Enhancing Japanese Desserts: Matcha Powder with Three Classic Toppings

“โยคัง วาราบิโมจิ ดังโงะโมจิ” ขนมญี่ปุ่น 3 ชนิดนี้ เห็นได้ทั่วไปในร้านขนมญี่ปุ่น บางร้านก็เสิร์ฟแบบเดี่ยวๆ บางร้านก็เสิร์ฟคู่ชาเขียวร้อนๆ ตามร้านคาเฟ่ จะถูกนำมาเป็นท้อปปิ้งบนพาร์เฟต์ ไอศครีม หรือน้ำแข็งใส เพื่อให้ขนมจานนั้นได้กลิ่นอายและสัมผัสรสชาติความเป็นญี่ปุ่น

ในปัจจุบันได้มีการดัดแปลงปรับสูตรให้รสชาติของขนมทั้ง 3 ชนิดนี้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และมีวิธีจัดเสิร์ฟแบบทันสมัยแต่ได้กลิ่นอายความเป็นวากาชิ หรือขนมญี่ปุ่น หลากหลายไอเดียและวิธีทำขนมแบบง่ายๆให้คนรักมัทฉะเอาไปปรับสูตรทำเองที่ร้านได้

Matcha YokanMatcha Yokan

เริ่มจาก “โยคัง”(羊羹) โยคังเป็นวุ้นถั่วแดงกวน ปกติจะมีรูปทรงเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้า สีน้ำตาลแดงจากถั่วรสชาติหวานจัด ส่วนใหญ่จะทานคู่กับชาเขียวร้อนในพิธีชงชารสชาติจะตัดกัน เดิมทีมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน เป็นขนมที่ทำด้วยเจลาตินจากเนื้อแกะ ในยุคคามาคุระมีนักบวชศาสนาพุทธนิกายเซน เป็นผู้นำขนมโยคังเข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่น แต่เนื่องจากศาสนาพุทธห้ามการฆ่าสัตว์ จึงมีการเปลี่ยนจากเจลาตินจากสัตว์ มาเป็นแป้ง ถั่วแดง และวุ้น และมีการใช้วุ้นเข้ามาผสมในภายหลัง จนกลายมาเป็นโยคังในปัจจุบัน

โยคังเป็นวุ้นญี่ปุ่นซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน มีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีน้ำตาลแดงโดยทำจากถั่วแดงกวน (Anko) ถ้าเป็นโยคังสีเขียวก็ทำจากชาเขียว ที่มีวิธีทำแสนง่าย

  1. นำถั่วแดงบดเนื้อเนียน 225 กรัมและน้ำตาลทรายขาว 70 กรัมผสมลงในหม้อ นำไปต้มด้วยไฟกลาง คอยคนตลอดด้วยไม้พายเพื่อไม่ให้ไหม้
  2. ต้มไปซักพัก แล้วลองลากไม้พายลงไปตรงกลางแล้วยังเหลือเป็นรอยลาก คือถั่วแดงไม่ไหลกลับมากลบรอยก็ถือว่าโอเค จากนั้นตักออกมาแผ่บนถาดเพื่อให้เย็นลง
  3. ในหม้อต้มอีกใบผสมน้ำ 180 มล. + ผงชาเขียว 5 กรัม กับผงวุ้นหรือผงคันเทน 2 กรัม  ต้มจนเดือดแล้วจึงลดเป็นไฟเบา ต้มต่ออีก 2 นาทีแล้วจึงปิดไฟ
  4. ผสมน้ำตาลทรายแดง  20 กรัม และ (2) ลงไปใน (3) ผสมจนเข้ากัน นำไปต้มจนเดือดแล้วจึงลดเป็นไฟเบา ต้มต่ออีก 2 นาที
  5. เทใส่พิมพ์แล้วนำไปแช่เย็น 30 นาที เอาออกมาหั่นเสิร์ฟเป็นชิ้นๆ อาจเสิร์ฟคู่กับถั่วแดงเชื่อมด้านบน

คุณสมบัติอีกอย่างที่คาดไม่ถึงของขนมโยคัง คือ เก็บไว้ได้นาน อย่างเช่นมากถึง 5 ปี 6 เดือน เพื่อสามารถเก็บเป็นอาหารยามฉุกเฉินเวลามีเหตุภัยพิบัติธรรมชาติ นอกจากนี้ร่างกายยังดูดซึมสารอาหารได้ง่าย และเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติได้แม้ไม่ได้นำเข้าตู้เย็น

Warabi MochiWarabi Mochi

ส่วน” วาราบิโมจิชาเขียว “เป็นขนมญี่ปุ่นที่ทำด้วยแป้งจากต้นวาราบิ เนื้อแป้งหนึบ ๆ คล้ายกับแป้งโมจิ นิยมนำไปคลุกกับ คินาโกะ (Kinako) ซึ่งเป็นผงถั่วเหลืองได้กลิ่นหอม ๆ แบบถั่วคั่ว หรือทานคู่ซอสน้ำตาลทรายแดง เรียกว่า คุโรมิสึ (Kuromitsu) หรือโรยผงชาเขียว ก็เป็นขนมที่ได้รับความนิยมมากๆ ในช่วงหน้าร้อน ตามร้านคาเฟ่จะมีวาราบิโมจิเป็นท้อปปิ้งบนพาร์เฟต์ ไอศครีม วิธีทำก็ไม่ยาก เริ่มจาก

  1. ผสมแป้งวาราบิโมจิเขียว100 กรัม นํ้าตาล 50 กรัม ผงมัทฉะ  1 ช้อนชา นํ้าเปล่า 500 มล. ในอ่างผสม
  2. เอาหม้อใส่นํ้าต้มให้เดือด วางอ่างผสมลงไปด้านบน กวนไปเรื่อยๆ พอแป้งเริ่มสุก ก็ยกลงกวนต่อจนแป้งสุกและใสทั่ว เป็นเนื้อเดียวกัน โรยผงถั่วบนถาดหรือภาชนะที่จะใช้ใส่วาราบิโมจิ เสร็จแล้ววางในอ่างที่ใส่นํ้าแข็ง ทิ้งไว้ให้เย็นและเซ็ตตัว ประมาณ 20 นาที
  3. เทออกมาหั่น สังเกตจากแป้ง แป้งจะนุ่ม ใส และไม่คงรูป หั่นแล้วไม่เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าเป็นเพราะแป้งนุ่มมากๆ ทำเสร็จแล้วรีบทานให้หมด
  4. หากใครอยากทานกับน้ำตาลคุโรมิทสึ ให้เอาน้ำตาลดำ หรือน้ำตาลทรายแดงบ้านเรา 50 กรัม ต้มละลายกับน้ำ 200 มล.  ปริมาณน้ำขึ้นอยู่กับความหวานที่ต้องการ เพียงเท่านี้ก็เหมือนได้ไปคาเฟ่ที่ญี่ปุ่นเลย

Warabi Mochi

ขนมตัวสุดท้าย “ดังโงะโมจิชาเขียว” ขนมที่ทำจากแป้งโมจิ ปั้นเป็นก้อนกลมๆ รสชาติเค็มๆ แต่ก็มีบางสูตรอาจเติมเนื้อเต้าหู้เข้าไปผสมด้วย แล้วนำไปนึ่ง หรือ ต้มในน้ำเดือดจนสุกก่อน ย่างบนเตาถ่าน ก่อนจะราดด้วยสารพัด หน้าต่างๆ เช่น โชยุ มิโสะ ถั่วแดงกวน มันเทศหวาน งาดำบด หรือ ซอสชาเขียว ด้วยรสสัมผัสนุ่ม หนุบหนับ ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ แม้วิธีการเสิร์ฟจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ขนมดังโงะก็ยังถือได้ว่าเป็นขนมที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงขนบธรรมเนียมและประเพณีอันเก่าแก่ในอดีตของญี่ปุ่นมานับร้อยๆปี มาลงมือทำดังโงะตามสไตล์คนรักชาเขียวกันดีกว่า โดยสามารถผสมผงชาเขียวลงไปในแป้งเลยก้ได้เพื่อให้ได้แป้งสีเขียว หรือที่เห็นกันทั่วไปจะทำเป็นลูกสีขาวธรรมดา แต่ตกแต่งด้วยท้อปปิ้ง หรือซอสแบบต่างๆ

DangoDango

  1. เริ่มจากผสมแป้งข้าวเหนียว 100 g. แป้งข้าวจ้าว 100 g. และน้ำตาล 2 ช้อนชา เข้าด้วยกัน
  2. เติมน้ำ ⅔ ส่วน ในส่วนผสม ค่อยๆนวดจน เป็นเนื้อเนียน แล้วปั้นแป้งเป็นก้อนๆ เล็กใหญ่ตามต้องการ
  3. ค่อยๆย่อนลงต้มในน้ำเดือด ประมาณ 1 นาที หรือจนตัวดังโงะลอยขึ้น จากนั้นตักขึ้นแล้วนำมาน็อคด้วยน้ำเย็นจัด
  4. ปล่อยให้สะเด็ดน้ำแล้วนำมาเสียบไม้ แล้วนำไปย่าง ประมาณ 4 นาทีแล้วเอาขึ้น
  5. ส่วนน้ำซอสหรือท้อปปิ้งที่ใช้ราดดังโงะ สามารถดัดแปลงได้ตั้งแต่ใช้ถั่วขาวผสมผงชาเขียว หรือราดด้วยซอสมิทาราชิ ที่ทำจากน้ำตาล 5 ช้อนโต๊ะ + ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ + มิริน 1 ช้อนโต๊ะ + น้ำเปล่า 5 ช้อนโต๊ะ + แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ เคี่ยวจนเข้ากัน หรือจะทานคู่กับไอศรีมชาเขียวก็เป็นมื้ออร่อยของเด็กๆอย่างแน่นอน

Matcha DangoMatcha DangoMatcha Dango

ที่มา

teanobi.com

8days.sg

http://kyotofoodie.com/kyoto-cafe-jouvencelle-gion/

recetasgratis.net

https://www.flickr.com/photos/bananagranola/2529983071

บทความจากFuwafuwa

Sakura & Matcha : A Perfect Match for Spring

ช่วงนี้ของทุกปี หลายคนคงนึกถึงดอกซากุระสีชมพูบานสะพรั่ง นั่งทานขนมญี่ปุ่นไปเพลินๆ พร้อมจิบชาอุ่นๆ ทั่วญี่ปุ่นก็จะมีขนมที่มีส่วนผสมของซากุระออกใหม่แทบจะทุกร้าน

โดยเฉพาะการจับคู่กับเมนูชาเขียวยิ่งช่วยดึงรสชาติและความกลมกล่อมของซากุระออกมาได้อย่างลงตัว เช่น ซอฟต์ครีมชาเขียวซากุระ ชาเขียวลาเต้ซากุระ หรือจะเป็นโดนัทที่นำซากุระมาเป็นส่วนผสมในเกลซที่เคลือบโดนัท ก็เป็นการปรับสูตรจากเดิมที่ไม่ยากและสามารถทำได้กับทุกเทศกาล อย่างไรก็ตามความสนุกในการดื่มด่ำบรรยากาศเช่นนั้นของปีนี้คงเป็นไปได้ยาก ด้วยสถานการณ์โควิด 19 ที่กำลังระบาด Matchazuki เลยเอาใจคนคิดถึงญี่ปุ่นด้วยสูตรขนมที่ทำไม่ยาก และได้กลิ่นอายซากุระ

Sakura & MatchaSakura & Matcha

เริ่มด้วย “แพนเค้กชาเขียวโมจิไส้ถั่วขาวซากุระถั่วแดง”

Sakura & Matcha

 

เพียงนำน้ำ 150 cc. เทลงไปในแป้งโมจิ หรือแป้งข้าวเหนียว 30 กรัม แล้วคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้น ร่อนแป้งเค้ก 30 กรัม และเติมผงมัทฉะ 2 กรัม กับน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะลงไป คนให้เข้ากัน พักไว้ในตู้เย็นประมาณ 30 นาที

หลังจากนั้นทาน้ำมันบางๆ บนกระทะที่อุ่น ตักแป้งที่เตรียมไว้เกลี่ยให้เป็นวงรี ทอดด้วยไฟอ่อน จนสุกทั้ง 2 ด้านเป็นอันเรียบร้อย สอดไส้ด้วยถั่วขาวกวนมาผสมกับผงซากุระ 2 กรัม หรือปรับระดับรสชาติตามชอบ หากใครทำไส้รสชาติซากุระอ่อน แนะนำให้เอาใบซากุระดองเกลือมาห่อและแต่งด้วยดอกซากุระดองเกลืออีกชั้นเป็นอันเรียบร้อย

เมนูถัดมาที่แนะนำเลยคือ “ฮานามิดังโงะ” ดังโงะ 3 สี สีเขียว ขาว ชมพู ดังโงะชนิดนี้นิยมทานช่วงซากุระในระหว่างดูดอกไม้ ซึ่งมีหลายความเชื่อว่าดังโงะ 3 สี แทนการผลิบานของดอกซากุระ โดยสีเขียวแทนใบซากุระ สีขาวแทนดอกซากุระที่กำลังตูม และสีชมพูแทนดอกซากุระที่กำลังบานสะพรั่งนั้นเอง

มาเข้าครัวเริ่มทำกันเลย…..

เริ่มจากแบ่งชามนวดออกเป็น 3 ชาม

  • ชามที่ 1: นำแป้งโมจิ 40 กรัม, เต้าหู้ 40 กรัม, น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ ผงซากุระ 2 กรัม มานวดให้เข้ากันจนนิ่ม
  • ต่อมาในชามที่ 2: นำแป้งโมจิ 40 กรัม, เต้าหู้ 40 กรัม, น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ. ผงมัทฉะ 2 กรัม  มานวดให้เข้ากันจนนิ่ม หรือบางร้านจะใช้เป็นแป้งโมจิผสมโยโมกิเลยก้ได้ (โยโมกิ คือหญ้าญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง มีกลิ่นและรสชาติคล้ายผัก นิยมเอามาทำขนมวากาชิ)
  • ส่วนสุดท้ายชามที่ 3: นำแป้งโมจิ 40 กรัม, เต้าหู้ 40 กรัม, น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ มานวดให้เข้ากันจนนิ่มหลังจากนั้น ต้มน้ำให้เดือด แล้วใส่แป้งดังโงะลงไปต้มให้ดังโงะลอยขึ้นมา(ประมาณ 2-3 นาที) ใช้ตระกร้อช้อนขึ้นมาจากน้ำเดือด แล้วล้างด้วยน้ำเพื่อให้ดังโงะหายร้อน แล้วพักไว้ นำไม้เสียบมาเสียบดังโงะ. 3 ชิ้นต่อไม้ เป็นอันเรียบร้อยพร้อมทาน

Matcha DangoDango

ซึ่งตัวฮานามิดังโงะนั้นที่ญี่ปุ่นนิยมเอาไปเป็นท้อปปิ้งกับพาร์เฟต์ชาเขียว หรือซอฟท์ครีมชาเขียว เป็นการจับคู่ที่กลมกล่อมลงตัว

Sakura & MatchaSakura & Matcha

ต่อด้วย “เครปเค้กชาเขียวซากุระถั่วแดง” ที่เกิดจากเค้กชิฟฟ่อนชาเขียว สลับชั้นกับครีมสด ถั่วแดงและเครปซากุระ ซึ่งวิธีทำเครปซากุระก็ไม่ต่างกับการทำเครปเค้กปกติเลย โดยตีไข่ 4 ฟอง ให้เข้ากัน และใส่น้ำตาลทราย ⅓ ถ้วยลงไปคนพอละลาย ร่อนแป้งสาลี 2½  ถ้วย พร้อมผงซากุระลงไป 2 ช้อนโต๊ะ หลังจากนั้นค่อยๆ เทนม 400 ml. ลงในแป้ง แบ่งใส่ 3-4 รอบ คนให้เข้ากันจนไม่เหลือเม็ดแป้ง

ใส่เนยละลาย ¼ ถ้วย ลงไป คนให้เข้ากัน กรองส่วนผสมทั้งหมด แล้วพักแป้งในตู้เย็นอย่างน้อย 4 ชั่วโมง พอครบเวลาให้คนแป้งก่อนจะนำมาทอด โดยทาเนยที่กระทะเทฟล่อน ใช้ไฟอ่อน หยอดส่วนผสมแป้งเกลี่ยให้เป็นวงกลม วิธีสังเกตว่าแป้งสุก คือ จะมีฟองอากาศใหญ่ ๆ ดันแผ่นแป้ง ทอดจนแป้งหมด หลังจากพักแป้งโดยการนำไปแช่เย็นประมาณ 2-4 ชั่วโมงก็สามารถนำมาประกอบชั้นเป็นเครปเค้กซากุระชาเขียวได้เลย ส่วนวิธีการทำเค้กชาเขียว สามารถใช้ตามสูตรเค้กชาเขียวของ Matchazuki นี้ได้เลย หรือที่ร้านไหนมีสูตรของตัวเองก็เอามา Mix ได้ ( อ่านสูตรเค้กชาเขียวได้ที่ shorturl.at/abuR5 ) แล้วเปลี่ยนพิมพ์ขนมให้เป็นขนาดเดียวกับเครปซากุระที่ทำ ก็เป็นอันเรียบร้อย

Sakura & Matcha

จะเห็นได้ว่า ซากุระที่ใช้ในการทำขนมมีทั้งแบบที่เป็นผงซากุระที่สกัดมาจากซากุระดอง หรือแบบที่เป็นดอกซากุระดองเลยก็มี ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้แบบไหน และนอกจากสูตรขนมข้างต้นที่ทำให้เราได้สัมผัสกับความกลมกล่อมของชาเขียว และซากุระ คู่ความอร่อยลงตัวแล้ว ยังมีอีกหลากหลายเมนูที่สามารถนำซากุระไปช่วยเพิ่มความอร่อย และได้กลิ่นอายกับ Seasonal นี้ เช่น มาการองชาเขียวครีมสดซากุระ โรลเค้กชาเขียวครีมสดซากุระ หรืออย่างขนมยอดฮิตอย่างไดฟุกุ ก็หยิบจับชาเขียวและซากุระมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว

Sakura & MatchaSakura & Matcha
Sakura & Matcha

ที่มา

http://paogohan.blog42.fc2.com/blog-entry-513.html

https://www.travelsintranslation.com/2015/04/recipe-of-the-month-cherry-blossom-sugars/

https://arigatojapan.co.jp/sakura-and-matcha-a-perfect-match-for-spring/

https://matcha-jp.com/en/1695

https://soranews24.com/2021/03/11/sakura-and-matcha-star-in-new-mister-donut-collection/

https://nagoyafoodie.com/soft-serve-ice-cream-in-japan/

https://constellationinspiration.com/2020/04/dango-mochi.html

บทความจากFuwafuwa