Tag: ผงชาเขียวมัทฉะ
Understanding the Differences Between Ceremonial Grade and Cooking Grade Matcha Powder
เคยสังเกตมั้ยว่าชาเขียวที่เราซื้อกินตามท้องตลาด หรือจากร้านคาเฟ่ต่างๆมีสีเขียวที่เข้มอ่อนแตกต่างกันไป ทั้งที่เป็นชาเขียวเหมือนกัน นั้นเป็นเพราะผงมัทฉะมีหลายเกรด ซึ่งแต่ละเกรดก็จะมีลักษณะ รสชาติ กลิ่น สี ที่ไม่เหมือนกันเกิดจากใบชาที่ผ่านกระบวนการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน ซึ่งผงมัทฉะแต่ละเกรด ก็เหมาะกับการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ
ผงมัทฉะสามารถแบ่งออกเป็น 2 เกรดกว้างๆ คือ 1. Ceremonial grade ( มัทฉะพิธีการ ) และ 2. Cooking grade หรือ Culinary Grade ( มัทฉะสำหรับทำอาหาร ) ซึ่งการแบ่งผงมัทฉะออกเป็น 2 เกรดนี้ มีลักษณะที่คล้ายกับการแบ่งประเภทไวน์ที่แบ่งเป็นไวน์ชั้นดีสำหรับการดื่มเพียวๆ กับไวน์ที่ใช้ปรุงอาหาร
Ceremonial grade ( มัทฉะพิธีการ ) ด้วยรสชาติที่นุ่มนวล และหอมหวานตามธรรมชาติ และไม่มีรสขมเลยของผงมัทฉะที่มีสีเขียวสดใส ให้สีที่ชัดกว่า Cooking Grade มัทฉะพิธีการจึงเป็นชาเกรดสูงจึงเทียบได้กับไวน์ชั้นดี ที่มีรสชาติที่ละเอียดอ่อน แม้ใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อยในการชงก็ทำให้ได้รสชาติที่ดีได้ ผงมัทฉะเกรดนี้เนื้อผงชาจะเนียนเหมือนผงแป้ง และให้รสสัมผัสที่ดีมาก จึงเหมาะสำหรับชงดื่มร้อนๆ หรือปรุงรสแบบธรรมดาที่สุด เพื่อให้ได้สัมผัสที่นุ่มนวลพร้อมความหวานเบาๆ คนญี่ปุ่นนิยมใช้ชาเกรดนี้ในพิธีชงชา ตามแบบวัฒนธรรมของญี่ปุ่นดั้งเดิม ไม่นิยมนำไปทำขนมหรืออาหาร เพราะถ้าไปชงเป็นมัทฉะลาเต้ หรือทำขนม รสชาตินุ่มนวล หอมหวาน อาจจะโดนวัตถุดิบอื่นกลบ และที่สำคัญชาเกรดพิธีการนี้ เป็นชาที่ราคาค่อนข้างสูงมาก หากใช้ทำขนมหรือลาเต้อาจจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย
ส่วน Cooking grade หรือ Culinary Grade ( มัทฉะสำหรับทำอาหาร ) เป็นชาเกรดใช้กับการทำขนม อาหาร สมูตตี้ ไอศครีมและเครื่องดื่มร้อนเย็น เมื่อนำไปปรุงกับส่วนผสมอื่นจะยิ่งทำให้รสชาติของชาเขียวในเมนูนั้นๆโดดเด่นยิ่งขึ้น สีของผงชาเกรดนี้ไม่ได้เขียวสดใสเหมือนมัทฉะพิธีการ เพราะมาจากใบชาที่เก็บเกี่ยวครั้งหลังๆ ซึ่งผงมัทฉะชนิดนี้ก็มีการแตกย่อยลงไปอีก ตามกลิ่น สี และรสชาติของผงชาเพื่อให้เหมาะกับเมนูที่แตกต่างกัน หากใครที่ชื่นชอบความเข้มและออกรสขมของชาเกรดนี้ สามารถเลือกมาชงชาเขียวเพียวๆดื่มได้ แต่จะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าตัว Ceremonial Grade
อย่างไรก็ตาม ชาทั้ง 2 ชนิดจะมีลักษณะที่ต่างกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
- การเก็บเกี่ยว มัทฉะพิธีการจะมาใบยอดอ่อนใบแรกของชาที่เป็นใบที่ดีที่สุด ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมเท่านั้น ซึ่งเป็นการเก็บเกี่ยวครั้งแรก มักจะได้ใบชาที่ดีที่สุดเนื่องจากต้นชายังคงรักษาสารอาหารที่สะสมไว้ในช่วงฤดูหนาว โดยยอดใบชาที่เลือกเก็บจะให้รสชาติที่หวานกว่าใบล่างๆ แต่มัทฉะสำหรับทำอาหารมาจากการเก็บเกี่ยวครั้งที่ 2 ซึ่งใบชาจะมีรสที่ขมกว่า สีไม่สดใสเท่าชาเกรดพิธีการและตัวใบชาจะแข็งกว่า
- สีของผงชา สีเขียวสดใสเป็นสิ่งสำคัญและบ่งบอกถึงความสดชื่น และคุณภาพของชาเกรดสูง ผงมัทฉะเกรดพิธีการที่มีคุณภาพชาสูง จึงมีสีเขียวสดใสกว่าเมื่อเทียบกับมัทฉะสำหรับทำอาหาร เนื่องจากเป็นใบชาที่เก็บเกี่ยวครั้งแรกซึ่งมีคลอโรฟิลล์และแอล – ธีอะนีนสูงที่สุด ส่วนผงมัทฉะสีเขียวค่อนไปทางเหลือง หรือสีเขียวไม่สดใสแสดงให้เห็นว่ามาจากใบชาที่เติบโตมานานแล้ว เป็นใบที่เก็บเกี่ยวจากด้านล่างของต้นชานั่นเอง อย่างไรก็ตามชาบางสายพันธุ์ของญี่ปุ่นที่ปลูกด้วยดินภูเขาไฟอยู่โดยรอบเยอะ ก็ส่งผลต่อสีของชาเช่นกัน เช่น พันธุ์ Kagoshima matcha เป็นที่รู้จักกันดีว่า มีสีเขียวเข้มเล็กน้อย แต่ พันธุ์ Seimei จะมีสีเขียวสดใสมาก
นอกจากความต่างข้างต้นแล้ว หากใบชามาจากไร่ชาออร์แกนิค ก็จะมีรสชาติที่แตกต่างไปกับไร่ชาปกติที่อาจจะมีการใช้สารเคมีในการปลูกอีกด้วย ข้อควรระวังสำหรับการเลือกใช้มัทฉะสำหรับปรุงอาหารที่มีอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ หากเลือกเกรดที่ราคาถูกมากๆอาจจะมีรสฝาดเกินไปแทบจะไม่เห็นรสชาติของมัทฉะเลย
อย่างไรก็ตามมัทฉะทั้งสองเกรดได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันจึงไม่อาจเอามาเทียบกันได้อย่างชัดเจน ซึ่งผงมัทฉะสำหรับการทำอาหารก็ยังสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆอีกหลายประเภทได้ ตามลักษณะการใช้งาน ซึ่งการเลือกใช้ผงมัทฉะทั้ง 2 เกรด ขึ้นอยู่กับความชอบและผลลัพธ์ที่เราต้องการให้ออกมามากกว่า ว่าอยากกินเป็นไอศครีม นามะช็อคโกแลต พุดดิ้ง ชีสเค้กที่ได้รสชาติชาและสีชาเขียวที่ค่อนข้างชัด ที่เหมาะกับการใช้ชาเกรดสูงสุดของชาสำรับทำอาหาร ส่วนตัวที่เกรดรองๆลงไปก็ใช้ทำขนมที่ต้องการความเข้มข้นออกขมๆ เช่น บราวนี่ เค้ก หรือเส้นโซบะ หรือถ้าใช้แต่สีไม่เน้นรสชาติชัดเจนมาก็อาจจะใช้ชาเขียวเกรดรองลงมาในการทำขนมปัง ใช้โรยหน้าขนมนั่นเอง แต่หากต้องการชงดื่มกับน้ำเปล่าเพียวๆ เพื่อให้ได้รสอูมามิของชา แนะนำเป็นชาเกรดพิธีการจะเหมาะกว่านอกจากการแบ่งเกรดชาตามระะเก็บเกี่ยวแล้ว ยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ประเภทตามลักษณะการชงชา เรียกว่า การชงแบบ KOICHA และ USUSHA ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2RrD29N
ที่มา
https://www.matchaeologist.com/blogs/explore/ceremonial-vs-culinary-matcha
https://naokimatcha.com/articles/ceremonial-gradematcha/
http://fullleafteacompany.com/products/matcha
บทความจาก : Fuwafuwa
Green Tea Matcha Chiffon Cake
วิธีการทำเค้กชาเขียวชิฟฟอน^^ (Green Tea Matcha Chiffon Cake)
สูตร นี้ได้มาจากคุณ jumjee ใน Pantip ครับ โดยส่วนผสมและวิธีทำขอคงของต้นฉบับไว้เป็นส่วนใหญ่เลยนะครับ เพราะจะมีเปลี่ยนแค่ผงชาเขียวมัทฉะและมีการเติมผงชาเขียวมัทฉะเพิ่มในส่วน ครีมนิดหน่อยครับ ^^
วัตถุดิบ (สำหรับเค้ก 2 ปอนด์)
เนื้อเค้ก
1. แป้งเค้ก 40 กรัม
2. น้ำตาลละเอียดสำหรับเบเกอรี่ 50 กรัม
3. ผงชาเขียวมัทฉะ (เกรด Medium) 2 ช้อนชา
5. เกลือ 1/4 ช้อนชา
4. กลิ่นวานิลลาผง 1/2 ช้อนชา
6. ไข่แดง(เบอร์2) 2 ฟอง
7. น้ำมันพืช (ในสูตรใช้น้ำมันถั่วเหลือง) 30 กรัม
8. นมสดรสจืด 50 กรัม
9. ไข่ขาว 2 ฟอง
10. น้ำตาลป่น 30 กรัม
11. น้ำมะนาว นิดหน่อย
ส่วนครีม
1. วิปปิ้งครีม 250 กรัม
2. น้ำตาลละเอียดสำหรับเบเกอรี่ 50 กรัม
3. ผงชาเขียวมัทฉะ (เกรด Excellent) 1.5 ช้อนชา
ขั้นตอนการทำ
1. ใส่แป้งลงในชาม ตามด้วยน้ำตาล ผงชาเขียวมัทฉะ วานิลลาผง สุดท้ายคือเกลือ
2. ใช้ตะกร้อมือกวนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันเป็นเนื้อเดียว ไม่เป็นเม็ดจับตัวกัน พักไว้
3. ต่อมาทำส่วนไข่แดง เริ่มจากตอกไข่เย็นๆ ใส่ถ้วยหรือชามไว้ (ไข่ไก่สำคัญสำหรับเค้กชิฟฟอนมาก ไข่ไก่ควรจะสด) แยกไข่แดงไข่ขาว แล้วนำไข่ขาวไปใส่โถตีรอไว้ก่อน
4. นำถ้วยไข่แดงมาเติมน้ำมันแล้วตามด้วยนมสดรสจืด พักไว้
5. สำหรับส่วนสุดท้าย คือส่วนของไข่ขาวนั้น ให้เตรียม 3 อย่างนี้ไว้ คือไข่ขาว น้ำมะนาว และน้ำตาลป่น แยกกันไว้ก่อน แต่ต้องเตรียมให้พร้อมเพราะต้องรีบทำรีบอบไม่งั้นไข่ยุบ
6. วอร์มเตาอบที่ 180 องศาเซลเซียส
7. เมื่อทุกอย่างพร้อม เริ่มต้นด้วยการตีไข่ขาวด้วยสปีดสูงสุด จนเป็นฟองแฟ้บ
8. บีบมะนาวลงไป
9. จากนั้นค่อยๆ ใส่น้ำตาลป่นลงไปเรื่อยๆ ไม่ควรใส่พรวด เพราะอาจทำให้ฟองไข่ยุบได้
10. ตีจนให้ตั้งยอดแบบในรูป
11. ทำส่วนไข่แดง นำเอาส่วนไข่แดงมาเทรวมกับส่วนแป้ง บางท่านอาจจะทำเป็นหลุมไว้ตรงกลาง ก็ช่วยได้
12. กวนเร็วๆ แรงๆ และพอดีๆ เป็นคำที่ต้องท่องไว้สำหรับการกวนส่วนของไข่แดง (เค้กจะออกมานุ่มละลายในปาก หรือว่าเหนียวสากคอก็อยู่ที่ปริมาณการกวนครั้งนี้) กวนให้พอดีเข้ากัน ไม่เห็นส่วนแป้งขาวๆ ก็หยุดทันที
13. เอาส่วนของไข่ขาวมาโปะ จริงๆแล้วตามทฤษฏี ต้องเอาส่วนผสมแป้งและไข่แดงไปราด เพราะส่วนแป้งไข่แดงนั้นหนักกว่าส่วนไข่ขาว ถ้าเราเอาไว้ด้านล่างแบบนี้จะทำให้ผสมไม่ค่อยเข้ากันครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีทางแก้นะครับ พอใส่ลงไปแบบนี้แล้วก็ให้พลิกส่วนแป้งไข่แดงขึ้นมาราดด้านบนส่วนไข่ขาวนะ ครับ จะผสมได้ง่ายขึ้นมาก
14. ใช้พายยางตะล่อมส่วนผสมให้เข้ากัน [*ตะล่อมคือการปาดพายยางลูบไล้ไปตามผิวของชามผสมเพื่อรูดเอาส่วนผสมที่ติด ขอบชาม (ซึ่งโดยมากมักเป็นส่วนผสมหนัก เช่นส่วนแป้งไข่แดง เป็นต้น) ให้ยกตัวขึ้นมา ไม่ติดขอบผิวชาม อันจะทำให้ผสมได้ไม่เข้ากัน เมื่อส่วนผสมหนักยกตัวขึ้นมาแล้วเพื่อไม่ให้มันกลับไปติดขอบชาม เราก็ฟลิบพายยางแหมะส่วนผสมหนักให้เข้าไปอยู่ตรงกลาง ทีนี้ก็ผสมได้ง่าย ซึ่งเรียกว่าตะล่อม]
15. เมื่อผสมเข้ากันแล้วหยุด การเข้ากันก็สังเกตว่าสีของส่วนผสมไม่มีริ้วๆ สีเข้มๆ (ในนี้เป็นสีเขียว) ก็แสดงว่าเข้ากันแล้ว เคาะพิมพ์ก่อนทำได้โดยวิธีการดังนี้ คือถือพิมพ์ให้สูงกว่าพื้นโต๊ะประมาณนี้แล้วปล่อยพิมพ์ให้ตกอิสระ ทำสักสองรอบเพื่อไล่ฟองอากาศในเค้กไม่ต้องกลัวยุบ จากนั้นเทใส่พิมพ์แล้วนำไปเข้าเตาได้เลย
16. อบนานประมาณ 30 นาที (** หมายเหตุ เค้กต้องสุก โดยให้ทำการเช็คสุกด้วยการเอานิ้วแตะหน้าเค้กครับ ถ้ายังยุบเห็นเป็นรอยค้างเมื่อเอานิ้วออกก็แสดงว่ายังไม่สุกครับ ให้อบต่อไปอีก 3-5 นาทีแล้วแตะใหม่ครับ ถ้าเริ่มไม่เห็นรอยยุบค้าง แสดงว่าสุกแล้ว ให้นำออกมาแล้วใช้เทคนิคเดียวกันกับก่อนอบ คือปล่อยให้ตกอิสระครับ ถ้าสุกแล้วยังไงก็ไม่ยุบครับรับรองได้”
17. พักไว้ให้เย็นในพิมพ์ หรือจะแซะออกมาก็ได้ ไม่ผิดกติกา อีกเทคนิคคือคว่ำไว้บนตะแกรงอันนี้เคยให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในนี้ใช้กัน ก็เป็นเทคนิคที่ดีเพราะจะทำให้เค้กไม่ยุบและเนื้อเค้กเบา
18. แล้วก็สไลด์เค้ก
19. ทีนี้เรามาทำส่วนของครีมกัน สูตรนี้จะนวลๆ ไม่หวานมาก ถ้าใส่น้ำตาลมากกว่านี้กลิ่นหอมของวิปครีมจะลดลงมากเลย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ นำวิปปิ้งครีมไปแช่เย็นช่องฟรีส แต่อย่าแช่นานเพราะจะเสี่ยงต่อการแยกตัวของวิปครีมมาก จริงๆแล้วไม่แนะนำสำหรับมือใหม่เพราะอาจพลาดได้ง่าย แต่ถ้าพอเคยทำ แช่สัก 10-15 นาทีก็ยังใช้งานได้ และตีได้ง่าย
20. เสร็จแล้วก็เอามาตีด้วยสปีดสูง ค่อยๆ ใส่น้ำตาลป่นลงไป คือจริงๆแล้วตีไปได้แค่พอเริ่มๆ เป็นรอยตะกร้อที่วิปครีมก็ใส่ได้เลยหรือจะใส่ก่อนนิดหน่อยก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าใส่ช้าเพราะน้ำตาลจะไม่ละลายได้
21. ได้ตั้งยอดแข็งหน่อยประมาณนี้ก็ใช้ได้ อย่าให้เหลวมากเพราะว่ามันจะไหลเยิ้มได้ แข็งหน่อยไม่เป็นไรเพราะเค้กเค้าเบาอยู่แล้ว แต่ก็อย่าตีให้มากเสียจนวิปครีมแยกตัว พอเห็นรอยหัวตะกร้อชัดเจนแล้วก็หยุดได้เลยต้องระวังตรงนี้ด้วย
22. พอเรียบร้อยแล้วจะเอาครีมไปแช่เย็นก่อนก็ได้ เพราะอาจจะร้อนแล้ว แช่ฟรีสได้ครับ ราวๆ 10 นาที ก็เอาเริ่มแต่งกันเลย ปาดให้ครีมหนาประมาณในรูป แปะชิ้นบน
23. ปาดครีมให้ทั่วเค้ก
24. ขั้นตอนสุดท้าย โรยผงชาเขียวเข้าไปที่หน้า โดยการร่อนด้วยตะแกรง
แค่นี้ก็เรียบร้อย ขอให้สนุกกับการทำนะครับ ^.^
Credit : http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2008/01/D6272478/D6272478.html