Tag: ผงมัทฉะ
Understanding the Difference Between Koicha and Usucha
Understanding the Differences Between Ceremonial Grade and Cooking Grade Matcha Powder
เคยสังเกตมั้ยว่าชาเขียวที่เราซื้อกินตามท้องตลาด หรือจากร้านคาเฟ่ต่างๆมีสีเขียวที่เข้มอ่อนแตกต่างกันไป ทั้งที่เป็นชาเขียวเหมือนกัน นั้นเป็นเพราะผงมัทฉะมีหลายเกรด ซึ่งแต่ละเกรดก็จะมีลักษณะ รสชาติ กลิ่น สี ที่ไม่เหมือนกันเกิดจากใบชาที่ผ่านกระบวนการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน ซึ่งผงมัทฉะแต่ละเกรด ก็เหมาะกับการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ
ผงมัทฉะสามารถแบ่งออกเป็น 2 เกรดกว้างๆ คือ 1. Ceremonial grade ( มัทฉะพิธีการ ) และ 2. Cooking grade หรือ Culinary Grade ( มัทฉะสำหรับทำอาหาร ) ซึ่งการแบ่งผงมัทฉะออกเป็น 2 เกรดนี้ มีลักษณะที่คล้ายกับการแบ่งประเภทไวน์ที่แบ่งเป็นไวน์ชั้นดีสำหรับการดื่มเพียวๆ กับไวน์ที่ใช้ปรุงอาหาร
Ceremonial grade ( มัทฉะพิธีการ ) ด้วยรสชาติที่นุ่มนวล และหอมหวานตามธรรมชาติ และไม่มีรสขมเลยของผงมัทฉะที่มีสีเขียวสดใส ให้สีที่ชัดกว่า Cooking Grade มัทฉะพิธีการจึงเป็นชาเกรดสูงจึงเทียบได้กับไวน์ชั้นดี ที่มีรสชาติที่ละเอียดอ่อน แม้ใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อยในการชงก็ทำให้ได้รสชาติที่ดีได้ ผงมัทฉะเกรดนี้เนื้อผงชาจะเนียนเหมือนผงแป้ง และให้รสสัมผัสที่ดีมาก จึงเหมาะสำหรับชงดื่มร้อนๆ หรือปรุงรสแบบธรรมดาที่สุด เพื่อให้ได้สัมผัสที่นุ่มนวลพร้อมความหวานเบาๆ คนญี่ปุ่นนิยมใช้ชาเกรดนี้ในพิธีชงชา ตามแบบวัฒนธรรมของญี่ปุ่นดั้งเดิม ไม่นิยมนำไปทำขนมหรืออาหาร เพราะถ้าไปชงเป็นมัทฉะลาเต้ หรือทำขนม รสชาตินุ่มนวล หอมหวาน อาจจะโดนวัตถุดิบอื่นกลบ และที่สำคัญชาเกรดพิธีการนี้ เป็นชาที่ราคาค่อนข้างสูงมาก หากใช้ทำขนมหรือลาเต้อาจจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นด้วย
ส่วน Cooking grade หรือ Culinary Grade ( มัทฉะสำหรับทำอาหาร ) เป็นชาเกรดใช้กับการทำขนม อาหาร สมูตตี้ ไอศครีมและเครื่องดื่มร้อนเย็น เมื่อนำไปปรุงกับส่วนผสมอื่นจะยิ่งทำให้รสชาติของชาเขียวในเมนูนั้นๆโดดเด่นยิ่งขึ้น สีของผงชาเกรดนี้ไม่ได้เขียวสดใสเหมือนมัทฉะพิธีการ เพราะมาจากใบชาที่เก็บเกี่ยวครั้งหลังๆ ซึ่งผงมัทฉะชนิดนี้ก็มีการแตกย่อยลงไปอีก ตามกลิ่น สี และรสชาติของผงชาเพื่อให้เหมาะกับเมนูที่แตกต่างกัน หากใครที่ชื่นชอบความเข้มและออกรสขมของชาเกรดนี้ สามารถเลือกมาชงชาเขียวเพียวๆดื่มได้ แต่จะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าตัว Ceremonial Grade
อย่างไรก็ตาม ชาทั้ง 2 ชนิดจะมีลักษณะที่ต่างกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
- การเก็บเกี่ยว มัทฉะพิธีการจะมาใบยอดอ่อนใบแรกของชาที่เป็นใบที่ดีที่สุด ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมเท่านั้น ซึ่งเป็นการเก็บเกี่ยวครั้งแรก มักจะได้ใบชาที่ดีที่สุดเนื่องจากต้นชายังคงรักษาสารอาหารที่สะสมไว้ในช่วงฤดูหนาว โดยยอดใบชาที่เลือกเก็บจะให้รสชาติที่หวานกว่าใบล่างๆ แต่มัทฉะสำหรับทำอาหารมาจากการเก็บเกี่ยวครั้งที่ 2 ซึ่งใบชาจะมีรสที่ขมกว่า สีไม่สดใสเท่าชาเกรดพิธีการและตัวใบชาจะแข็งกว่า
- สีของผงชา สีเขียวสดใสเป็นสิ่งสำคัญและบ่งบอกถึงความสดชื่น และคุณภาพของชาเกรดสูง ผงมัทฉะเกรดพิธีการที่มีคุณภาพชาสูง จึงมีสีเขียวสดใสกว่าเมื่อเทียบกับมัทฉะสำหรับทำอาหาร เนื่องจากเป็นใบชาที่เก็บเกี่ยวครั้งแรกซึ่งมีคลอโรฟิลล์และแอล – ธีอะนีนสูงที่สุด ส่วนผงมัทฉะสีเขียวค่อนไปทางเหลือง หรือสีเขียวไม่สดใสแสดงให้เห็นว่ามาจากใบชาที่เติบโตมานานแล้ว เป็นใบที่เก็บเกี่ยวจากด้านล่างของต้นชานั่นเอง อย่างไรก็ตามชาบางสายพันธุ์ของญี่ปุ่นที่ปลูกด้วยดินภูเขาไฟอยู่โดยรอบเยอะ ก็ส่งผลต่อสีของชาเช่นกัน เช่น พันธุ์ Kagoshima matcha เป็นที่รู้จักกันดีว่า มีสีเขียวเข้มเล็กน้อย แต่ พันธุ์ Seimei จะมีสีเขียวสดใสมาก
นอกจากความต่างข้างต้นแล้ว หากใบชามาจากไร่ชาออร์แกนิค ก็จะมีรสชาติที่แตกต่างไปกับไร่ชาปกติที่อาจจะมีการใช้สารเคมีในการปลูกอีกด้วย ข้อควรระวังสำหรับการเลือกใช้มัทฉะสำหรับปรุงอาหารที่มีอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ หากเลือกเกรดที่ราคาถูกมากๆอาจจะมีรสฝาดเกินไปแทบจะไม่เห็นรสชาติของมัทฉะเลย
อย่างไรก็ตามมัทฉะทั้งสองเกรดได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกันจึงไม่อาจเอามาเทียบกันได้อย่างชัดเจน ซึ่งผงมัทฉะสำหรับการทำอาหารก็ยังสามารถแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆอีกหลายประเภทได้ ตามลักษณะการใช้งาน ซึ่งการเลือกใช้ผงมัทฉะทั้ง 2 เกรด ขึ้นอยู่กับความชอบและผลลัพธ์ที่เราต้องการให้ออกมามากกว่า ว่าอยากกินเป็นไอศครีม นามะช็อคโกแลต พุดดิ้ง ชีสเค้กที่ได้รสชาติชาและสีชาเขียวที่ค่อนข้างชัด ที่เหมาะกับการใช้ชาเกรดสูงสุดของชาสำรับทำอาหาร ส่วนตัวที่เกรดรองๆลงไปก็ใช้ทำขนมที่ต้องการความเข้มข้นออกขมๆ เช่น บราวนี่ เค้ก หรือเส้นโซบะ หรือถ้าใช้แต่สีไม่เน้นรสชาติชัดเจนมาก็อาจจะใช้ชาเขียวเกรดรองลงมาในการทำขนมปัง ใช้โรยหน้าขนมนั่นเอง แต่หากต้องการชงดื่มกับน้ำเปล่าเพียวๆ เพื่อให้ได้รสอูมามิของชา แนะนำเป็นชาเกรดพิธีการจะเหมาะกว่านอกจากการแบ่งเกรดชาตามระะเก็บเกี่ยวแล้ว ยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ประเภทตามลักษณะการชงชา เรียกว่า การชงแบบ KOICHA และ USUSHA ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2RrD29N
ที่มา
https://www.matchaeologist.com/blogs/explore/ceremonial-vs-culinary-matcha
https://naokimatcha.com/articles/ceremonial-gradematcha/
http://fullleafteacompany.com/products/matcha
บทความจาก : Fuwafuwa
Iced Matcha Latte
เปลี่ยนชาเขียวเย็นให้กลายเป็นพรีเมียมมัทฉะลาเต้ เมนูยอดฮิตของร้านที่อร่อยจนต้องบอกต่อ!!
ผงมัทฉะคุณภาพดีจะให้สีเขียวที่สวยงาม เมื่อเทราดลงบนนมสดจะเห็นเป็นชั้นสีเขียวมรกต ค่อยๆซึมลงมาด้านล่างซึ่งวิธีทำก็ไม่ยาก ยิ่งถ้ามีอุปกรณ์ช่วยจะใช้เวลาชงไม่นานเลย เราไปดูวัตถุดิบและวิธีชงกันเลยดีกว่าครับ ^^
อุปกรณ์ช่วยละลาย
- กระชอนร่อนผงมัทฉะ
- Chasen (茶筅) เป็นไม้ไผ่ใช้สำหรับบดผงชาเขียวไม่ให้จับตัวเป็นก้อน
- เครื่องตีฟองนมบบพกพา (Mini milk mixture)
- กระบอกเชค
วัตถุดิบสำหรับแก้ว 16 Oz.
- ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Excellent 3 กรัม (~1.5 ช้อนชา)
- น้ำอุ่น 40 ml
- นมสด 150 ml
- น้ำเชื่อม 10 ml (~2 ช้อนชา)
- น้ำแข็ง
ขั้นตอนการชง
1. ละลายผงมัทฉะให้เข้ากับน้ำอุ่น โดยการร่อนผงมัทฉะผ่านกระชอนใส่ถ้วยหรือชาม แล้วค่อยเทน้ำอุ่นตามลงไปแล้วใช้ Chasen หรือเครื่องตีฟองนม ตีให้ผงชาละลายเข้ากับน้ำ แล้วพักเอาไว้
2. เติมน้ำแข็งใส่แก้วอีกใบ
3. เติมน้ำเชื่อมตามความหวานที่ต้องการ
4. เทนมสดลงไป คนให้เข้ากับน้ำเชื่อม
5. ราดมัทฉะที่ละลายน้ำไว้แล้วลงบนนมสดอีกที
หรือสามารถดู VDO วิธีชงได้ที่นี่ครับ ^^
*** ถ้าไม่มีอุปกรณ์ช่วยละลายให้ลองใช้วิธีนี้ดูนะครับ
———————————-
Evaluating Matcha Quality: A Guide to Finding the Best Powder
ด้วยความนิยมของผงมัทฉะ และชาเขียวที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีแหล่งซื้อขายผงมัทฉะ และใบชาเขียวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไทย ไม่ว่าจะเป็นนำเข้าจากญี่ปุ่น จีน หรือแม้กระทั่งผลิตในไทย ซึ่งที่มาของชาแต่ละที่ก็ส่งผลต่อรสชาติ และกลิ่น ที่แตกต่างกัน และที่ต้องระวังอีกประเด็นคือ การไม่บอกคุณสมบัติที่แท้จริงของใบชา ทุกร้านจะบอกว่าเป็นชาต้นตำรับจากญี่ปุ่นแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ร้านไหนเป็นผงชาเขียวของจริงบ้าง สังเกตได้จากปัจจัยเหล่านี้
- สี เป็นสิ่งที่ต้องต้องสังเกตอย่างแรก คือ สีของมัทฉะยิ่งเขียวสดเข้ม ยิ่งมีความขมน้อยมากๆ เพราะเป็นมัทฉะที่ได้รับการดูแลอย่างดี สายพันธุ์ดี มีสีเขียวสดเข้ม ใช้ดื่มแบบ ชงข้น(Koicha) ได้เลย ผงมัทฉะที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ แนะนำให้ใช้เกรดรองๆลงมา เพราะจะได้รสชาติที่เข้มข้นกว่า เมื่อไปผสมกับส่วนผสมตัวอื่นก็จะทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นขึ้น นอกจากนี้อย่าลืมดูภาชนะ หรือแพ็คเกจที่ใส่ชา เพราะผงชาเขียวที่ดีจะมีอายุประมาณ 6 เดือนและหลังจากเปิดก็ควรจะใช้ให้หมดภายใน 4 เดือน หากเก็บไว้นานกว่านั้น สีจะเริ่มอ่อนลงและกลิ่นก็จะหอมน้อยลง เนื่องจากในกระบวนการผลิตจะมีการอบใบชาด้วยไอน้ำที่อุณหภูมิสูงเพื่อหยุดปฏิกิริยาออกซิเดชัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปใบชาสัมผัสกับออกซิเจนเรื่อยๆก็จะทำให้สีออกเหลืองเหมือนกับใบไม้ทั่วไปที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือด้วย
2. ส่วนผสม ผงมัทฉะบางเจ้าราคาถูกจริง ส่วนนึงมาจากการตีผงมัทฉะผสมแป้ง ไม่ใช่ชาเขียวล้วนๆ จึงสามารถทำราคาถูกมากๆได้ อย่าลืมที่จะพลิกข้างซองเพื่ออ่านส่วนผสมที่ชัดเจนก่อนซื้อผิด
3. รีวิวจากลูกค้าคนอื่น อย่าลืมดูรีวิวสินค้าจากผู้ที่เคยซื้อไปบริโภคด้วยว่านำไปทำเมนูอะไรอร่อย ใช้ในปริมาณแค่ไหน เพื่อเอามาเป็นไอเดีย และให้ผู้ที่ดูรีวิวเกิดความรู้สึกอยากซื้อมาลองทำตามบ้าง
4. ที่มา เช็คแหล่งที่มาให้ชัดเจนว่ามาจากเมืองไหนของที่ญี่ปุ่น อย่างเมืองขึ้นชื่อเรื่องชาเขียวที่ทุกคนนิยมใช้คือจาก อูจิ เกียวโต แต่อย่างไรก็ตามที่ชิสึโอกะ ก็มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน การรู้แหล่งที่มาโดยละเอียด จะช่วยให้เรามั่นใจในคุณภาพของชามากขึ้น
5. ราคา อย่าลืมที่จะเปรียบเทียบราคาตลาดว่าชาที่เราซื้อนั้นแพงหรือถูกเกินไปมั้ย แม้จะเป็นเกรดดีนำเข้าจากญี่ปุ่น ก็ควรเช็คราคาจากหลายๆแหล่ง และอย่าลืมเช็คราคาจากที่ญี่ปุ่นเองด้วย เพราะ สินค้าบางตัวการนำเข้ามาจากต้นกำเนิด ก็มีราคาถูกกว่าการผลิตเองในไทยหลายเท่าตัว ทั้งนี้ ชาเขียวเองก็มีหลายเกรด แต่ละเกรด ก็มีราคาที่ต่างกัน เช็คเกรดเดียวกันจะทำให้เห็นเรทราคาที่ชัดเจนที่สุด
6. เจ้าของที่ขาย แม้จะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่ถ้าพอจะรู้จักแหล่งที่มา มีเพจ Line@, Facebook หรือเว็บไซด์ที่ดูน่าเชื่อถือ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้
แค่ 6 สิ่งง่ายๆที่ต้องระวังและฉุกคิดนิดนึงก่อนจ่ายเงินซื้อ เพื่อให้ได้คุณภาพชาที่ดี สมราคานะคะ
ที่มา
https://cookingchew.com/matcha.html
https://drericz.com/recipes/diy-super-greens-mix/
บทความ : Fuwafuwa
Discover the Origins of Matcha Green Tea Powder
ว่ากันว่า ชาเขียวได้ถูกค้นพบโดยจักรพรรดิเสินหนงซึ่งเป็นบัณฑิตและนักสมุนไพรผู้รักความสะอาดเป็นอย่างมาก ดื่มเฉพาะน้ำต้มสุกเท่านั้น วันหนึ่งขณะที่เสินหนงกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ต้นชาในป่า และกำลังต้มน้ำอยู่นั้น ปรากฏว่าลมได้โบกกิ่งไม้ เป็นเหตุให้ใบชาร่วงหล่นลงในน้ำซึ่งใกล้เดือดพอดี เมื่อเขาลองดื่มก็เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาก ชาเขียวถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ชาวบ้านก็เริ่มหันมาปลูกชาและพัฒนาต่อกันมาเรื่อยๆ มีทั้งการเติมเครื่องเทศน์ หรือดอกไม้ลงไป เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างมากยิ่งขึ้น ซึ่งชาที่ปลูกในจีนทั้งหมดเป็นชาเขียว กระบวนการผลิตชาจะเกิดจากการรวมใบชา นำมานึ่ง และอบแห้ง ซึ่งจะเก็บได้ไม่ดีนัก สูญเสียกลิ่นได้ง่าย และรสชาติไม่ดี ในช่วงศตวรรษที่ 17 มีการค้าขายกับชาวยุโรปการผลิตเพื่อจะรักษาคุณภาพชาให้นานขึ้น โดยการหมักแล้วก็จะนำไปอบ ซึ่งก็เป็นที่มาของชาอูหลง และชาดำ ในประเทศจีน
การเข้ามาของชาในประเทศญี่ปุ่นนั้น เริ่มราวต้นสมัยเฮอัน ในสมัยนั้นจีนและญี่ปุ่นเริ่มมีการติดต่อทางด้านศาสนาพุทธและวัฒนธรรมกัน บ้างแล้ว นักบวชญี่ปุ่นได้เดินทางไปเป็นทูตเรียนรู้เรื่องต่างๆ จากประเทศจีนรวมทั้งการศึกษาตัวยาสมุนไพรจากจีนอีกด้วย ชาจีนจึงเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกๆ โดยพระสงฆ์นั่นเอง เริ่มจากนักบวชจากจังหวัดไอจิ ได้นำชาอัดแข็ง (ต้องฝนกับหินก่อนแล้วจึงใส่น้ำร้อนถึงจะดื่มได้) และเมล็ดชาจำนวนไม่มากเข้ามาที่ญี่ปุ่นก่อน เมื่อจักรพรรดิได้เข้ามาเยี่ยมพระที่วัด พระ จึงชงชาใส่ถ้วยนำมาถวาย เมื่อองค์จักรพรรดิได้ดื่มชาก็เกิดความประทับใจในรสชาติ จึงสั่งให้นำเมล็ดชาไปปลูกที่สวนสมุนไพรภายในบริเวณราชวัง ชาได้แพร่หลายไปในแถบภูมิภาคคิงคิ (เกียวโต) แต่ความนิยมยังคงมีอยู่แต่ในเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น
ต่อมาในช่วงตอนต้นสมัยคามาคุระ (Kamakura) นักบวชในพุทธศาสนาเซน ได้นำเมล็ดชามาจากจีนเป็นจำนวนมากพร้อมกับกรรมวิธีการผลิตชากลับมาด้วย วิธีการผลิตดังกล่าวนั่นก็คือ การนำใบชามาบดโดยครกหินที่ทำให้เกิดความร้อนน้อยที่สุด เพื่อรักษารสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ ออกมาเป็นผงละเอียดเหมือนแป้ง หรือที่เราเรียกว่า ผงมัทฉะนั่นเอง ซึ่งการทำผงมัทฉะใช้เวลานานกว่าจะได้ผงชาออกมาจำนวนหนึ่ง ราคาจึงสูงกว่าชาเขียวชนิดอื่นๆ และมีวิธีการชงที่ค่อนข้างพิเศษที่ต้องใช้แปรงชงชาในการตีตาให้ละลายก่อน
ในสมัยนั้นมีการส่งเสริมการเพาะปลูกชาเพื่อใช้เป็นสมุนไพรให้แพร่หลายมากขึ้น และมีประโยคหนึ่งในหนังสือที่ท่านได้เขียนไว้ว่า “ชาเป็นพื้นฐานทางจิตใจและเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ดีที่สุด ทำให้ชีวิตถูกเติมเต็มและมีความสมบูรณ์มากขึ้น”จากนั้นก็เริ่มมีการค้นคว้าสรรพคุณของชา ที่ช่วยดับกระหายได้ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และช่วยล้างพิษด้วยการขับสารพิษออกทางปัสสาวะอีกด้วย
สมัยที่โชกุน มินาโมโตะ ซาเนะโมโตะ ทนทุกข์ทรมานจากการดื่มสุราอย่างหนัก ได้ลองดื่มชาและอาการของโชกุนก็หายไปในที่สุด ต่อมา เหล่านักบวชจึงเริ่มมีการเดินทางเพื่อออกเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาไปทั่วญี่ปุ่น จากนั้นชาจึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งพิธีกรรมบางอย่างและใช้เพื่อการรักษาโรค
ในสมัยมุโระมาจิ เริ่มมีพิธีชงชาในแบบฉบับดั้งเดิมของญี่ปุ่นแล้ว เรียกว่า Chanoyu และในยุคนี้การชงชาเริ่มมีการผสมผสานทางด้านความคิด จิตวิญญาณ และการสร้างสรรค์ศิลปะในแบบธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เริ่มมีการลงรายละเอียดในภาชนะที่ใช้ในพิธีชงชา รวมไปถึงการเสิร์ฟชาเขียวในร้านอาหารอีกด้วย
การดื่มชาด้วยความเรียบง่ายและมีสมาธิในแบบของเซนจะช่วยให้จิตใจสามารถพัฒนา ขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ นักบวชจึงออกแบบห้องพิธีชงชาขนาดเล็ก เพื่อใช้สนับสนุนการชงชาตามอุดมคติของนิกายเซน หลังจากนั้นจึงเริ้มมีพิธีชงชาตามแบบฉบับญี่ปุ่นเกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ แม้ว่าในสมัยยุคเอโดะ พิธีชงชาและการดื่มชาเริ่มมีการขยายวงกว้างลงมาถึงชนชั้นล่างมากขึ้น แต่กระนั้นเมื่อถึงการเก็บเกี่ยวชาที่ดีที่สุดในช่วงแรกของปีก็ต้องส่งมอบ ให้กับชนชั้นซามูไรก่อน ส่วนชาที่ชาวบ้านดื่มกันจะเป็นชาที่เก็บเกี่ยวในครั้งต่อมาคุณภาพก็จะด้อยลงมานั่นเอง จนช่วงหลังๆได้มีการเผยแพร่และลดการแบ่งชนชั้นตามกาลเวลา ประเพณีชงชาจึงยังคงเป็นที่แพร่หลายสืบทอดต่อกันมาถึงทุกวันนี้ เพราะประเพณีชงชานอกจากจะช่วยฝึกสมาธิแล้ว ยังช่วยให้จิตใจสงบ ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น โรงเรียนในญี่ปุ่นบางแห่งมีการสอนประเพณีชงชาให้เด็กญี่ปุ่นด้วย
ที่มา
http://fineartamerica.com/featured/oolong-tea-bud-jung-pang-wu.html
https://moyamatcha.com/en/moya-matcha/history-of-matcha/#
http://d.hatena.ne.jp/keibunsha2/20110508
https://www.pinterest.com/pin/339951471845392656/
https://www.flickr.com/photos/aligatorpics/6240407574/in/photostream/
http://japan-web-magazine.com/japanese-tea/japan-japanese-tea-ceremony0.html
https://traditional-japan.tumblr.com/image/153431720372
shorturl.at/brstQ
บทความจาก : Fuwafuwa
Elevating Dessert Craftsmanship with Matcha
เทคนิคในการดัดแปลงส่วนผสมและสูตรต่างๆให้เป็นรสชาติที่หลากหลาย เป็นสิ่งที่เจ้าของร้านขนมและร้านคาเฟ่ควรรู้ บางครั้งหลายคนไปเรียนทำขนมมา แต่พอต้องการดัดแปลงขนมที่เรียนมาเป็นรสชาติที่ต้องการ กลับใส่ส่วนผสมไม่ถูก
การทำครีมชาเขียวเป็นไส้ขนม บางเจ้าก็นิยมซื้อสำเร็จตามที่มีขายอยู่แล้วในท้องตลาดมาใช้เลยเพื่อความสะดวก แต่รสชาติความเข้มข้นรวมทั้งสีของชาเขียว อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้
Matchazuki เลยอยากจะมาแชร์ การทำไว้ครีมชาเขียวอย่างง่าย และถ้าใครเป็นคอชาโฮจิฉะ ก็สามารถเปลี่ยนผงชาเขียวตามสูตรเป็นผงชาโฮจิฉะได้ในปริมาณเท่าๆกัน แต่แนะนำให้การทำขนมใช้ผงชาเขียวจะอร่อย สีสวย และได้รสชาติที่ดีกว่าใช้ชาใบ
หากใครอยากลองทำไส้คัสตาร์ดชาเขียวเอง ลองทำได้ง่ายๆเพียงแค่อุ่นนม 125 ml. ในหม้อ แค่พออุ่นๆ ไม่ถึงกับต้องเดือด ดูถ้ามีไอลอยขึ้นมาก็ปิดไฟเลย หลังจากนั้น ตีไข่แดง 1 ฟอง กับน้ำตาล 35 กรัม จนเป็นสีเหลืองอ่อน ร่อนแป้งเค้ก 13 กรัม กับผงชาเขียว 1 ช้อนชา 5 กรัมลงไปตีต่อ จากนั้นค่อยๆเทนมอุ่นลงไปผสมลงไปในหม้อ อุ่นด้วยไฟเบา คนด้วยไม้พายตลอดเวลา จนครีมเริ่มข้น ถ้าเห็นมีฟองขึ้นมาปุ๊บ อุ่นอีก 1 นาทีแล้วปิดไฟเลยค่ะ จากนั้นใส่เนยลงไป คนจนเนยละลายเข้ากัน หลังจากนั้นเทครีมใส่จานแบนๆ ปิดด้วยแรปใสแล้วเอาเข้าตู้เย็นแช่ไว้สัก 1 ชม.เนื้อครีมประเภทนี้จะมีความหนืดเหมือนเวลาเราทานซาลาเปาไส้ครีม เหมาะกับเอาไปเป็นไส้ขนมปัง หรือทำไส้พายนั้นเอง
แต่ถ้าเป็นครีมชาเขียว เนื้อสัมผัสนุ่มละมุน ไว้ปาดเป็นไส้เค้กอย่างเครปเค้ก ไส้ชูครีม หรือไส้โรลเค้ก ตัวไส้กลุ่มนี้ครีมจะมีลักษณะที่เป็นเนื้อบางเบา นุ่มละมุนลิ้น ทานได้เรื่อยๆ ไม่หนักหรือเลี่ยน เพราะเกิดจากวัตถุดิบอย่างง่ายเพียงแค่ 3 อย่าง ได้แก่ วิปปิ้งครีม 400 มิลลิลิตร ผงชาเขียว 1/3 ถ้วย และ น้ำตาลทราย 1/3 ถ้วยที่มาเทผสมกัน แล้วตีด้วยหัวตีตะกร้อ จนตั้งยอดอ่อนวิธีการสังเกตว่าเป็นยอดอ่อนคือ มือหยุดตีแล้วยกหัวตะกร้อขึ้น ตัวครีมที่ปลายตะกร้อจะงอลงเล็กน้อย เนื้อครีมแบบนี้จะมีความนุ่มละมุน มักนิยมใช้กับเบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่น แต่ถ้าตีนานเกินไป ไส้ครีมชาเขียวนุ่มๆของเราจะกลายเป็นครีมเนื้อหนักที่ไว้ปาดรอบเค้กเพื่อตกแต่งหรือบีบครีมขึ้นรูปเป็นลวดลายต่างๆ
หรือถ้าเป็นเสปรดชาเขียวที่ไว้ทานคู่กับขนมปังนั้นแค่นำผงชาเขียว 12 g นมจืด 50 ml นมจืด 150 ml วิปครีม 100 ml น้ำตาลทราย 40 g ผสมรวมกันในหม้อ เคี่ยวใช้ ’ไฟอ่อน 15 นาที สังเกตได้ว่าส่วนผสมจะลดลง 50% และมีความหนืดขึ้นั้นเอง
แต่ถ้าเป็นพวกไส้ชาเขียวลาวา วิธีทำเริ่มจากผสมผงเจลาติน 1 ½ ช้อนชา กับน้ำ 2 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันแล้วพักไว้ จากนั้นตีไข่ไก่ 2 ฟอง น้ำตาล ½ ถ้วย และแป้งข้าวโพด 4 ช้อนโต๊ะ เข้าด้วยกัน แล้วพักไว้ ใส่นม 2 ถ้วย วิปปิ้งครีม 1 ถ้วย ผงชาเขียว ¼ ถ้วย และเกลือ ½ ช้อนชา ลงไปในหม้อตั้งไฟอ่อน ใช้ตะกร้อมือคนให้เข้ากันจนผงชาเขียวละลายดี แล้วจึงเทส่วนผสมของไข่ไก่ตามลงไป คนจนส่วนผสมข้นขึ้นมา เมื่อส่วนผสมนมข้นขึ้นแล้วให้ปิดไฟ จากนั้นใส่เจลาติน และเนยที่เตรียมไว้ลงไปคนให้เข้ากัน นำไปพักในตู้เย็นจนกว่าจะเย็น นำมาใส่ขนมปัง ซาลาเปา หรือขนมที่ต้องการให้เป็นไว้ลาวาได้เลย ตัวนี้ที่เป็นไส้ลาวาได้เพราะมีการใช้เนยในการทำไส้นั้นเอง เวลาอุ่นร้อนๆ หั่นขนมออกมา มันจึงมีลักษณะไหลเยิ้มเป็นลาวา
หากใครมีสูตรขนมอื่นๆแล้วต้องการทำเป็นรสชาติชาเขียวแต่ไม่รู้จะเริ่มปรับยังไง อย่างเช่นมีสูตรไส้ช็อคโกแลต ก็สามารถเปลี่ยนผงโกโก้ ให้เป็นผงชาเขียวได้เลยในปริมาณที่เท่ากัน หรือถ้าใครที่อยากได้ความเข้มข้นหรือสีที่ชัดขึ้น ริ่มแรก ให้ลองแอดผงชาเขียวเข้าไปครั้งละ 2-5 กรัมก่อน เพื่อให้รสขมชาเขียวไม่โดดจนเกินไป หรือถ้าใครแพ้นมวัว ก็สามารถเปลี่ยนนมวัวเป็นนมถั่วเหลืองได้เช่นกัน ทีนี้เราก็จะปรับเปลี่ยนดัดแปลงขนมให้มีหลากหลายเอาใจ MATCHA LOVER กันได้ง่ายๆไม่ต้องพึ่งไส้สำเร็จที่อาจจะใส่สารกันบูด แต่งกลิ่น และใช้สีเขียวสังเคราะห์แทนผงมัทฉะแท้ๆ 🙂
ที่มา
https://www.proportionalplate.com/dalgona-matcha-latte/
http://www.matcha.my/Blog/matcha-milk-jam-recipe
https://www.oliveandartisan.com/การทำไส้ขนมจากผง Matcha
https://minimalistbaker.com/vegan-matcha-buttercream-frosting-1-bowl/
บทความจาก : Fuwafuwa
ช้อนไม้ไผ่ Chashaku (茶杓) จำเป็นจริงหรอ?
ช้อนตักผงชามัทฉะ หรือที่เรียกว่า Chashaku (茶杓)มีที่มาจากในสมัยก่อนช่วงที่ชาเขียวจากจีนถูกนำเข้ามาสู่ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นใช้ช้อนตักชาที่ทำจากงาช้าง นำเข้าจากประเทศจีน แต่พอเข้าสู่ช่วงหลังๆมา ช้อนตักชาที่ทำจากไม้ไผ่ปลายดัดก็เริ่มมีปรากฏให้เห็น โดยมีการคาดกันว่าผู้ที่คิดค้นรูปร่างฉะชะขุแบบในปัจจุบันขึ้นมา คือ มุราตะ จุโค ผู้พัฒนาพิธีชงชาแบบเซนเป็นคนแรก ซึ่งเหตุผลที่เลือกใช้ไม้ไผ่แทนงาช้าง เพราะว่า ต้องการให้ช้อนตักผงชานั้นมีความเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อหรูหราแบบงาช้าง เพราะนิกายเซน มีพื้นฐานแนวคิดอย่างเรียบง่ายมาจากศาสนาพุทธแบบเซนนั่นเอง
ลักษณะที่ดีของ Chashaku ส่วนมากจะทำจากไม้ไผ่ มีปลายช้อนกว้าง 1 ซม. เพื่อให้การตักผงชา 1 ครั้งได้ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ประมาณ 1 กรัม ซึ่งในพิธีชงชาจะใช้ชา 2 กรัม กล่าวคือ ตักชาด้วย Chashaku 2 รอบนั่นเองโดยไม่ต้องผ่านการใช้เครื่องชั่ง นอกจากนี้ตัวด้ามควรยาว 19 ซม. เป็นความยาวที่พอดีกับการใช้ในพิธีชงชาของญี่ปุ่น
การตักผงชาเขียวเพื่อชงชานั้น จริงๆสามารถใช้ช้อนสแตนเลส หรือช้อนประเภทอื่นได้เช่นกัน ไม่จำเป็นจะต้องใช้ Chashaku ก็ได้ แต่จะเห็นว่าหลายๆร้านคาเฟ่ และตามพิธีชงชาของญี่ปุ่นเอง จะนิยมใช้ Chashaku เพราะด้วยคุณสมบัติของไม้ไผ่ ที่เมื่อสัมผัสกับผงชาเขียวแล้ว จะทำให้รสชาติคงที่ และด้วยปริมาณชาที่ Chashaku สามารถตักได้ในแต่ละครั้งนั่นเอง นอกจากนี้ไม้ไผ่ของช้อน Chashaku ยังทำให้สรรพคุณสารอาหารต่างๆของชาเขียวคงเดิม ใช้งานง่ายด้วยการใช้ผ้าแห้ง หรือทิชชู่เช็ดบริเวณปลายช้อนให้แห้งก่อนเก็บเข้ากล่อง ไม่ควรล้างด้วยน้ำเปล่า และ Chashaku ยังทำให้รู้สึกถึงความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆนั่นเอง อย่างไรก็ตามช้อน Chashaku นี้มีไว้สำหรับการตักผงชาเท่านั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับตักใบชาประเภทอื่นๆ
แต่ในปัจจุบันนี้ช้อน Chashaku ได้มีการผลิตด้วยวัสดุอื่นเพิ่มมากขึ้นนอกจากไม้ไผ่ ตามกาลสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น แสตนเลส โลหะ หรือไม้เนื้อแข็งประเภทอื่นๆ ซึ่งช้อนที่ทำด้วยโลหะ จะมีปลายช้อนที่กลมคล้ายกับช้อนชาทั่วไปที่เราใช้ทำขนมกัน แต่ก็ต้องเลือกให้ดีเพราะบางครั้งอาจจะทำให้ตักชาได้ในปริมาณที่ไม่คงที่
ที่มา
https://www.edenfoods.com/store/matcha-spoon.html
https://oideyasu.tumblr.com/post/64615700994
https://www.taketora.co.jp/fs/taketora/sa00235
https://www.pinterest.com/pin/353110427034464612/
บทความจาก : Fuwafuwa
How to Artfully Sprinkle Matcha Powder on Desserts for a Visually Stunning Finish
ตามปกติแล้วชาเขียวที่ใช้ทำเบเกอรี่นั้น ใช้ได้ทั้งชาเขียวแบบใบและแบบผง ถ้าใช้แบบใบต้องนำไปชงในน้ำร้อนแล้วกรองใบชาออกก่อนใช้ เราจึงนิยมใช้แบบผงมากกว่าเพราะใช้งานได้กว้างกว่า สามารถใช้ได้ทั้งแบบแห้งหรือนำไปชงแล้วใช้แบบน้ำได้ด้วย ซึ่งหลายคนที่เลือกใช้แบบผงมาทำขนมแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหากับการแต่งหน้าขนมที่ไม่เป็นตามที่คิดไว้
การโรยผงมัทฉะลงไปที่ขนมแล้วซึมลงไปในเนื้อเค้กนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะผงชามันจะดูดความชื้นเข้ามาจนเปียกเมื่อทิ้งไว้นานๆ นั้นเอง สีจึงอาจจะไม่เรียบเนียน
ทริคเล็กๆน้อยๆสำหรับการแต่งหน้าขนม คือ ให้โรยตอนที่จะเสิร์ฟ หรือใกล้ๆช่วงเวลาที่จะทานเพื่อให้สีเขียวเรียบเสมอกัน และแนะนำให้ก่อนโรยผงมัทฉะ พักหน้าเค้กไว้ในตู้เย็นไม่ต้องเอาอะไรคลุม ให้หน้าเค้กแห้งขึ้น สัก 2 ชม. จะทำให้ผงมัทฉะติดง่ายขึ้นไม่ละลายซึมลงไป หรือในกรณีที่ต้องการตกแต่งหน้าขนมเป็นลวดลาย หลังจากนำเค้กออกจากตู้เย็น วางกระดาษทาบไปบนหน้าเค้ก ไม่ต้องกด แล้วโรยผงมัทฉะด้วยกระชอนตาถี่ๆให้ทั่วตามรอยที่บุไว้ (ขั้นตอนนี้ต้องทำให้รวดเร็ว)
อย่างไรก็ตามบางคนก็นำผงมัทฉะผสมน้ำตาลไอซิ่งเล็กน้อย จะช่วยได้พอประมาณ เพราะในน้ำตาลไอซิ่งมีแป้งข้าวโพดจะช่วยกันความชื้นระดับหนึ่ง หรือใช้ผงมัทฉะเฉพาะสำหรับโรยหน้าขนม แต่ราคาจะค่อนข้างสูงกว่าผงมัทฉะปกติ มีขายตามร้านทำขนมที่ญี่ปุ่น
ส่วนใครที่ไม่มีน้ำตาลไอซิ่ง สามารถน้ำตาลไปป่นจนละเลียดและผสมแป้งข้าวโพดเข้าไปประมาณ 3% ก็จะมีลักษณะที่เป็นเหมือนน้ำตาลไอซิ่ง ใช้แทนกันได้
อีกข้อควรระวังในการโรยผงมัทฉะลงบนขนม คือ เรื่องสี รสชาติ และกลิ่น กล่าวคือ สีของผงมัทฉะ ยิ่งเขียวสดเข้ม จะยิ่งมีความขมน้อยมากๆเป็นมัทฉะที่ได้รับการดูแลอย่างดี สายพันธุ์ดี แต่ถ้าสีเขียวอ่อน คือผลิตจากใบชาที่เกรดรองลงมา ผลิตจากใบชาเขียวใบโตที่ได้รับแสงแดดมานาน ใครที่เป็นขั้นเทพเรื่องชาเขียวพอเห็นหน้าตาขนมเลยจะรู้ได้เลยว่าใช้ชาเขียวเกรดไหนในการทำขนม แต่วิธีเพิ่ม value ให้ขนมได้อีกทาง คือ การเขียนText สั้นๆ ว่าที่ร้านใช้ผงมัทฉะเกรดพรี่เมี่ยมจากที่ไหน ก็จะทำใ้ขนมมีมูลค่ามากขึ้น เพราะ บางคนไม่รู้ว่าสีเขียวเข้มๆที่เห็นเป็ฯผงชาเขียวแท้ๆ หรือเป็ฯการผสมสีผสมอาหารนั่นเอง
นอกจากนั้นรสของชาปกติจะมีความหวานในตัวนิดๆ ขมหน่อยๆ ฝาดพอรู้สึกได้ แต่ถ้าชาเกรดรองๆลงมา จะยิ่งขมและฝาดมากขึ้น เพราะฉะนั้น การเลือกผงชาเขียวที่ใช้โรยหน้าขนมก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
ที่มา
Tastykitchen.com
http://cookingwithjapanesegreentea.blogspot.com/
https://www.justonecookbook.com/
http://www.landsandflavors.com/vegan-matcha-mousse-cake/
บทความจาก : Fuwafuwa
Exploring the Significance of Uji Matcha in the World of Matcha
ในญี่ปุ่น สินค้าที่เรียงรายในซุปเปอร์มาเก็ต ขนมในร้านขนมต่างๆ ที่ใช้มัทฉะเป็นส่วนผสม ไม่ว่าที่ไหนต่างก็พยายามโฆษณาว่าใช้อุจิมัทฉะทั้งนั้น หมู่นี้ในไทยเองก็คงเริ่มคุ้นเคยกับชื่อ “อุจิ” บ้างแล้ว สงสัยกันบ้างไหมครับ ว่าทำไมถึงต้องเป็นอุจิมัทฉะ ไม่ใช่มัทฉะที่อื่น
- นิยามของอุจิมัทฉะ
“อุจิ” คือชื่อเมืองหนึ่งในจังหวัดเกียวโต รากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นตั้งอยู่ที่นี่มากว่าพันปี เห็นได้จากมรดกโลกอย่างวัดเบียวโดอิน รวมถึงเป็นแหล่งของผู้ผลิตชาในญี่ปุ่นด้วย เมื่อคริสตศตวรรษที่ 12 สมัยราชวงศ์ซ่งของจีน ตอนที่พระภิกษุเอไซนำชาและโม่บดจากจีนมายังญี่ปุ่นครั้งแรก ก็นำมายังเกียวโต กล่าวได้ว่าชาชนิดแรกที่ดื่มกันในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็คือมัทฉะนี้เอง ขณะที่จีนได้เลิกวิธีดื่มโบราณนี้และกลายมาเป็นวิธีสกัดร้อน เอาน้ำชาออกจากใบชาอย่างปัจจุบัน
แต่ว่า ความจริงแล้ว ชาอุจิในปัจจุบันไม่ได้ปลูกในเมืองอุจิอย่างเดียวหรอกนะครับ
สำนักงานกิจการชาจังหวัดเกียวโตให้นิยามชาอุจิไว้ว่า เป็นชาที่ปลูกใน 4 จังหวัดที่มีพัฒนาการมาแล้ว โดยพิจารณาแล้วถึงด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และสภาพอากาศ อันได้แก่จังหวัดเกียวโต นาระ ชิกะ และมิเอะ ซึ่งทำการแปรรูปชาโดยกิจการชาในจังหวัดเกียวโต ที่จังหวัดเกียวโต
นอกจากนี้การขึ้นทะเบียนสินค้าอุจิมัทฉะยังให้นิยามเพิ่มไว้อีกว่า มัทฉะคือชาที่แปรรูปขั้นสุดท้ายจากชาซึ่งผลิตในสี่จังหวัดดังกล่าวภายในจังหวัดเกียวโตด้วยวิธีการอันกำเนิดมาจากอุจิ อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ชาอุจิที่ได้รับการนับถือว่าคุณภาพยอดเยี่ยมแท้จริงแล้วอาจประกอบไปด้วยชาจากสี่จังหวัดซึ่งอยู่ติดๆ กันข้างต้น แต่ยังคงความเป็นอุจิไว้ด้วยวิธีการผลิตนั้นเอง
- ปริมาณการปลูกมัทฉะอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น
ในปี 2018 ประเทศญี่ปุ่นผลิตเท็นฉะ (คำเรียกใบชาที่จะนำมาทำมัทฉะ) 3,660 ตัน ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ถูกผลิตในเกียวโตถึง 1,200 ตัน นอกจากนี้ยังมีจากจังหวัดนาระ 250 ตัน จังหวัดชิกะ 50 ตัน และจังหวัดมิเอะ 150 ตัน อ้างอิงจากนิยามด้านบนแล้ว มัทฉะราวครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่นอาจมาจาก “ชาอุจิ” ก็เป็นได้ แสดงให้เห็นว่ามัทฉะอุจิถูกผลิตมาจากแหล่งมัทฉะที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว
- ชนะการประกวดแบบขาดลอย
ในงานเทศกาลชาระดับประเทศญี่ปุ่น (全国お茶まつり) ซึ่งจัดขึ้นปีละหนึ่งครั้งนั้นเป็นงานที่เหล่าคนในวงการชาจะมารวมตัวกันพร้อมหน้าพร้อมตา มีกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการประกวดคุณภาพชาระดับประเทศด้วย (全国茶品評会) ล่าสุดได้จัดเป็นครั้งที่ 73 ที่เมืองนิชิโอะ จังหวัดไอจิในวันที่ 27 – 30 สิงหาคม ปี 2019 นี้เอง
สำหรับมัทฉะ จะทำการประเมิณจากในสภาพที่เป็นใบ (เท็นฉะ) อยู่ครับ จะถูกพิจารณาจาก 5 ด้านด้วยกันคือ 1. ลักษณะภายนอก เช่น สีหรือรูปร่าง 40 คะแนน กลิ่น 65 คะแนน สีของน้ำชา 20 คะแนน รสชาติ 65 คะแนน สีของน้ำจากกากชา (จุดนี้ทำเฉพาะเท็นฉะ) 10 คะแนน รวม 200 คะแนน
การประกวดคุณภาพชาระดับประเทศครั้งที่ 73 มีข้อมูลแต่ผลรางวัลพิเศษ ไม่มีข้อมูลคะแนนระดับของชา ในสาขาเท็นฉะนั้น ชาที่ผลิตจากเกียวโต ได้รางวัลถึง 5 รางวัลจากทั้งหมด 6 รางวัล นอกจากนั้นสำหรับรางวัลแหล่งผลิตดีเด่น เมืองอุจิ จังหวัดเกียวโตยังได้อันดับ 1 และเมืองโจโย จังหวัดเกียวโตก็ได้อันดับ 2 ปีที่แล้วเองในการประกวดคุณภาพชาระดับประเทศครั้งที่ 72 จัดขึ้นที่จังหวัดชิสึโอกะ ชาเท็นฉะที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ได้คะแนนเต็ม 200 คะแนนมาจากเมืองอุจิ โดยชาที่ได้รับลำดับการประเมิณว่าเป็นระดับ 1 -3 (นอกนั้นไม่ได้รับ) จำนวนทั้งหมด 34 รายการ ซึ่ง 31 รายการมาจากเกียวโต และในจำนวนนี้ 22 รายการมาจากเมืองอุจิ สำหรับผลรางวัลพิเศษ เท็นฉะจากเกียวโตกินเรียบทั้งหมด 6 รางวัลเลย
- แล้วเรื่องรสชาติล่ะ?
บางคนสงสัยว่า อ้าว แล้วสรุปว่าอุจิมัทฉะ มีรสชาติวิเศษกว่าที่อื่นยังไงล่ะ? ความจริงนี่เป็นคำถามที่ยาก เพราะเอาแค่ในอุจิเอง มัทฉะก็มีหลายรุ่น หลายแบบ แต่ละแบบคาแรกเตอร์ก็ต่างกันตามสายพันธุ์ หรือตามผู้ผลิตจะกำหนด รสย่อมต่างกันอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเยี่ยมของมัทฉะได้คือ รสอุมามิ (ความกลมกล่อม) เป็นรสชาติเฉพาะ ที่แยกต่างหากกับความหวาน ยิ่งเป็นมัทฉะชั้นยอดเท่าไหร่ ความฝาดขมชวนให้หน้าเบ้จะกลืนหายไปในรสอุมามิ อุจิมัทฉะหลายตัวมากที่บรรลุถึงคุณภาพระดับนี้
ความอร่อยของอุจิมัทฉะไม่ได้จบที่แค่รสอุมามิมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ยังมีเรื่องความสมดุลขององค์ประกอบต่างๆ เช่นกลิ่นที่มีหลากหลายมาก ความขม ความหวาน ความรู้สึกเมื่อดื่ม ทำให้คนบางคนพอใจกับมัทฉะที่อุมามิไม่มากแต่มีความขมอย่างลงตัว ติดใจกับมัทฉะที่เกรดไม่สูงมาก (Matchazuki รุ่น Classic ให้อุมามิไม่มากเท่ารุ่น Excellent แต่กลิ่นก็หอมไม่แพ้กันนะครับ) หรือพบว่ามัทฉะเกรดไม่สูงมากเหมาะกับการทำขนมแบบหนึ่งมากกว่า
อย่างไรก็ตามการทำมัทฉะเช่นนี้ได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่ปลูกเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ฝีมือคนเบลนด์ชาจากแหล่งต่างๆ ให้สมบูรณ์ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าวัตุดิบอย่างชาที่ปลูกนั้นไม่ดี เบลนด์ยังไงก็คงไม่ได้ชาชั้นยอดหรอกจริงไหมครับ?
พอจะเห็นกันหรือยังครับว่าอุจิมัทฉะมีโปรไฟล์ดีขนาดไหน ถ้าเห็นที่ไหนเขียนว่าใช้มัทฉะจากเมืองอุจิ ก็รับประกันได้ระดับหนึ่งว่ากลิ่นรสย่อมดีกว่า มีภาษีดีกว่ามัทฉะทั่วไปแน่นอน
บทความจาก : Vachi
Matcha Nutrition and the Ideal Amount for a Healthy Lifestyle
ก่อนที่จะเฉลยเรามาดูกันผ่านๆ ดีกว่าว่ามัทฉะมีสารอาหารอะไรอยู่บ้าง
มัทฉะปริมาณ 100 กรัมมีสารอาหารดังต่อไปนี้
“พลังงาน 324 kcal, น้ำ 5 กรัม, โปรตีน 29.6 กรัม, โปรตีนจากกรดอะมิโน 22.6 กรัม, ไขมัน 5.3 กรัม, 0.68 กรัม, ไตรกลีเซอไรด์ 3.3 กรัม, กรดไขมันอิ่มตัว 0.68 กรัม, กรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะคู่เดี่ยว 0.34 กรัม, กรดไขมันไม่อิ่มตัวพันธะคู่หลายคู่ 2.16 กรัม, คอเรสเตอรอล 0 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 39.5 กรัม, คาร์โบไฮเดรตที่นำไปใช้ได้ 1.6 กรัม, ไฟเบอร์ที่ละลายได้ในน้ำ 6.6 กรัม, ไฟเบอร์ที่ไม่ละลายในน้ำ 31.9 กรัม, ปริมาณไฟเบอร์ทั้งหมด 38.5 กรัม, ปริมาณเถ้า (ส่วนของสารอนินทรีย์ในอาหาร) 7.4 กรัม, โซเดียม 6 มิลลิกรัม, โพแทสเซียม 2700 มิลลิกรัม, แคลเซียม 420 มิลลิกรัม, แมกนีเซียม 230 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 350 มิลลิกรัม, เหล็ก 17.0 มิลลิกรัม, สังกะสี 6.3 มิลลิกรัม, ทองแดง 0.6 มิลลิกรัม, วิตามิน A เบต้าแครอทีน 29000 ไมโครกรัม, วิตามิน A1 2400 ไมโครกรัม, วิตามิน E โทโคฟีรอล 28.1 มิลลิกรัม, วิตามิน K 2900 ไมโครกรัม,วิตามิน B1 0.6 ไมโครกรัม, วิตามิน B2 1.35 มิลลิกรัม, ไนอาซิน 4.0 มิลลิกรัม, วิตามิน B6 0.96 มิลลิกรัม, กรดโฟลิก 1200 มิลลิกรัม, กรดแพนโทเทนิก 3.7 ไมโครกรัม, วิตามิน C 60 มิลลิกรัม, คาเฟอีน 3.2 กรัม, แทนนิน 10.0 กรัม”
ขอโทษที่ยาวนะครับ อ่านผ่านๆ ก็พอ
ข้อมูลนี้ผมแปลมาจากรายการสารอาหารมาตรฐานในสินค้าบริโภค ฉบับแก้ไขครั้งที่ 7 ปี 2015 (ฉบับล่าสุด) จัดทำโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่นครับ เชื่อถือได้และไปใช้อ้างอิงได้เลย
ดูจากข้อมูลนี้แล้วจะพบว่ามัทฉะมีคุณค่าทางสารอาหารมากมาย กินทั้งกระปุกไป 100 กรัมคงไม่เป็นไรใช่ไหมครับ? ทว่ามีสารตัวหนึ่งที่เราควรระวังเป็นพิเศษ นั่นคือ คาเฟอีน
มัทฉะ 100 กรัม มีคาเฟอีน 3.2 กรัม แปลว่ามัทฉะ 1 กรัมมีคาเฟอีน 32 มิลลิกรัมนั่นเอง สมมุติว่าชามัทฉะกับน้ำร้อน ปกติใช้มากสุด 2 กรัม แปลว่าร่างกายเราจะได้รับคาเฟอีน 64 มิลลิกรัม
งั้นปริมาณคาเฟอีนที่ควรได้รับคือเท่าไหร่กันล่ะ?
ขณะนี้ไม่มีค่า ADI (Acceptable Daily Intake) ที่กำหนดไว้สำหรับคาเฟอีน หากอ้างตามคำแนะนำของหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป EFSA (European Food Safety Authority) ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมใน 1 วันนั้นแตกต่างกันตามช่วงอายุและน้ำหนักตัวตามตารางด้านล่างนี้
ช่วงอายุ | ปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน | ปริมาณมัทฉะที่แนะนำ | สรุปอย่างง่าย |
75 ปีขึ้นไป | 22-417mg | 0.69-13.03g | ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ 1 ช้อนชา |
65-75 ปี | 23-362mg | 0.72-11.31g | ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ ครึ่งช้อนชา |
18-64 ปี | 37-319mg | 1.16-9.97g | ได้ถึง 2 ช้อนโต๊ะ |
10-18 ปี | 0.4-1.4mg/น้ำหนักตัว (kg) | 0.01-0.0437g x น้ำหนักตัว (kg) | – |
3-10 ปี | 0.2-2.0mg/น้ำหนักตัว (kg) | 0.006-0.0625g x น้ำหนักตัว (kg) | – |
12-36 เดือน | 0-2.1mg/น้ำหนักตัว (kg) | 0.006-0.03125g x น้ำหนักตัว (kg) | – |
สตรีมีครรภ์ | 200 mg ต่อวัน | 6.25 gต่อวัน | ได้ถึง 1 ช้อนโต๊ะ ครึ่งช้อนชา |
ตามตารางด้านบน ช่วงอายุ 12 เดือนถึง 18 ปีคงต้องฝากผู้อ่านคำนวณกันเอาเองนะครับ ท่านที่ไม่มีเครื่องวัดอาจจะรู้สึกยุ่งยาก ผมเลยลองดูว่าถ้าเปลี่ยนเป็นหน่วยช้อนชาที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคย
หากท่านดูรูปประกอบด้านล่างรูปที่มีช้อนคันสีฟ้า นั่นเป็นช้อนตวงปริมาณ 1 ช้อนชา ปริมาณมัทฉะจะอยู่ประมาณประมาณ 2.2-2.4 กรัมครับ ส่วนในรูปปกบทความนั้นตวงมาจากช้อนตวง 1 ช้อนชาจะได้มัทฉะราว 4.9-5.1 กรัมครับ ช้อนตวงพวกนี้หาไม่ยากเลย ลองเอามากะๆ ดูก็ได้ครับ
การศึกษาเรื่องปริมาณคาเฟอีนยังเป็นหัวข้อศึกษากันอยู่ องค์กรของหลายๆ ประเทศก็ให้ข้อสรุปแตกต่างกัน บางที่เช่นสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารประเทศนิวซีแลนด์ (NZFSA) ก็กล่าวว่า วัยผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงสามารถรับคาเฟอีนได้สูงสุด 400 mg ต่อวัน (มัทฉะ 2 ช้อนโต๊ะกับ 1 ช้อนชานิดๆ ) หากมีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาตัวเลขนี้คงเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าเชื่อตามยุโรป ตัวเลขในตารางนี้ก็พอให้เห็นภาพบ้างครับ
ถ้าร่างกายรับคาเฟอีนไปแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง?
มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์และโทษของคาเฟอีน รวมถึงมีหลายกรณีมาก เราจึงตัดสินกันไม่ได้ง่ายๆ ว่าคาเฟอีนจะส่งผลแบบไหนกับคนจำพวกไหน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหาร ประเทศญี่ปุ่น (Food Safety Commission of Japan: FSC) ก่อตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคาเฟอีนไว้ดังนี้ครับ
ได้รับในปริมาณเหมาะสม: ประสาทตื่นตัว แก้ความง่วง แก้อาการเมาแอลกอฮอล์ (ระวังจะดื่มสุรามากเกินไปนะครับ)
ได้รับในปริมาณมากเกินไป:
- กระตุ้นประสาทส่วนกลาง: อาการวิงเวียน ชีพจรสูงขึ้น วิตกกังวล อาการสั่น อาการนอนไม่หลับ
- กระตุ้นทางเดินอาหาร: กระตุ้นอาการท้องเสีย คลื่นไส้
- ขับปัสสาวะ
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังกล่าวว่า ในสตรีมีครรภ์ ร่างกายจะมีการกำจัด (clearance) คาเฟอีนจากกระแสเลือดได้ช้าลง งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าการรับคาเฟอีนมากเกินไป (ตัวเลขขององค์การอนามัยโลกคือ 300 mg ต่อวัน – มัทฉะเกือบ 2 ช้อนโต๊ะ) มีความเป็นไปได้ที่พัฒนาการของทารกในครรภ์จะช้าลง น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำลง คลอดเร็ว และทารกตายคลอด จึงแนะนำให้จำกัดปริมาณคาเฟอีนในระดับที่เหมาะสม
ส่วนสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มประเทศญี่ปุ่นยังแนะนำไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอินขณะใช้เภสัชภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
ไม่ว่าอาหารนั้นๆ จะมีคุณค่าทางสารอาหารมากขนาดไหน ถ้าทานมากไปก็ไม่ดีทั้งนั้น แม้แต่มัทฉะก็ตาม บางคนชงมัทฉะตามธรรมเนียมดั้งเดิม (1.7-2.0 กรัม) ไม่กล้าทานมากๆ หวังว่าเมื่อทุกคนจะดื่มมัทฉะได้อย่างสบายใจมากขึ้นเมื่อได้อ่านบทความนี้นะครับ
https://chakatsu.com/basic/caffeine_matcha/
บทความจาก : Vachi
Matcha Ice-cream with Red Bean
สวัสดีครับแฟนเพจทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ช่วงนี้อากาศเริ่มร้อนแล้วนะครับ วันนี้ทางเพจ MATCHAZUKI ผงชาเขียวมัทฉะเกรดพรีเมี่ยมจากญี่ปุ่น เลยขอเสนอเมนูดับร้อนที่ง่ายยยยแสนง่ายมาฝากกันครับ นั่นก็คือไอศครีมชาเขียวถั่วแดงนั่นเอง แน่น่อนว่าอากาศร้อนๆแบบนี้ จะมีอะไรดีไปกว่าไอศครีมใช่มั๊ยครับ และยิ่งทานกับถั่วแดง เพิ่มความหวานเข้มข้น ความอร่อยยิ่งลงตัวจริงๆครับ ไปดูส่วนผสมและวิธีทำกันเลยดีกว่าครับ
ส่วนผสมสำคัญ
- นมสดชนิดจืด 450 มิลลิลิตร
- ผงมัทฉะ MATCHAZUKI เกรด Medium 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 40 กรัม
- เกลือเล็กน้อย
- น้ำร้อน เล็กน้อย
- ถั่วแดงต้มสุก ตามชอบ
ขั้นตอนการทำ
- นำนมสด น้ำตาล เกลือ ผสมกัน ตั้งไฟให้ร้อน
- นำผงชาเขียวละลายน้ำร้อนเล็กน้อย ผสมลงไปในส่วนของนมสด
- เทส่วนผสมลงในพิมพ์ของไอศครีม และใส่ถั่วแดงลงไปตามชอบ
- นำไปแช่ในช่องฟรีซ นานประมาณ 2 ชั่วโมง หรือจนไอศครีมพอเซ็ตตัว นำไม้ไอศครีมปักลงไป และแช่ต่อจนไอศครีมแข็งตัวดี
ไอศครีมชาเขียวถั่วแดงสูตรนี้เป็นสูตรง่ายๆ ที่มีวิธีการทำไม่ยุ่งยาก ทานดับร้อนได้ดี ได้ประโยชน์จากทั้งชาเขียวและถั่วแดงเลยครับ
———————————-