เพราะมันจะละเอียดกว่า

โดยสรุป ถ้าคิดว่ามัทฉะเป็นแป้ง เรื่องทั้งหมดจะง่ายขึ้นครับ คุณสามารถใช้วิธีผสมแป้งเวลาทำขนมมาใช้กันมัทฉะได้เลย เท่านี้อะไรๆ ก็ง่ายขึ้นมากแล้ว

บทความจาก : Vachi

พูดถึงมัทฉะ ทำไมต้องเป็นอุจิมัทฉะ

ในญี่ปุ่น สินค้าที่เรียงรายในซุปเปอร์มาเก็ต ขนมในร้านขนมต่างๆ ที่ใช้มัทฉะเป็นส่วนผสม ไม่ว่าที่ไหนต่างก็พยายามโฆษณาว่าใช้อุจิมัทฉะทั้งนั้น หมู่นี้ในไทยเองก็คงเริ่มคุ้นเคยกับชื่อ “อุจิ” บ้างแล้ว สงสัยกันบ้างไหมครับ ว่าทำไมถึงต้องเป็นอุจิมัทฉะ ไม่ใช่มัทฉะที่อื่น

  1. นิยามของอุจิมัทฉะ

“อุจิ” คือชื่อเมืองหนึ่งในจังหวัดเกียวโต รากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่นี่มากว่าพันปี เห็นได้จากมรดกโลกอย่างวัดเบียวโดอิน รวมถึงเป็นแหล่งของผู้ผลิตชาในญี่ปุ่นด้วย เมื่อคริสตศตวรรษที่ 12 สมัยราชวงศ์ซ่งของจีน ตอนที่พระภิกษุเอไซนำชาและโม่บดจากจีนมายังญี่ปุ่นครั้งแรก ก็นำมายังเกียวโต กล่าวได้ว่าชาชนิดแรกที่ดื่มกันในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็คือมัทฉะนี้เอง ขณะที่จีนได้เลิกวิธีดื่มโบราณนี้และกลายมาเป็นวิธีสกัดร้อน เอาน้ำชาออกจากใบชาอย่างปัจจุบัน

แต่ว่า ความจริงแล้ว ชาอุจิในปัจจุบันไม่ได้ปลูกในเมืองอุจิอย่างเดียวหรอกนะครับ

สำนักงานกิจการชาจังหวัดเกียวโตให้นิยามชาอุจิไว้ว่า เป็นชาที่ปลูกใน 4 จังหวัดที่มีพัฒนาการมาแล้ว โดยพิจารณาแล้วถึงด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศ อันได้แก่จังหวัดเกียวโต นาระ ชิกะ และมิเอะ ซึ่งทำการแปรรูปชาโดยกิจการชาในจังหวัดเกียวโต ที่จังหวัดเกียวโต

นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนสินค้าอุจิมัทฉะยังให้นิยามเพิ่มไว้อีกว่า มัทฉะคือชาที่แปรรูปขั้นสุดท้ายจากชาซึ่งผลิตในสี่จังหวัดดังกล่าวภายในจังหวัดเกียวโตด้วยวิธีการอันกำเนิดมาจากอุจิ อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ชาอุจิที่ได้รับการนับถือว่าคุณภาพยอดเยี่ยมแท้จริงแล้วอาจประกอบไปด้วยชาจากสี่จังหวัดซึ่งอยู่ติดๆ กันข้างต้น แต่ยังคงความเป็นอุจิไว้ด้วยวิธีการผลิตนั้นเอง

  1. ปริมาณการปลูกมัทฉะอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น

ในปี 2018 ประเทศญี่ปุ่นผลิตเท็นฉะ (คำเรียกใบชาที่จะนำมาทำมัทฉะ) 3,660 ตัน ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ถูกผลิตในเกียวโตถึง 1,200 ตัน นอกจากนี้ยังมีจากจังหวัดนาระ 250 ตัน จังหวัดชิกะ 50 ตัน และจังหวัดมิเอะ 150 ตัน อ้างอิงจากนิยามด้านบนแล้ว มัทฉะราวครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่นอาจมาจาก “ชาอุจิ” ก็เป็นได้ แสดงให้เห็นว่ามัทฉะอุจิถูกผลิตมาจากแหล่งมัทฉะที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว

  1. ชนะการประกวดแบบขาดลอย

ในงานเทศกาลชาระดับประเทศญี่ปุ่น (全国お茶まつり) ซึ่งจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้งนั้นเป็นงานที่เหล่าคนในวงการชาจะมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา มีกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการประกวดคุณภาพชาระดับประเทศด้วย (全国茶品評会) ล่าสุดได้จัดเป็นครั้งที่ 73 ที่เมืองนิชิโอะ จังหวัดไอจิในวันที่ 27 – 30 สิงหาคม ปี 2019 นี้เอง

สำหรับมัทฉะ จะทำการประเมิณจากในสภาพที่เป็นใบ (เท็นฉะ) อยู่ครับ จะถูกพิจารณาจาก 5 ด้านด้วยกันคือ 1. ลักษณะภายนอก เช่น สีหรือรูปร่าง 40 คะแนน กลิ่น 65 คะแนน สีของน้ำชา 20 คะแนน รสชาติ 65 คะแนน สีของน้ำจากกากชา (จุดนี้ทำเฉพาะเท็นฉะ) 10 คะแนน รวม 200 คะแนน

อุจิมัทฉะ

การประกวดคุณภาพชาระดับประเทศครั้งที่ 73 มีข้อมูลแต่ผลรางวัลพิเศษ ไม่มีข้อมูลคะแนนระดับของชา ในสาขาเท็นฉะนั้น ชาที่ผลิตจากเกียวโต ได้รางวัลถึง 5 รางวัลจากทั้งหมด 6 รางวัล นอกจากนั้นสำหรับรางวัลแหล่งผลิตดีเด่น เมืองอุจิ จังหวัดเกียวโตยังได้อันดับ 1 และเมืองโจโย จังหวัดเกียวโตก็ได้อันดับ 2 ปีที่แล้วเองในการประกวดคุณภาพชาระดับประเทศครั้งที่ 72 จัดขึ้นที่จังหวัดชิสึโอกะ ชาเท็นฉะที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ได้คะแนนเต็ม 200 คะแนนมาจากเมืองอุจิ โดยชาที่ได้รับลำดับการประเมิณว่าเป็นระดับ 1 -3 (นอกนั้นไม่ได้รับ) จำนวนทั้งหมด 34 รายการ ซึ่ง 31 รายการมาจากเกียวโต และในจำนวนนี้ 22 รายการมาจากเมืองอุจิ สำหรับผลรางวัลพิเศษ เท็นฉะจากเกียวโตกินเรียบทั้งหมด 6 รางวัลเลย

  1. แล้วเรื่องรสชาติล่ะ?

บางคนสงสัยว่า อ้าว แล้วสรุปว่าอุจิมัทฉะ มีรสชาติวิเศษกว่าที่อื่นยังไงล่ะ? ความจริงนี่เป็นคำถามที่ยาก เพราะเอาแค่ในอุจิเอง มัทฉะก็มีหลายรุ่น หลายแบบ แต่ละแบบคาแรกเตอร์ก็ต่างกันตามสายพันธุ์ หรือตามผู้ผลิตจะกำหนด รสย่อมต่างกันอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเยี่ยมของมัทฉะได้คือ รสอุมามิ (ความกลมกล่อม) เป็นรสชาติเฉพาะ ที่แยกต่างหากกับความหวาน ยิ่งเป็นมัทฉะชั้นยอดเท่าไหร่ ความฝาดขมชวนให้หน้าเบ้จะกลืนหายไปในรสอุมามิ อุจิมัทฉะหลายตัวมากที่บรรลุถึงคุณภาพระดับนี้

ความอร่อยของอุจิมัทฉะไม่ได้จบที่แค่รสอุมามิมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ยังมีเรื่องความสมดุลขององค์ประกอบต่างๆ เช่นกลิ่นที่มีหลากหลายมาก ความขม ความหวาน ความรู้สึกเมื่อดื่ม ทำให้คนบางคนพอใจกับมัทฉะที่อุมามิไม่มากแต่มีความขมอย่างลงตัว ติดใจกับมัทฉะที่เกรดไม่สูงมาก (Matchazuki รุ่น Classic ให้อุมามิไม่มากเท่ารุ่น Excellent แต่กลิ่นก็หอมไม่แพ้กันนะครับ) หรือพบว่ามัทฉะเกรดไม่สูงมากเหมาะกับการทำขนมแบบหนึ่งมากกว่า

อย่างไรก็ตามการทำมัทฉะเช่นนี้ได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูกเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ฝีมือคนเบลนด์ชาจากแหล่งต่างๆ ให้สมบูรณ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าวัตุดิบอย่างชาที่ปลูกนั้นไม่ดี เบลนด์ยังไงก็คงไม่ได้ชาชั้นยอดหรอกจริงไหมครับ?

พอจะเห็นกันหรือยังครับว่าอุจิมัทฉะมีโปรไฟล์ดีขนาดไหน ถ้าเห็นที่ไหนเขียนว่าใช้มัทฉะจากเมืองอุจิ ก็รับประกันได้ระดับหนึ่งว่ากลิ่นรสย่อมดีกว่า มีภาษีดีกว่ามัทฉะทั่วไปแน่นอน

บทความจาก : Vachi

สารอาหารในมัทฉะและปริมาณมัทฉะที่ดีต่อสุขภาพ

ก่อนที่จะเฉลยเรามาดูกันผ่านๆ ดีกว่าว่ามัทฉะมีสารอาหารอะไรอยู่บ้าง
มัทฉะปริมาณ 100 กรัมมีสารอาหารดังต่อไปนี้

“พลังงาน 324 kcal, น้ำ 5 กรัม, โปรตีน 29.6 กรัม, โปรตีนจากกรดอะมิโน 22.6 กรัม, ไขมัน 5.3 กรัม, 0.68 กรัม, ไตรกลีเซอไรด์ 3.3 กรัม, กรดไขมันอิ่มตัว 0.68 กรัม, กรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะคู่เดี่ยว 0.34 กรัม, กรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะคู่หลายคู่ 2.16 กรัม, คอเรสเตอรอล 0 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 39.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรตที่นำไปใช้ได้ 1.6 กรัม, ไฟเบอร์ที่ละลายได้ในน้ำ 6.6 กรัม, ไฟเบอร์ที่ไม่ละลายในน้ำ 31.9 กรัม, ปริมาณไฟเบอร์ทั้งหมด 38.5 กรัม, ปริมาณเถ้า (ส่วนของสารอนินทรีย์ในอาหาร) 7.4 กรัม, โซเดียม 6 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 2700 มิลลิกรัม, แคลเซียม 420 มิลลิกรัม, แมกนีเซียม 230 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 350 มิลลิกรัม, เหล็ก 17.0 มิลลิกรัม, สังกะสี 6.3 มิลลิกรัม, ทองแดง 0.6 มิลลิกรัม, วิตามิน A เบต้าแครอทีน 29000 ไมโครกรัม, วิตามิน A1 2400 ไมโครกรัม, วิตามิน E โทโคฟีรอล 28.1 มิลลิกรัม, วิตามิน K 2900 ไมโครกรัม,วิตามิน B1 0.6 ไมโครกรัม, วิตามิน B2 1.35 มิลลิกรัม, ไนอาซิน 4.0 มิลลิกรัม, วิตามิน B6 0.96 มิลลิกรัม, กรดโฟลิก 1200 มิลลิกรัม, กรดแพนโทเทนิก 3.7 ไมโครกรัม, วิตามิน C 60 มิลลิกรัม, คาเฟอีน 3.2 กรัม, แทนนิน 10.0 กรัม”

ขอโทษที่ยาวนะครับ อ่านผ่านๆ ก็พอ
ข้อมูลนี้ผมแปลมาจากรายการสารอาหารมาตรฐานในสินค้าบริโภค ฉบับแก้ไขครั้งที่ 7 ปี 2015 (ฉบับล่าสุด) จัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่นครับ เชื่อถือได้และไปใช้อ้างอิงได้เลย
ดูจากข้อมูลนี้แล้วจะพบว่ามัทฉะมีคุณค่าทางสารอาหารมากมาย กินทั้งกระปุกไป 100 กรัมคงไม่เป็นไรใช่ไหมครับ? ทว่ามีสารตัวหนึ่งที่เราควรระวังเป็นพิเศษ นั่นคือ คาเฟอีน

มัทฉะ 100 กรัม มีคาเฟอีน 3.2 กรัม แปลว่ามัทฉะ 1 กรัมมีคาเฟอีน 32 มิลลิกรัมนั่นเอง สมมุติว่าชามัทฉะกับน้ำร้อน ปกติใช้มากสุด 2 กรัม แปลว่าร่างกายเราจะได้รับคาเฟอีน 64 มิลลิกรัม
งั้นปริมาณคาเฟอีนที่ควรได้รับคือเท่าไหร่กันล่ะ?
ขณะนี้ไม่มีค่า ADI (Acceptable Daily Intake) ที่กำหนดไว้สำหรับคาเฟอีน หากอ้างตามคำแนะนำของหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป EFSA (European Food Safety Authority) ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมใน 1 วันนั้นแตกต่างกันตามช่วงอายุและน้ำหนักตัวตามตารางด้านล่างนี้

ช่วงอายุ ปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน ปริมาณมัทฉะที่แนะนำ สรุปอย่างง่าย
75 ปีขึ้นไป 22-417mg 0.69-13.03g ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ 1 ช้อนชา
65-75 ปี 23-362mg 0.72-11.31g ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ ครึ่งช้อนชา
18-64 ปี 37-319mg 1.16-9.97g ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ
10-18 ปี 0.4-1.4mg/น้ำหนักตัว (kg) 0.01-0.0437g x น้ำหนักตัว (kg)
3-10 ปี 0.2-2.0mg/น้ำหนักตัว (kg) 0.006-0.0625g x น้ำหนักตัว (kg)
12-36 เดือน 0-2.1mg/น้ำหนักตัว (kg) 0.006-0.03125g x น้ำหนักตัว (kg)
สตรีมีครรภ์ 200 mg ต่อวัน 6.25 gต่อวัน ได้ถึง 1 ช้อนโต๊ะ ครึ่งช้อนชา

ตามตารางด้านบน ช่วงอายุ 12 เดือนถึง 18 ปีคงต้องฝากผู้อ่านคำนวณกันเอาเองนะครับ ท่านที่ไม่มีเครื่องวัดอาจจะรู้สึกยุ่งยาก ผมเลยลองดูว่าถ้าเปลี่ยนเป็นหน่วยช้อนชาที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคย

หากท่านดูรูปประกอบด้านล่างรูปที่มีช้อนคันสีฟ้า นั่นเป็นช้อนตวงปริมาณ 1 ช้อนชา ปริมาณมัทฉะจะอยู่ประมาณประมาณ 2.2-2.4 กรัมครับ ส่วนในรูปปกบทความนั้นตวงมาจากช้อนตวง 1 ช้อนชาจะได้มัทฉะราว 4.9-5.1 กรัมครับ ช้อนตวงพวกนี้หาไม่ยากเลย ลองเอามากะๆ ดูก็ได้ครับ

การศึกษาเรื่องปริมาณคาเฟอีนยังเป็นหัวข้อศึกษากันอยู่ องค์กรของหลายๆ ประเทศก็ให้ข้อสรุปแตกต่างกัน บางที่เช่นสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารประเทศนิวซีแลนด์ (NZFSA) ก็กล่าวว่า วัยผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงสามารถรับคาเฟอีนได้สูงสุด 400 mg ต่อวัน (มัทฉะ 2 ช้อนโต๊ะกับ 1 ช้อนชานิดๆ ) หากมีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาตัวเลขนี้คงเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเชื่อตามยุโรป ตัวเลขในตารางนี้ก็พอให้เห็นภาพบ้างครับ

ถ้าร่างกายรับคาเฟอีนไปแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง?

มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์และโทษของคาเฟอีน รวมถึงมีหลายกรณีมาก เราจึงตัดสินกันไม่ได้ง่ายๆ ว่าคาเฟอีนจะส่งผลแบบไหนกับคนจำพวกไหน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหาร ประเทศญี่ปุ่น (Food Safety Commission of Japan: FSC) ก่อตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคาเฟอีนไว้ดังนี้ครับ

ได้รับในปริมาณเหมาะสม: ประสาทตื่นตัว แก้ความง่วง แก้อาการเมาแอลกอฮอล์ (ระวังจะดื่มสุรามากเกินไปนะครับ)

ได้รับในปริมาณมากเกินไป:

  1. กระตุ้นประสาทส่วนกลาง: อาการวิงเวียน ชีพจรสูงขึ้น วิตกกังวล อาการสั่น อาการนอนไม่หลับ
  2. กระตุ้นทางเดินอาหาร: กระตุ้นอาการท้องเสีย คลื่นไส้
  3. ขับปัสสาวะ

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังกล่าวว่า ในสตรีมีครรภ์ ร่างกายจะมีการกำจัด (clearance) คาเฟอีนจากกระแสเลือดได้ช้าลง งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าการรับคาเฟอีนมากเกินไป (ตัวเลขขององค์การอนามัยโลกคือ 300 mg ต่อวัน – มัทฉะเกือบ 2 ช้อนโต๊ะ) มีความเป็นไปได้ที่พัฒนาการของทารกในครรภ์จะช้าลง น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำลง คลอดเร็ว และทารกตายคลอด จึงแนะนำให้จำกัดปริมาณคาเฟอีนในระดับที่เหมาะสม

ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มประเทศญี่ปุ่นยังแนะนำไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอินขณะใช้เภสัชภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

ไม่ว่าอาหารนั้นๆ จะมีคุณค่าทางสารอาหารมากขนาดไหน ถ้าทานมากไปก็ไม่ดีทั้งนั้น แม้แต่มัทฉะก็ตาม บางคนชงมัทฉะตามธรรมเนียมดั้งเดิม (1.7-2.0 กรัม) ไม่กล้าทานมากๆ หวังว่าเมื่อทุกคนจะดื่มมัทฉะได้อย่างสบายใจมากขึ้นเมื่อได้อ่านบทความนี้นะครับ

https://chakatsu.com/basic/caffeine_matcha/

บทความจาก : Vachi

Matcha cotta frappuccino

เมนูทีเด็ดความหอมนุ่มละมุนอีกเมนูนึงนะครับ
ที่เราจะมาเสนอวิธีการทำกันในวันนี้

Matcha cotta frappuccino
(抹茶コッタフラップ)

วิธีการทำไม่ยากเช่นเคยครับ ทุกคนสามารถทำได้
มาดูวิธีทำกันดีกว่าครับ ^^

ส่วนผสมสำคัญ 

ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Classic 2 ช้อนชา

น้ำร้อน 50 ml

พานาคอตต้าสำเร็จรูป 1 ถ้วย

น้ำเชื่อม 30 ml

นมสดอุ่น 150 ml

น้ำแข็ง

ซอสช็อคโกแลต และ วิปครีม สำหรับตกแต่งแก้ว

ขั้นตอนการทำ

  • ใส่ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Classic ลงในถ้วยชงชา เทน้ำร้อน และใช้แปรงชงชาละลายผงมัทฉะ ผสมจนผงมัทฉะเข้ากับน้ำดีแล้วพักไว้
  • ใส่น้ำแข็งลงในเครื่องปั่น เทนมอุ่น และส่วนผสมมัทฉะที่เตรียมไว้ตามลงไป เติมน้ำเชื่อมตามต้องการ หลังจากนั้นปั่นให้ส่วนผสมเข้ากันดี
  • ตกแต่งแก้วที่เตรียมไว้ด้วย ซอสช็อคโกแลต ใส่พานาคอตต้าสำเร็จรูปลงในแก้ว และเทมัทฉะที่ปั่นเสร็จแล้วตามลงไป ตกแต่งด้วยวิปครีม และ ซอสช็อคโกแลต ด้านบนตามชอบ พร้อมเสิร์ฟแล้วครับ

———————————-

MATCHAZUKI – Crafted for matcha lover
“เพราะเราเลือกมัทฉะ อย่างคนที่รักมัทฉะ”⠀⠀
マッチャラブユー

“ไม่อยากพลาดสูตรเด็ด Content ดีๆ อย่าลืมติดดาว หรือกด SeeFirst ไว้นะครับ ^^”

Cotton Candy Matcha มัทฉะสายไหม

มัทฉะสายไหม

Cotton Candy Matcha

ความหวานนุ่ม สายไหมละลายในปาก
ความหอมหวานที่ลงตัวเข้ากันกับมัทฉะที่เข้มข้น
ไม่ลองไม่ได้แล้วครับ วิธีการทำไม่ยากแน่นอน
แต่อร่อยเอาใจคอชาเขียว แน่นอน!!!
มาดูวิธีทำกันดีกว่าครับ

#สายหวานต้องหลงรัก #มัทฉะทำอะไรก็อร่อย

ส่วนผสมสำคัญ

ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Medium 2 ช้อนชา

น้ำร้อน 50 ml

นมสด 150 ml

น้ำเชื่อม 30 ml

นมสด (สำหรับทำฟองนม)

น้ำแข็ง

สายไหม สำหรับตกแต่ง

ขั้นตอนการทำ

  • ใส่ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Medium ลงในถ้วยชงชา เทน้ำร้อน และใช้แปรงชงชาละลายผงมัทฉะ ผสมจนผงมัทฉะเข้ากับน้ำดีแล้วพักไว้
  • เทส่วนผสมของมัทฉะที่เตรียมไว้ลงในนมสด เติมน้ำเชื่อมตามความหวานที่ต้องการ และผสมให้เข้ากัน
  • นำนมสดอีกส่วนมาปั่นฟองนม
  • ใส่น้ำแข็งลงในแก้วที่เตรียมไว้ เทส่วนผสมของมัทฉะลงไป ตกแต่งด้วยฟองนม และสายไหมด้านบนให้สวยงาม เท่านี้ก็พร้อมเสิร์ฟมัทฉะสายไหมแล้วครับ

———————————-

MATCHAZUKI – Crafted for matcha lover
“เพราะเราเลือกมัทฉะ อย่างคนที่รักมัทฉะ”⠀⠀
マッチャラブユー